ปรับวิธีนั่งทำงานอย่างไร ไม่ให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม
ที่มา : ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย – TPAK
แฟ้มภาพ
“ทุกการเติบโต ย่อมปวดหลังเสมอ” วลียอดฮิตจากชาวออฟฟิศ (ซินโดรม) อันเนื่องมาจากรูปแบบการทำงานที่พบเห็นได้ทั่วไปในช่วงระยะเวลาประมาณ 3 ทศวรรษที่ผ่านมาของพนักงานออฟฟิศซึ่งมีลักษณะการทำงานที่เน้นไปที่การนั่งทำงานอยู่กับที่ ในอิริยาบถเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน การนั่งอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน รวมถึงตำแหน่งการนั่งและโต๊ะทำงานอยู่ในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่นำไปสู่อาการของออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเป็นอาการเกี่ยวข้องกับกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ ที่ทำให้เกิดอาการปวดที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ หลังส่วนบนและล่าง เอว เป็นต้น
จากเนื้อหาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าโต๊ะทำงานจึงมีบทบาทสำคัญและเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนจะนำเสนอในบทความนี้คือการเลือกใช้โต๊ะทำงานที่เหมาะสมสำหรับชาวออฟฟิศ เนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้ตัวผู้เขียนและเพื่อน ๆ ในออฟฟิศมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่สังกัดเป็นอุปกรณ์ โต๊ะทำงานปรับระดับได้
แล้วโต๊ะปรับระดับได้มันดีอย่างไร ?
1. การยืนทำงานมีส่วนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน ส่งผลต่อระบบร่างกายได้อย่างไม่ว่าจะเป็นอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง รวมถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคในกลุ่มโรค non-communicable diseases: NCDs ตามมาได้
2. การใช้งานโต๊ะยืนทำงาน เป็นอุปกรณ์ที่ดีในที่ช่วยเพิ่มระบบการไหลเวียนเลือดและหัวใจได้ดีขึ้น เพราะร่างกายได้มีการขยับปรับเปลี่ยนท่าทางเวลานั่งที่อยู่กับที่นาน ๆ ลดลง มีงานวิจัยพบว่าการหยุดจากพฤติกรรมเนือยนิ่งนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ตัวอย่างเช่น การหยุดพักจากการนั่งเป็นเวลานาน เช่น ทุก ๆ 30 นาที อาจส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ในขณะที่การนั่งนิ่งที่ 60 นาที หรือมากกว่านั้นมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น
3. มีวิจัยที่ทำการศึกษาประสิทธิภาพของการทำงานโดยใช้โต๊ะยืนในการทำงานของพนักงานในออฟฟิศ พบว่าการใช้โต๊ะยืนทำงานสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้นถึง 45 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับโต๊ะนั่งทำงานแบบปกติ รวมถึงยังช่วยทำให้จิตใจ ดีขึ้นระหว่างการทำงานอีกด้วย
4. มีส่วนช่วยในการควบคุมหนักได้มากขึ้น อาจจะดูเป็นเรื่องเกินจริง แต่ผลการวิจัยจาก Mayo Clinic ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยว่า การยืนทำงานสามารถช่วยเผาผลาญแคลอรี่ได้มากกว่าการนั่งทำงาน โดยผลการทดลองได้ระบุว่าการยืนทำงาน สามารถเผาผลาญแคลอรี่ได้มากกว่ากลุ่มที่นั่งทำงานได้มากกว่าถึง 0.15 แคลอรี่ต่อนาที ด้วยเหตุนี้เองการยืนทำงานจึงสามารถเผาผลาญพลังงานของร่างกายได้มากขึ้น และมีโอกาสช่วยในการลดน้ำหนักได้มากขึ้นด้วยนั่นเอง
ทั้งนี้การยืนทำงาน ไม่ใช่การออกกำลังกายแต่เป็นการขยับร่างกายเพื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถ และลดการกดทับของกระดูกสันหลังจากการนั่งนานได้ จึงสามารถช่วยลดอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลังส่วนบนและล่าง เอว นอกจากนี้ยังเป็นการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งของแต่ละช่วงในระหว่างวัน อย่างไรก็ตามการยืนนานเกินไปก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับการทำงานอีกเช่นกัน เพราะการยืนนาน ๆ ก็อาจเสี่ยงต่อข้อเข่า ข้อเท้าให้เจ็บได้เช่นกัน ดังนั้นการยืนสลับการนั่งทำงานจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น และทำให้ร่างกายของเราห่างไกลจากออฟฟิศซินโดรม รวมถึงช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญในระหว่างวันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการลดหรือควบคุมน้ำหนักได้อีกด้วย
การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคในกลุ่มโรค NCDs หากเจาะจงให้ชัดเจนก็คือการมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ขาดการดูแลสุขภาพตัวเอง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเคลื่อนไหวที่น้อยมากในแต่ละวันนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันเองประเทศไทยมีนโยบายและแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายหลากหลายกลุ่มอายุ รวมถึงสถานที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน เช่น ชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ เป็นต้น ดังนั้น การบูรณาการโต๊ะปรับระดับกับนโยบายส่งเสริมสุขภาพในองค์กรไม่เพียงแต่จะช่วยเรื่องส่งเสริมเรื่องสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงของคนในองค์กรณ์เท่านั้น ในทางกลับกันองค์กรเองก็จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของ Productivity ด้วยเช่นกัน