ปลดล็อกการเรียนรู้ ช่วยเยาวชนไทยทำงานเป็น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
ปลดล็อกข้อจำกัดการเรียนรู้ช่วยเยาวชนไทยทำงานเป็น-อดทน-มีความรับผิดชอบ
"จุดอ่อนของผู้ที่จบการศึกษาในระบบของไทยคือ ทำงานไม่เป็น ไม่อดทน และไม่รับผิดชอบ แต่เราจะพบว่าทักษะทั้ง 3 นี้ มีอยู่ในผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นถ้ามีแหล่งการศึกษาที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย จะช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี" ข้อความในข้างต้นคือปมปัญหาใหญ่ปัญหา
หนึ่งของเยาวชนไทยในปัจจุบัน ที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสีราษฎรอาวุโส ชี้ให้เห็นใน เวทีประชุมการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย หัวข้อ "ทางเลือกของการเรียนรู้" ที่ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบการศึกษา มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) และ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอทางเลือกของการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ ที่ช่วยพัฒนาทักษะความสามารถทั้งด้านการเรียน และการดำรงชีวิตในสังคม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดการศึกษาเครือข่ายบ้านเรียน หรือโฮม สคูล (Home school) การจัดการศึกษาโดยสถานประกอบการ และการจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนโดยวิทยาลัยชุมชน
ศ.นพ.ประเวศ ในฐานะประธานในที่ประชุม กล่าวอีกว่า ประเทศไทยใช้ระบบการศึกษาทางเดียวมานาน ซึ่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มีหลักการที่ดี แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ซึ่งการเรียนรู้ควรต้องมีหลากหลายทางเลือกเพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีทางเลือกของการเรียนรู้หลากหลายช่องทาง เช่น เครือข่ายบ้านเรียนที่กลุ่มพ่อแม่เป็นผู้จัดการศึกษาตามความสนใจของผู้เรียน การจัดการศึกษาของภาคเอกชนเพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงาน ขณะที่ภาคเอกชนกว่า 400,000 แห่ง กำลังพัฒนาตัวเองให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านอาชีพที่สำคัญ รวมถึงรูปแบบวิทยาลัยชุมชนที่เน้นการเรียนรู้จากข้างล่างขึ้นบน เพื่อผลิตบุคลากรได้ตรงกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง
"การแก้ปัญหาด้านการศึกษามักติดขัดระเบียบทางราชการ หากเราสามารถรวบรวมผู้ที่มีศักยภาพในสังคม แล้วจัดตั้งเป็นคณะทำงานยุทธศาสตร์เพื่อการศึกษาแบบไม่เป็นทางการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่สำคัญ พร้อมศึกษาถึงแนวทางที่จะปลดล็อกในเรื่องต่างๆ โดยเชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน น่าจะทำให้การแก้ปัญหาเกิดเป็นรูปธรรมขึ้นจริงได้" ราษฎรอาวุโส ระบุ
ไม่เพียงแค่ผลประกอบการทางธุรกิจที่ต้องเติบโตขึ้นในแต่ละปี แต่ เอส แอนด์ พี ยังมุ่งหวังสร้างสังคมที่มีรากฐานดีควบคู่กันไปด้วย สุภาวดี หุตะสิง ผู้อำนวยการศูนย์การเรียน เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ร่วมประชุม มาบอกเล่าถึงความสำเร็จในการพัฒนาระบบการเรียนการสอนโดยบริษัท เพื่อเปิดโอกาสด้านการเรียนให้แก่พนักงานเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาว่า เนื่องจากภาคธุรกิจมีการแข่งขันกันสูง อีกทั้งยังมีความต้องการพนักงานที่ตรงกับสายงานของบริษัท จึงได้ริเริ่มจัดการศึกษาในรูปแบบของศูนย์การเรียนรู้ขึ้นในสถานประกอบการ หลักสูตรปวช. 2 วิชา คือ วิชาพาณิชยกรรมสาขาธุรกิจค้าปลีก และวิชาคหกรรมสาขาอาหารและโภชนาการ โดยจะเรียนวิชาการสัปดาห์ละ 2 วันและฝึกปฏิบัติจริงที่ร้านสาขา 4 วัน จบแล้วมีงานทำบรรจุเป็นพนักงานของเอสแอนด์พี ปัจจุบันเปิดรับเป็นรุ่นที่ 10 แล้ว มีนักเรียนเฉลี่ยปีละ 200-250 คน ซึ่งทางบริษัทยังพัฒนาระบบแนะแนวและการทดลองเรียนที่ร้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ ก่อนเข้าสู่ระบบของศูนย์การเรียนทำให้ลดจำนวนการหลุดออกจากระบบของผู้เรียนได้ดีมากขึ้น
แม้หลายองค์กรต้องการเข้ามาเป็นหนึ่งฟันเฟืองในการช่วยเหลือเขยื้อนระบบการศึกษาไทย เหมือนเอส แอนด์ พี แต่บางที่ยังติดขัดด้านบุคลากรและกฎหมาย เช่นเดียวกับที่ วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว จ.สระแก้ว เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศิระพจต์ จริยาวุฒิกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว เปิดเผยว่า วิทยาลัยเปิดสอนในระดับอนุปริญญาเพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับคนในชุมชนได้เรียนใกล้บ้าน โดยหลักสูตรการสอนจะมาจากความต้องการของผู้เรียนที่ตรงกับแนวโน้มการมีงานทำในชุมชน เช่น โลจิสติกส์และการค้าชายแดน การสาธารณสุขชุมชน การเกษตรอินทรีย์ ภาษากัมพูชาเพื่อผู้ประกอบการ เป็นต้น อย่างไรก็ตามอุปสรรคในการพัฒนาวิทยาลัยชุมชนคือ การขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา และการรับรองมาตรฐานของหลักสูตร จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยจัดการในส่วนนี้ด้วย
เช่นเดียวกับ กนกพร สบายใจ รองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายบ้านเรียนที่บอกว่า การจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน หรือ Home School เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเป็นการจัดการศึกษาที่เน้นการพัฒนาศักยภาพตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง โดยสามารถจัดการศึกษาได้ถึง 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อช่วยลดช่องว่างการเรียนรู้โรงเรียนในระบบที่ไม่สามารถตอบโจทย์ความหลากหลายของผู้เรียน อย่างไรก็ตามแม้ว่าการจัดการศึกษาทางเลือกสามารถทำได้ตามกฎหมายแต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีหน่วยงานของรัฐดูแลอย่างเป็นระบบเท่าที่ควร
ด้าน เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.กล่าวว่า เวทีนี้เป็นการรวบรวมกรณีศึกษาการเรียนการสอนทั้งในและนอกระบบที่ดี ซึ่งมีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และบางแห่งที่ต้องเผชิญกับปัญหาและช่องว่างที่เกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะนำสู่การจัดการ โดยจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อวางยุทธศาสตร์ที่เน้นความยืดหยุ่น เพื่อเชื่อมโยงทั้งตัวระบบและองค์ความรู้ในการทำงานร่วมกัน
"มนุษย์เราทุกคนต้องการความสุข มันไม่เกิดประโยชน์อะไรหากการเรียนรู้เต็มไปด้วยความเครียด เด็กจะเบื่อและกลายเป็นการเรียนรู้ที่ล้มเหลว จึงต้องสร้างความสุขให้กับนักเรียน โดยให้โอกาสเด็กทุกคนได้ทำในสิ่งที่อยากทำ อยากเรียน ซึ่งระบบการศึกษาในปัจจุบันยังต้องให้เรียนรู้เพื่อสอบโอเน็ต ดังนั้นวิธีการเรียนรู้อย่างมีความสุขควรเริ่มต้นจากสิ่งที่เด็กชอบ สิ่งที่เด็กรัก แล้วค่อยบูรณาการกับสิ่งอื่นๆ เข้าไป ครูจึงมีบทบาทสำคัญเพื่อออกแบบการเรียนรู้ให้สนุก เข้าใจและก้าวหน้าไปด้วย" ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารสูงสุดโรงเรียนสัตยาไส ทิ้งท้ายฝากให้ครูและผู้ปกครองได้ตระหนักคิด