ปลุกกระแสเดือนแห่งความรักด้วยการ `เลิกบุหรี่`
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งของวัยรุ่นไทยคืออัตราการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคนรุ่นใหม่ยังไม่เห็นโทษของควันมรณะที่ทำร้ายตัวเองและบุคคลที่อยู่ในรัศมีด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่ต้องทนทุกข์ทรมานก่อนเสียชีวิต รวมทั้งยังมีค่านิยมว่าการสูบบุหรี่ดูเท่ ทันสมัย และคลายความเครียดได้ ทั้งที่เป็นข้ออ้างที่ผิดของคนเห็นแก่ตัวที่จะต้องเร่งแก้ไข และต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเหล่านี้ให้หมดไปจากสังคมไทย
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม "ส่งเสริมค่านิยมคนรุ่นใหม่ รักอย่างสร้างสรรค์" ที่สยามสแควร์ซอย 5 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเชิญชวนให้เลิกสูบบุหรี่และป้องกันนักสูบหน้าใหม่ รวมถึงใช้ช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ในเดือนแห่งความรักนี้ ขอให้คนรักเลิกสูบบุหรี่ และมอบของขวัญให้คนรัก พร้อมทั้งส่งเสริมการตระหนักรู้เกี่ยวกับพิษภัยและผล กระทบของบุหรี่ต่อเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยเน้นส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนที่เป็นนักสูบหน้าใหม่และหน้าเก่าเห็นการเลิกบุหรี่เป็นเรื่องสำคัญและสามารถเลิกได้อย่างถาวร ซึ่งพิษจากบุหรี่นั้นเกิดจากส่วนประกอบคือ นิโคติน (Nicotine) และทาร์ (Tar) ที่ทำลายถุงลมปอด ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง หอบ เหนื่อยง่าย ไอเรื้อรัง และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งบริเวณเนื้อเยื่อที่สัมผัสกับสารนี้ในขณะที่สูบบุหรี่ โดยทาร์จะตกค้างอยู่ในปอด หลอดลมใหญ่ และหลอดลมเล็ก ซึ่งประมาณร้อยละ 90 จะขับออกมาพร้อมลมหายใจได้เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
ดังนั้น ทาร์จึงเป็นตัวการทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด ซึ่งเป็นโรคที่ทรมานมากก่อนเสียชีวิต ซึ่งในบุหรี่ 1 มวน จะมีทาร์ในปริมาณต่างกันตั้งแต่ 2.0 มิลลิกรัม จนถึง 3.0 มิลลิกรัม จากสารพิษเหล่านี้ส่งผลให้เห็นว่าบุหรี่นั้นมีโทษอย่างมาก และในประเทศไทยตอนนี้มีผู้สูบบุหรี่สูงถึง 11 ล้านคนต่อปี และเสียชีวิตปีละ 50,000 คน จึงส่งผลให้ประเทศต้องเสียงบประมาณถึงปีละ 75,000 ล้านบาท
รองผู้จัดการ สสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจโดยใช้แบบสอบถามออนไลน์เกี่ยวกับความเห็นการมีแฟนที่สูบและไม่สูบบุหรี่ในกลุ่มเด็ก เยาวชน อายุตั้งแต่ 13-22 ปี จากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด จำนวน 5,531 คน พบว่า เยาวชนที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ร้อยละ 96.6 ไม่สูบบุหรี่ และร้อยละ 65.7 จะไม่เลือกคนที่สูบบุหรี่มาเป็นแฟน ถ้าสูบบุหรี่แล้วแฟนขอให้เลิกก็จะเลิกถึงร้อยละ 97.7 จากการสำรวจยังพบอีกว่า ร้อยละ 30 มีแฟนและส่วนใหญ่มีแฟนที่ไม่สูบบุหรี่
ส่วนกลุ่มที่มีแฟนสูบบุหรี่ ร้อยละ 74.5 ไม่ชอบที่แฟนสูบบุหรี่ เพราะไม่ดีต่อสุขภาพ และร้อยละ 81.3 อยากให้แฟนเลิกบุหรี่ ซึ่งบ่อยครั้งที่ทะเลาะกับแฟนเรื่องสูบบุหรี่ และสุดท้ายร้อยละ 77.5 พยายามชักจูงให้แฟนเลิกบุหรี่ จากผลสำรวจทั้งหมดเห็นได้ชัดว่า ความรักเป็นส่วนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเลิกบุหรี่อย่างมาก
"ดังนั้นในช่วงเทศกาลวันแห่งความรักที่จะถึงนี้ อยากให้วัยรุ่นยุคใหม่ใช้การเลิกบุหรี่เพื่อเป็นของขวัญให้กับคนที่เรารัก และหันมาออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง ดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ที่เรียกว่าเป็นความรักอย่างสร้างสรรค์และมีคุณค่ามากกว่าการให้สิ่งของราคาแพง เพราะยิ่งเราเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการไม่สูบบุหรี่ได้มากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เรามีชีวิตอยู่เคียงข้างคนที่เรารักได้นานมากขึ้นเท่านั้น พร้อมทั้งฝากเตือนไปถึงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่นอกจากจะทำให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบไม่ได้แล้วนั้น กลับส่งผลให้เยาวชนติดบุหรี่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ถ้าไม่อยากตกเป็นทาสของบุหรี่อย่าคิดลองเด็ดขาด" ดร.นพ.บัณฑิตกล่าวทิ้งท้าย
นายเมธนนท์ ประจวบลาภ อายุ 22 ปี พิธีกรดำเนินรายการกล้าทำดี ทาง ททบ.5 และนายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ อายุ 22 ปี เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นพี่น้องฝาแฝด พร้อมใจเล่าว่า ในครอบครัวมีพ่อที่สูบบุหรี่ ซึ่งตนทั้งคู่ได้เห็นมาตั้งแต่เด็ก ภาพแรกที่จำได้คือ พ่อนั่งสูบบุหรี่และสูบเรื่อยมา ทำให้สุขภาพของพ่อเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ ผมอยากอยู่กับพ่อไปนานๆ ไม่อยากเห็นพ่อเป็นแบบนี้ จึงคิดหาวิธีโดยใช้โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ซึ่งมีข้อความว่า "พ่อเลิกบุหรี่เถอะนะ ลูกขอร้อง ลูกทั้งสองอยากอยู่กับพ่อนานๆ" แล้วแท็กในเฟซบุ๊กของพ่อ หลังจากที่พ่อเห็นข้อความดังกล่าวก็มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยเริ่มลดจำนวนการสูบลงเรื่อยๆ จนในที่สุดพ่อก็เลิกบุหรี่ได้อย่างถาวร
"เมื่อเห็นพ่อเลิกบุหรี่ได้ ต้องบอกว่าดีใจมาก เหมือนได้พ่อคนใหม่ที่มีสุขภาพดีขึ้น ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น จากที่ต้องอยู่กับควันบุหรี่มาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้ก็ไม่มีอีกแล้ว ไม่อยากให้เยาวชนคิดลองหรือมองเป็นค่านิยม เพราะแท้จริงแล้วการสูบบุหรี่นั้นเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจและไม่มีใครอยากเข้าใกล้ ควันบุหรี่ที่พ่นออกมาแต่ละครั้งมันมีโทษต่อตนเองและคนรอบข้างอย่างมาก สุดท้ายอยากบอกเยาวชนไทยว่า การสูบบุหรี่ไม่ใช่เป็นทางออกที่ใช้ระบายความเครียด แต่เป็นข้ออ้างของคนเห็นแก่ตัวที่ไม่เคยรักแม้กระทั่งตัวเอง ในช่วงเดือนแห่งความรักนี้จงตั้งใจให้แน่วแน่ที่จะมอบของขวัญอันล้ำค่าให้กับคนรักโดยการเลิกบุหรี่ให้ได้" นายเมธนนท์ และนายพชรพรรษ์ เล่าให้ฟังพร้อมเชิญชวน
นางสาวจริญา อรุณณวัฒนางค์กูล อายุ 23 ปี ทำงานที่สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เล่าด้วยรอยยิ้มว่า มีความสุขมากที่คนในครอบครัวไม่มีใครสูบบุหรี่ หรือแม้กระทั่งเพื่อนรอบกายก็ไม่มีใครสูบ ทำให้รู้สึกปลอดภัยและสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข ทุกวันนี้เห็นเยาวชนไทยเริ่มหันมาสูบบุหรี่กันมากขึ้น เป็นสิ่งที่น่าห่วงมาก เพราะในปัจจุบันสามารถเข้าถึงบุหรี่ง่าย แม้มีเงินน้อยก็สามารถซื้อแบบแบ่งขายได้ตามร้านค้าทั่วไป
นางสาวจริญาย้ำว่า อยากให้กฎหมายเข้มงวดมากกว่านี้ คือไม่ให้ผู้ประกอบการมีการลักลอบจำหน่ายได้เลย ส่วนเด็กก็ไม่สามารถซื้อได้ อย่างน้อยก็เป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่การจำหน่าย รวมทั้งจะทำให้เด็กห่างไกลจากสิ่งเสพติดเหล่านี้ได้ และในช่วงวาเลนไทน์นี้อยากให้คู่รักที่มีแฟนสูบบุหรี่จงมอบของขวัญให้คู่รักโดยการไม่สูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพที่ดีและคุณจะได้อยู่กับคนที่รักไปนานๆ
เห็นโทษของและความน่ารังเกียจจากควันมรณะกันแล้ว ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์จึงถือเป็นโอกาสเหมาะสมที่จะมอบของขวัญให้แก่ตัวเองและคู่ชีวิตด้วยการเลิกบุหรี่ หยุดทำร้ายตัวเองและคนรอบข้าง ที่สำคัญยังทำให้มีอายุยืนยาว อยู่กับคนที่เรารักได้อย่างยาวนานยิ่งขึ้น