ปลุกกระแสวัยทำงานยุคใหม่ใส่ใจฟัน สร้างก่อนซ่อมช่องปากดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
ปัญหาสุขภาพช่องปากกำลัง กลายเป็นปัญหาสำคัญของ คนทุกกลุ่มวัย และด้วยช่องปาก คือปราการด่านแรกของการบ่งชี้สุขภาพ ในระยะยาว เพราะทุกอย่างที่เรานำใส่เข้าไป ในร่างกาย ต้องผ่านทางช่องปากเสมอ ไม่ต่างกับคำเปรียบเปรยที่ว่า "You Are What You Eat"
แต่พูดถึงปัญหาเรื่องช่องปาก คนส่วนใหญ่ จะโฟกัสไปที่กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่เผชิญปัญหาช่องปากมากที่สุด ทว่าจากการสำรวจที่ผ่านมาปรากฏว่า คนวัยทำงานอย่างเราๆ เองก็มีปัญหาสุขภาพช่องปากถึงกว่า 91% ทีเดียว
"กลุ่มวัยทำงาน" จึงยังเป็นช่องว่าง ในการทำงานด้านทันตสาธารณสุข เนื่องจากโดยทั่วไปนโยบายการส่งเสริมต่างๆ ยังลงมา ไม่ถึงคนกลุ่มนี้ นำมาสู่ปฏิบัติการใหม่ของ กลุ่ม "ดรีมทีม" ทันตแพทย์ใจอาสา ที่ยินดี จะแบ่งเวลาออกมาปั้นภารกิจ "สร้างเสริม สุขภาพช่องปากกลุ่มวัยทำงาน" ขึ้นครั้งแรก ในไทย ภายใต้โครงการการพัฒนารูปแบบ การสร้างเสริมสุขภาพช่องปากกลุ่มวัยทำงาน โครงการที่ขับเคลื่อนโดยมูลนิธิทันตสาธารณสุข ร่วมกับสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย และภาคีเครือข่าย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.)
อุดช่องว่างปัญหาฟัน ต้องเริ่มที่วัยทำงาน
"จริง ๆ วัยทำงานที่ประเทศไทยมีกว่า 43 ล้านคนก็มีปัญหาเยอะมาก" ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รักษาการทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตสาธารณสุข) เผยถึงข้อเท็จจริงจากข้อมูลการสำรวจปัญหาในช่องปากที่สำคัญ ที่พบในกลุ่มวัยทำงาน พบว่าเป็นวัยที่พบ โรคฟันผุร้อยละ 91.8 เป็นฟันผุที่ไม่ได้รับ การรักษา ร้อยละ 43.3 และเริ่มมีการผุบริเวณซอกฟัน มีหินน้ำลายและ/หรือเลือดออก ร้อยละ 75.5 มีร่องลึกปริทันต์ตั้งแต่ 4 มม. ขึ้นไปถึงร้อยละ 25.9
นอกจากนี้ ยังพบสภาวะในช่องปากที่สัมพันธ์กับความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมทั้งรอยโรคในช่องปากที่อาจกลายเป็น มะเร็งช่องปากและเป็นสาเหตุการตายได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับคนทำงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังร่วมด้วย
"การที่เราได้งบประมาณจาก สสส. เพื่อพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพ ช่องปากในกลุ่มวัยทำงาน คืออายุ 15-59 ปี จึงแบ่งเป็นกลุ่มวัยทำงานเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ การดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก วัยทำงานในกลุ่มสถานประกอบการ และ กลุ่มนอกสถานประกอบการ
"การทำงานช่วงแรกๆ เราฟรีสไตล์ เปิดให้กับพื้นที่ที่มีความสนใจ เพราะมองว่างานเขาประจำเขาหนักอยู่แล้ว แต่บางพื้นที่ เขามองว่าเป็นประเด็นท้าทายจึงอาสามาร่วมกับเรา ในกลุ่มสถานประกอบการ เราเลือกพื้นที่ที่มีโรงงานเยอะอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเราเลือกเกลี่ยภาคละ 2-3
"แต่เรารู้อยู่แล้วว่า เรื่องช่องปากไม่ใช่เรื่องสำคัญที่คนจะสนใจ การดำเนินการช่วงแรกๆ อย่างในสถานประกอบการ เราจึงใช้กลไก ความร่วมมือกับโครงการ สถานบริการปลอดโรค ปลอดภัย ใจเป็นสุขของกรมควบคุมโรค หรือการนำเอากิจกรรมขูดหินปูนเจาะเข้าไป ส่วนกลุ่มสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราเริ่มต้นที่ตัว อสม. เลย เพราะเขาก็เป็นตัวแทนวัยทำงานเหมือนกัน แล้วขยับมาเป็นกลุ่มผู้ป่วย NCDs บ้าง ผู้นำศาสนา ไปถึงแม่วัยทำงาน จนถึงในเรือนจำคือเรามองว่าจริง ๆ คนทำงานเป็นใครก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือเขาต้องขับเคลื่อนให้คนเหล่านี้มี Self care(สามารถดูแลตัวเองได้) และ Access to care (สามารถเข้าถึงบริการที่เหมาะสมได้)"
ข้อดีของการเปิดกว้างคือทำให้โครงการได้โมเดลที่มีความหลากหลาย ซึ่งจากการดำเนินโครงการต่อเนื่องสองระยะทำให้ได้พื้นที่ต้นแบบกว่า 21 พื้นที่
"ในช่วงแรกเราได้โมเดลในการทำงานมา ต่อมาเฟสสองเราได้โมเดลในการขยาย ซึ่งก่อให้เกิดการเคลื่อนเรื่องนโยบายและเคลื่อนหน่วยย่อยและเกิดเครือข่ายในการทำงาน"
ขณะที่การดำเนินการระยะที่สอง โครงการเน้นไปที่การสร้างเครื่องมือ การสร้างความรอบรู้ นวัตกรรมต่างๆ ทั้งจากฝ่ายวิชาการและจากพื้นที่ แล้วส่งมอบให้กรมอนามัย ผลงานที่ได้จากดำเนินงานคือการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อการสื่อสารด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ได้จัดทำ Mobile Application "Fun D" ลงทะเบียนแบบหน่วยงานภาครัฐในนามกรม อนามัย ใช้งานได้ทั้งระบบ IOS และ Android และถูกพัฒนาขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปาก สามารถประเมินสภาวะสุขภาพ รวมถึงสุขภาพช่องปากของตนเองผ่าน Application
นอกจากนี้ได้จัดทำสื่อให้ความรู้ผ่านสื่อออนไลน์ 3 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ (Website) แฟนเพจเฟสบุค (Facebook Fan Page) และไลน์ (Line) ที่ชื่อ "ฟันดีดี""better teeth Thailand" นำเสนอข้อมูลข่าวสารในการให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากในรูปแบบ Single Infographic พร้อมบทความ และ สื่อภาพเคลื่อนไหว วิดีโอคลิป และการรณรงค์สื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เน้นเผยแพร่เนื้อหาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ช่องปากและฟัน ทั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักถึงการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่มีความเสี่ยงจะมีปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันในอนาคต
จากการดำเนินงานได้ผลตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายวัยทำงาน และประชาชนที่เกี่ยวข้องที่ดี กลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจ เกิดการพูดถึง และการแบ่งปัน (Share) ออกไปในวงกว้าง
โครงการยังสนับสนุนภาคีเครือข่ายในการพัฒนาองค์ความรู้และวิชาการในการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพช่องปากวัยทำงาน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) โครงการวิจัยความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากในประชากรไทยวัยทำงาน ยุค 4.0 จากการดำเนินงานเกิดเครื่องมือ ความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากมีคุณสมบัติทางจิตวิทยาดี สามารถจำแนกบุคคลที่มีความแตกต่างทั้งภาวะสุขภาพช่องปาก และคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก จึงสามารถนาไปใช้ได้ทั้งในระดับรายบุคคล การให้บริการเพื่อส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพที่เฉพาะบริบทของบุคคล ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน
รวมทั้งยังสามารถนำไปใช้ในการสำรวจประชากรในพื้นที่ สู่การกำหนดนโยบายสนับสนุนความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปาก เพื่อการขับเคลื่อนชุมชน กำหนดนโยบายสาธารณะ หรือนโยบายสุขภาพช่องปาก ในระดับพื้นที่หรือประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการพัฒนาผู้รอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากในวัยทางาน
2) โครงการพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก โดยใช้การตลาดเพื่อสังคมในกลุ่มวัยทำงาน : กรณีศึกษา อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย ผลการศึกษาพบว่า วัยทำงานอายุ 18-25 ปี เป็นกลุ่มที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพสูงมากกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ ทุกมิติ จึงเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นแกนนำสุขภาพช่องปาก และควรได้รับการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากก่อนกลุ่มอื่น โดยหวังผลลัพธ์ถึงบุคคลในครอบครัว บุตรและ/หรือหลานที่จะได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากคนกลุ่มนี้ต่อไป
3) การทบทวนการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่อง การเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรม (การตรวจสุขภาพช่องปาก) ในกลุ่มผู้ประกันตน จากการทบทวนการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้เสนอให้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจสุขภาพช่องปากในกลุ่มผู้ประกันตน และพัฒนาระบบงานสิทธิประโยชน์ทันตกรรมในรูปแบบ platform ที่ใช้งานได้ทั้งทาง website และ application เพื่อเป็นการใช้งานร่วมกันสำหรับคลินิกทันตกรรม ผู้ประกันตน และสำนักงานประกันสังคม
ขณะที่ด้านวิชาการ ในอดีตไม่ค่อยมีโครงการวิจัยช่องปากวัยทำงานมากนักในไทย ทางโครงการจึงนำงานวิจัยจากต่างประเทศ มาปรับใช้ อีกส่วนเป็นข้อมูลของกรทำงาน ระดับพื้นที่ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อนนโยบายประกันสังคมด้านสุขภาพช่องปากหลายเรื่อง
"หนึ่งในประโยชน์ที่ได้จากโครงการ คือการขับเคลื่อนสิทธิในเรื่องการทำฟัน ข้อมูล ที่เราศึกษา ทำให้เรามีโอกาสขับเคลื่อนให้ประกันสังคมเพิ่มค่าทำฟันจาก 600 บาท เป็น 900 บาท นอกจากนี้ เรายังได้พัฒนา เรื่องการขยายรอยโรคในช่องปาก การพัฒนาสิทธิและนโยบายระดับพื้นที่ เช่น งานบุญปลอดน้ำอัดลม เรื่องการจัดสภาพแวดล้อม ในสถานประกอบการ เป็นต้น"
"หากมองข้อดีของโครงการนี้ ทำให้ การพัฒนาการทำงานก้าวกระโดด (shortcut) เร็วมาก คิดว่าหลังจบเฟสนี้แล้ว ทิศทาง การดำเนินงานระยต่อไป เราจะมุ่งเน้นที่การยกระดับกลุ่มเป้าหมายให้มี Self Care และ Access to care ได้มากขึ้น" ทพญ.ปิยะดา เอ่ยทิ้งท้าย
ทำไมต้องสนใจสุขภาพช่องปาก วัยทำงาน?
"อย่างที่เราทราบกันดีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องใช้งบประมาณค่ารักษาพยาบาลสูงคนเรื่อย ๆ ซึ่งหากเรายังปล่อยให้คนไทย เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง หรือ NCDs ไม่ว่า จะเป็น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ มากขึ้น ก็จะยิ่งเผชิญปัญหานี้ ซึ่งโรคพวกนี้ ความจริงเราสามารถป้องกันได้ แม้จะไม่ทั้งหมด ก็สามารถชะลอ ลดความรุนแรง ลดอัตราการตายหรือพิการได้ เพียงคนไทย ลดพฤติกรรมความเสี่ยง ได้แก่ ลดหวาน มัน เค็ม หันมาออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ ก่อให้เกิดโรค NCDs" พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโกผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ (สำนัก 7) สสส.เอ่ยถึงเป้าหมาย การสนับสนุนโครงการนี้
โดยกล่าวต่อว่าช่องปากของเรา มีความเกี่ยวข้อง หรือสัมพันธ์กับปัจจัยเหล่านี้ ทั้งสิ้น เนื่องจากช่องปากคือประตูแรกของร่างกายที่รับสิ่งต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย แต่ กลายเป็นอวัยวะที่คนส่วนใหญ่ละเลย
โครงการนี้จึงมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนากลไกเชิงระบบในการดูแลสุขภาพช่องปาก ของวัยทำงาน เพิ่มความครอบคลุมการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคใน ช่องปากของกลุ่มวัยทำงานและพัฒนาศักยภาพระบบและกำลังคนในการดูแลสุขภาพช่องปากวัยทำงานอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงกลไก เงื่อนไขในระบบ ตลอดจนบริบทของสังคม
"ส่วนใหญ่งานบริการสาธารณสุขด้าน ทันตกรรมในระบบจะเน้นไปที่การดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ เป็นหลัก แต่อีกกลุ่มที่มีความสำคัญ ไม่แพ้กัน คือกลุ่มวัยทำงานอย่างเราๆ นี่แหละ คือต้องยอมรับว่าประเทศไทยเองมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรด้านบริการสาธารณสุขและงบประมาณของประเทศเราเองมีไม่เพียงพอที่จะ มาดูแลได้ทั่วถึง อย่างไรก็ตามการพัฒนาสุขภาพตนเองของกลุ่มวัยทำงานจะส่งผล ต่อกลุ่มอื่นๆที่ยังต้องอยู่ในภาวะพึ่งพา และยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ วัยสูงอายุที่มีคุณภาพ ดังนั้นการพัฒนาให้ คนวัยทำงานมีศักยภาพและความสามารถในการดูแลสุขภาพของตนเองจึงเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญในการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ" ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุน การพัฒนาระบบสุขภาพ สสส.ให้เหตุผล
"ตอนนี้โรคเราเปลี่ยนแปลงเร็วมาก รวมถึงพฤติกรรมคนก็เปลี่ยน สิ่งแวดล้อม ก็เปลี่ยน เราจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ นวัตกรรมหรือรูปแบบใหม่เข้ามาช่วยส่งเสริม การดำเนินงาน สสส.ก็จะช่วยมองหาสิ่งเหล่านี้ไปด้วยกัน"
การมีส่วนสนับสนุนโครงการนี้ จึงเป็น การเชื่อมโยงเรื่องการดูแลอนามัยช่องปาก ให้ห่างจากปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับโรค NCDs ไปด้วยพร้อมกัน ซึ่งแนวคิดนี้ตรงกับเป้าหมายการทำงานของ สสส.พอดี
"เนื่องจาก สสส.เราขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ไตรพลัง นั่นคือ การเสริมสร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม สร้างเครือข่าย สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนในระดับนโยบายได้อย่างยั่งยืน"
อีกบทบาทจึงเป็นแรงพลังเล็กๆ ที่ไปกระตุ้นให้วงล้อเคลื่อนเร็วขึ้น หรือ เกิดนโยบายที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยเริ่มจากสนับสนุนให้เกิดต้นแบบหรือโครงการนำร่อง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญการจุดประกาย ให้บุคลากรทางการแพทย์ เช่น ทันตแพทย์ ทันตบุคลากรและแพทย์ในสาขาที่เกี่ยวข้อง กับช่องปาก เหล่านี้เริ่มให้ความตระหนักถึง การทำงานสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก แก่ประชาชน ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงาน ในเชิงรุก
"เรามองว่าจะทำอย่างไรให้เกิดรูปแบบการทำงานร่วมกันแบบเครือข่ายโดยใช้แนวคิดการพัฒนา node การดูแลสุขภาพ มุ่งเน้นงานในระดับปฐมภูมิ โดยการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพในช่องปาก กลุ่มวัยทำงานที่ใช้สิทธิประกันสังคม และผู้ที่ใช้ สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวม 26 พื้นที่นำร่อง เช่น สระบุรี สมุทรปราการ ระยอง ชลบุรี ขอนแก่น อุดร หนองคาย เป็นต้น สำหรับสถานประกอบการหรือโรงงานที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 39 แห่ง เกิดนโยบายการดูแลสุขภาพช่องวัยทำงานที่อยู่ในสถานประกอบ ส่งเสริมให้พนักงานสามารถดูแลสุขภาพช่องปากของตนเอง (Self Care) และเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปาก (Access to Care) ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ
โดยมีวัยทำงานได้รับบริการเชิงรุกราว 10,000 คน และกว่า 50% ได้รับบริการทันตกรรมตามระดับความเสี่ยง จากหน่วยบริการร่วมในเครือข่ายกว่า 58 แห่ง ที่สำคัญยังหวังว่าจะเกิดรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างงานบริการที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น คลินิกโรคเบาหวาน กับงานทันตกรรม เมื่อพัฒนาจากนวัตกรรม ก็สามารถจะถอดเป็นนโยบาย หรือเป็นคู่มือได้ ซึ่งพอทำโครงการนี้แล้วก็ได้เห็นว่า จำเป็นต้องมีองค์ประกอบใดบ้าง เนื่องจากเราต้องการสร้างโมเดลให้ภาครัฐหรือเอกชนนำไปใช้และทำได้จริง" พญ.ขจีรัตน์ กล่าว
ปฏิบัติการเปลี่ยนสุขฟันดีที่ทำงาน
"ตอนที่ทำระยะที่หนึ่งยังเป็น การลองผิดลองถูกอยู่ สถานประกอบการ ที่เราเลือกมา 6 แห่งมี 5 แห่งที่เลือก ไม่ทำต่อ เพราะบางทีก็มองว่าเบียดเบียนเวลาเขา ตอนนั้นทำให้เราต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่"ทพญ.เกศยา ทรัพย์สมพลโรงพยาบาลระยอง เล่าถึงการทำงานระดับพื้นที่จังหวัดระยอง โครงการ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน ทันตสาธารณสุข ระยะที่ 2 ทดลองใช้ และปรับปรุงระบบ และระยะที่ 3 ติดตามและประเมินผล
"อุปสรรคคือเราดูแล้วว่าถ้าเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่คงจัด ได้แค่รณรงค์ เพราะจำนวนคนเยอะมาก แต่บุคลากรเรามีจำกัด แต่โชคดีที่ต่อมา หลังเราเข้าไปทำกิจกรรมต่อเนื่อง ทางทีมพนักงานของสถานประกอบการ ก็เริ่มเห็นความสำคัญและเข้ามาเป็น ฝ่ายขอความร่วมมือจากเราเอง"
ในผลการดำเนินโครงการ พบรูปแบบที่พัฒนาขึ้นประกอบไปด้วย 4 กิจกรรมคือกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ กับสถานประกอบการ กิจกรรมสำรวจ สภาวะสุขภาพช่องปาก กิจกรรมการให้ ทันตสุขศึกษา และกิจกรรมการส่งต่อ การรับบริการ ภายหลังใช้วิธีที่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับทางสถานประกอบการคือ การใช้ความสัมพันธ์เดิมที่ดีและการใช้วิธีเพื่อนบอกเพื่อน การตรวจช่องปากด้วย กล้องส่องปากแบบดิจิทัล และการย้อมสีฟัน ทำให้พนักงาน ตระหนักถึงสภาวะในช่องปากเพิ่มมากขึ้น
"ก่อนการจัดกิจกรรมรณรงค์ เราให้ เขาตอบคำถาม สิ่งที่น่าตกใจคือ เขาไม่รู้ คำตอบเยอะมาก ทำให้เรารู้ว่าเขามีความรู้ค่อนข้างน้อย แม้แต่พฤติกรรมการแปรงฟัน ส่วนใหญ่ไม่ถูกวิธี แม้จะแปรงวันละสองครั้งแต่ก็ไม่ได้คุณภาพ ไม่เคยใช้ไหมขัดฟันเลย แต่หลังดำเนินโครงการพนักงานหลายคนมีสภาวะฟันผุ สภาวะปริทันต์น้อยลง และการติดสีย้อมฟันของพนักงานลดลง ที่สำคัญพนักงานมีการไปรับบริการ ทันตกรรมเพิ่มขึ้น
"จึงมองว่าต้องเริ่มจากทำให้เขาเห็นก่อน ซึ่งเราเอาโมเดลพื้นที่อื่นที่ประสบความสำเร็จมาลองปรับใช้ ในแง่คนทำงาน สิ่งที่ได้เห็นอีกอย่าง คือทัศนคติต่อผู้ให้บริการสาธารณสุข ภาครัฐที่ดีขึ้น มีบริษัทหนึ่ง ฝ่าย HR เขาไม่เคยคิดมารับบริการภาครัฐ แล้วพอ เราไปทำกิจกรรม เขาก็จะรู้สึกประทับใจ" ทพญ.เกศยา กล่าว
'สร้าง' นำ 'ซ่อม' ปั้นเรือนจำฟัน (ไม่) ผุ
"เมื่อก่อนเราซ่อมตลอด แต่งานเราไม่เคยลดลงเลย" ศิริรัตน์ ปัจฉิมกุล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา หนึ่งในเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการนี้ เดิมเธอเป็นหนึ่งในทีมจิตอาสาของมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี (พอ.สว.) เข้าไปให้บริการด้านทันตกรรมในเรือนจำจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่สิ่งที่ศิริรัตน์พบคือ 5 ปีที่ผ่านมากลับไม่สามารถให้บริการ ผู้ต้องขังได้ครบ 100%
"ถามว่าผู้ต้องขังมีฟันผุเยอะไหม… โอ้โห…เรียกได้ว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ใน 3,000 คนเลยทีเดียว
"พอเข้าไปเราก็ต้องรักษาเรื่อง เร่งด่วนก่อน แต่การทำทันตกรรมด้านอื่นๆ เช่นรักษารากฟัน หรือการรักษาที่ซับซ้อนต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ไม่สามารถทำได้ จะให้มาที่โรงพยาบาลก็มีข้อจำกัด เพราะเขาผู้ต้องขังจึงยากที่เขาจะออกมารับบริการภายนอกได้"
นอกจากนี้ ในเรือนจำมักมีผู้ต้องขังหมุนเวียนตลอดเวลา เมื่อคนเก่าออกไป คนใหม่เข้ามา ทำให้การบริการเรื่อง ฟันของเธอไม่เคยลด
"กลุ่มใหม่เข้ามาก็ฟันผุ ส่วนผู้ต้องขังที่ออกไปแล้วได้รับการรักษาหาย แต่ก็ ไม่ได้รับการส่งเสริมเรื่องการดูแลอนามัยช่องปาก พอออกไปก็กลับมีพฤติกรรมแบบเดิม เราเลยมองว่าการส่งเสริมป้องกันง่ายกว่าและใช้งบน้อยกว่า ได้ผลระยะยาว"
เมื่อได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ทางศิริรัตน์และทีมงานจึงเลือกที่จะขอ นำเป็นทุนในการส่งเสริมการให้ความรู้ ด้านการดูแลช่องปากและฟันกับผู้ต้องขังแห่งนี้
"เราเริ่มจากพัฒนาแกนนำคนข้างใน เพราะตั้งใจให้เขาสอนเพื่อนเขาเองได้ มองว่าเขารู้จักกัน คุยกันได้ง่ายกว่าเรา"
แกนนำรุ่นแรกมีทั้งหมด 20 คน คัดเลือกจากแดนแรกรับและแดนบำบัด และต่อยอดสร้างแกนนำได้อีก 40 คน แต่ก็พบปัญหาคือหลังอบรมเสร็จ บางคนย้ายแดนบ้าง พ้นโทษบ้าง ทีมทำงาน จึงคิดกิจกรรมพัฒนาสื่อการสอนสาธิต การแปรงฟันและการดูแลช่องปากบนสื่อในเรือนจำ
"หลังทำโครงการ เราไปแอบดูเหมือนกัน ดีใจที่ผู้ต้องขังหลายคน เขาหันมาแปรงฟันมากขึ้น เราเอาเรื่องการแปรงแห้งเข้าไปแนะนำ ได้ผลตอบรับดีมาก เขาพยายามจัดสรรเวลาแปรงฟัน"
แม้วันนี้แกนนำในเรือนจำของเธอ จะเหลือเพียง 13 คน แต่ก็ทำให้ผู้ต้องขังอีก 200 คนในแดนสามารถเข้าและแปรงฟันได้ ศิริรัตน์มองว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ขอเพียงมีคนลงมือทำ
"ถามถึงผลตอบรับ เราให้แกนนำเขียนจดหมายบอกความรู้สึก ผู้ต้องขังหลายรายเขียนจดหมายบอกกับเราว่า ตั้งแต่อยู่ข้างนอกเขาไม่สนใจเลย มาเรียนรู้เรื่องแปรงฟันใหม่ในเรือนจำนี่แหละ เขาดีใจที่ได้ทำ เพราะเห็นผล ถึงแม้เขาจะออกไปแล้ว เขาก็ไปถ่ายทอดให้ครอบครัวเขา จะไปสอนลูกต่อบางคน" เธอเล่าพร้อมรอยยิ้ม