ปรับ‘ร้านขายยา’ ต้องมี ‘เภสัชกร’ ได้มาตรฐาน

/data/content/24182/cms/e_adhmopqtv234.jpg


          คณะกรรมการอาหารและยา ได้คุมเข้มให้มีเภสัชกรที่ได้มาตรฐาน รวมไปถึงสถานที่ อุปกรณ์ และเครื่องมือในการเก็บรักษาคุณภาพยา


          นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า หลังจากที่ อย.ได้ออกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ.2556 ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2556 โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 25 มิ.ย. 2557 กลุ่มร้านขายยาที่น่าจะมีผลกระทบมากที่สุด คือ ร้านขายยาประเภท ขย.2 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2,000 กว่าร้านทั่วประเทศ ซึ่งร้านขายยาประเภท ขย.2 เดิมขายยาสามัญประจำบ้าน ยาทั่วไป โดยไม่ต้องมีเภสัชกรประจำร้านและไม่ผิดกฎหมาย แต่หลังจากกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ร้าน ขย.2 จะต้องหาเภสัชกรมาประจำร้าน มิเช่นนั้นเมื่อถึงปลายปีจะไม่ผ่านการประเมิน และต่ออายุร้านขายยาไม่ได้


          นพ.บุญชัยกล่าวว่า ทั้งนี้ เกณฑ์ปฏิบัติต่างๆ ในกฎกระทรวงเพื่อให้ร้านขายยามีวิธีปฏิบัติที่ดีทางเภสัชกรรม (Good Pharmacy Practice: GPP) ซึ่งกำหนดให้ทุกร้านต้องมีเภสัชกรประจำร้าน มีการแสดงป้ายชื่อพร้อมรูปเภสัชกร ส่วนมาตรฐานด้านสถานที่ อุปกรณ์ เและเครื่องมือในการเก็บรักษาคุณภาพยานั้น ที่น่ากังวลคือเรื่องสถานที่ เนื่องจากกฎกระทรวงบังคับให้ร้านขายยาจะต้องมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 8 ตารางเมตร ดังนั้น ร้านขายยาเล็กๆ อาจมีปัญหาได้


          "แม้กฎกระทรวงจะมีผลบังคับใช้วันที่ 25 มิ.ย.นี้ แต่เป็นเฉพาะร้านขายยาเปิดใหม่เท่านั้น ที่ก่อนเปิดร้านจะต้องมีการประเมินว่าผ่านตามเกณฑ์ของกฎกระทรวงหรือไม่ หากไม่ผ่านก็ไม่สามารถขออนุญาตเปิดร้านได้ สำหรับร้านขายยาที่เปิดมาก่อนหน้านี้ จะให้เวลาปรับปรุงให้ตรงกับหลักเกณฑ์ GPP ประมาณ 8 ปี แต่จะเป็นการปรับอย่างเป็นขั้นตอน เช่น ในเวลา 2 ปีจะต้องปรับปรุงเรื่องสถานที่ ปีที่ 3, 4 หรือ 5 ปรับปรุง เช่น การควบคุมอุณหภูมิ แสงสว่าง เป็นต้น" เลขาธิการ อย.กล่าวและว่า สำหรับการประเมินร้านขายยาเพื่อต่ออายุ จะดำเนินการช่วงปลายปีทุกปี โดยจะมีทั้งการลงไปตรวจประเมินแบบที่แจ้งข่าวและไม่แจ้งข่าว หากไม่ผ่านมาตรฐานจะไม่ให้ต่อใบอนุญาต


 


 


ที่มา : ข่าวสดรายวัน 


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code