ปลื้ม ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงนักศึกษาท้องต้องได้เรียนต่อ เพิ่มความรัดกุมคุ้มครองนักเรียน เดินหน้าสร้างความเข้าใจทุกฝ่าย ให้โอกาสได้เรียนจบ

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                  สสส.- ภาคี ปลื้ม ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวง ศธ. เพิ่มความรัดกุมคุ้มครองนักเรียน นักศึกษาท้องต้องได้เรียนต่อ และต้องเดินหน้าสร้างความเข้าใจทุกฝ่ายเลิกกดดัน ให้โอกาสได้เรียนจบ เพื่อมีรายได้ที่เหมาะสม เชื่อ ไม่เกิดการเอาอย่าง แต่เป็นสร้างความตระหนักให้เพื่อน

                  นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 7 แห่งกฎกระทรวงฯ โดยเพิ่มเติมว่า “การย้ายสถานศึกษาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนักเรียน หรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์” เป็นข่าวดีต่อการคุ้มครองนักเรียน นักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้มีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

 

                  สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการทำงานประเด็นการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่ต้องทำควบคู่กันทั้งการป้องกัน ที่ถือเป็นหัวใจหลัก แต่กรณีเกิดการตั้งท้อง ต้องมีทางเลือกให้วัยรุ่น ไม่ว่าจะเลือกท้องต่อ หรือยุติการตั้งครรภ์ ประเด็นเด็กท้องต้องได้เรียนต่อมีความสำคัญ ข้อมูลจากงานวิจัยการวิเคราะห์ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์และวิธีการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทย ของ TDRI พบว่ากลุ่มตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีรายได้ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ตั้งครรภ์ (มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมใกล้เคียงกัน) อยู่ 2,811 บาท/คน/เดือน กลุ่มที่ออกจากโรงเรียนถาวรจากการตั้งครรภ์ มีการลดลงของรายได้ 4,582 บาท/คน/เดือน สูงกว่ากลุ่มที่กลับเข้าเรียน ซึ่งลดลงที่ 3,936 บาท/คน/เดือน

                  “เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการพยายามให้วัยรุ่นอยู่ในระบบการศึกษาและได้เรียนจบในระดับการศึกษาตามที่ตั้งใจไว้ โดยเฉพาะกลุ่มตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพื่อให้สามารถทำงานและมีรายได้ที่เหมาะสม สสส. สานพลังภาคีดำเนินการ 3 โครงการที่เกี่ยวข้อง 1.โครงการการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในระบบการศึกษาจังหวัดนครสวรรค์ภายใต้แนวคิด วัยรุ่นต้องไม่ท้อง หากท้องต้องได้เรียน 2.โครงการขับเคลื่อน พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ในสถานศึกษาและปลูกฝังค่านิยมการใช้ถุงยางอนามัยในวัยรุ่นตอนต้น 3.โครงการสนับสนุนการให้บริการปรึกษาอย่างรอบด้านเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อมผ่านสายด่วน 1663 ระบบบริการป้องกันและช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม” นายชาติวุฒิ กล่าว

 


                  นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ผู้รับผิดชอบโครงการสายด่วนฯ 1663 กล่าวว่า กฎหมายช่วยได้มากพอสมควร แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันเอื้อให้เด็กเรียนต่ออย่างมีความสุข ต้องสร้างความเข้าใจ และเปลี่ยนทัศนคติทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และเพื่อนนักเรียน เพราะหากเด็กถูกกดดันจนต้องหยุดเรียนชั่วคราวระหว่างตั้งครรภ์ พบว่ามากกว่า 50% ไม่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีก จึงต้องมีระบบดูแลให้เด็กได้เรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในภาคเรียนที่ 1/2565 พบว่ามีเด็ก 2 รายที่ถูกโรงเรียนกดดันให้ย้ายที่เรียน แม่ของเด็กจึงขอความช่วยเหลือมาที่มูลนิธิฯ ตนจึงโทรประสานกับโรงเรียน ทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายจนได้กลับไปเรียนที่เดิมทั้ง 2 ราย แต่หากแม่ หรือเด็กไม่ต่อสู้ หรือขอความช่วยเหลือก็อาจถูกกดดันให้ย้ายที่เรียน หรือต้องหยุดเรียนได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าห่วง ทั้งที่การให้เด็กเรียนต่อเนื่อง ไม่ได้เกิดการเลียนแบบ แต่ส่งผลดีทั้งกับเด็กที่ตั้งครรภ์ และเพื่อนนักเรียนที่จะได้เห็นตัวอย่าง เห็นความลำบาก ทำให้เกิดความตระหนักต่อปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนมากขึ้น

 

                  นายธวัชชัย พาชื่น เจ้าหน้าที่มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า การแก้ไขกฎกระทรวงฯ โดยเพิ่มเติมคำให้รัดกุมขึ้นในการคุ้มครองสิทธิ์ของเด็ก ช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติ ยังมีบางโรงเรียนที่ไม่เข้าใจ จากการที่มูลนิธิฯ ร่วมกับ สสส. ทำโครงการขับเคลื่อน พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ในสถานศึกษาฯ นำร่อง 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี อุดรธานี เลย และ ชัยภูมิ พบว่าผู้บริหาร และครูส่วนใหญ่รู้ว่ามีกฎหมาย แต่ไม่รู้รายละเอียด เพราะมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ดังนั้น หลังมีกฎหมายออกมา ควรมีกลไกติดตามการดำเนินงานในระดับพื้นที่ด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code