ปรับมุมมอง “นานาเรื่องเพศ”กับเยาวชน
คงต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ เรื่องเพศมีให้เห็นได้ทุกหนทุกแห่ง ทั้งในสื่ออย่างโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ แต่หากจะพูดถึงเรื่องเพศแล้ว มักเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยถึง ยิ่งการสนทนาระหว่างพ่อ แม่ ลูก กลับเป็นเรื่องเดียวที่ไม่มีการยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ด้วยเพราะวัฒนธรรมไทยมักถูกสอนว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ควรปกปิด และไม่ควรนำมาพูดอย่างเปิดเผย ซึ่งแท้จริงแล้วเราต่างก็รู้ว่าเรื่องเพศนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ
นำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาวะทางเพศในสังคมไทย โดยเฉพาะในวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่วัยใส การตั้งครรภ์ไม่พร้อม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงเรื่องความรุนแรงทางเพศ เป็นปัญหาสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสนใจมุ่งเน้นในการป้องกันและแก้ไข มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดเสวนาในหัวข้อ "พลิกมุมมองเรื่องเพศ เติมพลังชุมชน ปกป้องเด็กและเยาวชน" ขึ้น เพื่อเป็นเวทีสะท้อนปัญหาเรื่องเพศของสังคมไทยจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องเพศและเกิดความเข้าใจเรื่องเพศในวัยรุ่นมากยิ่งขึ้น
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนัก 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่า การขับเคลื่อนแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ หากจะมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อแก้ที่ต้นตอของปัญหา จะต้องปรับเปลี่ยนฐานวิธีคิดของบุคคลและบรรทัดฐานสังคมที่มีต่อเรื่องเพศ ซึ่งจากประสบการณ์ในต่างประเทศ การเปลี่ยนฐานคิดเรื่องเพศในสังคมถือเป็น "จุดคานงัด" ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาว ทางแผนงานฯ จึงมุ่งขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่นำร่อง เพื่อสร้าง "ต้นแบบ" ที่พิสูจน์ถึงความเป็นไปได้ในการนำแนวคิดสุขภาวะทางเพศ และการสร้างความร่วมมือภายในชุมชน รวมทั้งทำการถอดบทเรียนเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นอื่นสามารถนำแนวคิดและรูปธรรมจากการทำงานดังกล่าวไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศได้อย่างยั่งยืน
นางสาวจิตติมา ภาณุเดชะ ผู้ประสานงานมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) กล่าวว่า เรื่องเพศในวัยรุ่นเป็นสิ่งใกล้ตัวสำหรับเด็กในวัยนี้ที่มีความสนใจใคร่รู้ อยากลอง และทำให้เกิดการเรียนรู้แบบผิดๆ ถูกๆ จนเกิดเป็นปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ขณะที่ผู้ใหญ่ไม่รู้จะจัดการอย่างไรในการให้ความรู้กับเด็ก สาเหตุเพราะเพศเป็นเรื่องลับในสังคมไทยมาโดยตลอด ทำให้ผู้ใหญ่ขาดทั้งมุมมองที่เหมาะสมและทักษะที่จะรับมือกับปัญหา ดังนั้น ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องปรับมุมมองต่อเรื่องเหล่านี้เสียใหม่ ด้วยการให้พวกเขามีความรู้และทักษะเรื่องเพศเพียงพอที่จะดูแลตัวเองได้ รวมถึงปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อเรื่องเพศของสังคม ได้แก่ การมองปัญหาโดยไม่ตีตรากล่าวโทษผู้ที่ประสบปัญหา และการไม่มองเรื่องเพศว่าเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีมิติของชุมชนและสังคม ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กและเยาวชนมีชีวิตที่เป็นสุขและปลอดภัย ที่สำคัญจะต้องไม่ใช้วิธีข่มขู่ บังคับ แต่ต้องใช้วิธีการเชิงบวกเพื่อให้เด็กและเยาวชนเห็นประโยชน์ของการมีพฤติกรรมที่เหมาะสม
เมื่อพูดถึงเรื่องเพศแล้ว ไม่เพียงเฉพาะเพศชายและเพศหญิงที่เป็นเพศกำเนิดเท่านั้น เรื่องของเพศวิถีก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะปัจจุบันเยาวชนในยุคนี้กล้าที่จะเปิดเผยและยอมรับว่าเป็นเพศที่ 3 กันมากขึ้น ซึ่ง ผู้ประสานงานมูลนิธิ สคส. เผยว่า การที่พวกเขาออกมาเปิดตัวเองว่าเป็นอะไรนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมเห็นถึงความหลากหลาย แต่สิ่งที่ต้องระวังคือการแสดงออกมันนำไปสู่อะไร เพราะหลายครั้งมันเป็นปัญหาร่วมของเยาวชนทุกคนที่ใช้เรื่องเพศมาเรียกร้องความสนใจ มาบอกว่าตัวเองเจ๋ง เกิดเป็นปัญหาตามมา เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องตั้งคำถามกับตัวเองมากกว่าจะมาตั้งคำถามกับเด็ก
สังคมต้องพลิกมุมมองในเรื่องเพศวิถีด้วย เราอยู่ในสังคมที่ถูกหล่อหลอมมาว่าคนเพศที่ 3 เป็นกลุ่มเพศที่ผิด แปลกประหลาด ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ สิ่งที่คนในสังคมควรทำก็คือ เราต้องมีความเคารพกันว่าทุกคนชอบไม่เหมือนกัน ทุกคนมีรสนิยมของตัวเอง เรื่องเพศก็เหมือนกัน การมีวิถีทางเพศก็เช่นกัน ทุกคนจึงควรให้ความเข้าใจและยอมรับ และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือครอบครัวที่ต้องช่วยประคับประคอง ลูกหลาน ซึ่งหัวใจที่เราควรเกาะเอาไว้ให้มั่นในเรื่องเพศกับลูก ก็คือการเสริมทักษะความรู้ ให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย และสามารถประเมินสถานการณ์ชีวิตและตัดสินใจได้อย่างถูกทาง
ด้าน ศ.ดร.ศิริพร จิรวัฒน์กุล นักวิชาการอิสระ เผยว่า เพศ เราไม่ได้พูดถึงเฉพาะเพศหญิงหรือเพศชายอย่างเดียว เราต้องบอกว่าทุกเพศ ไม่ว่าจะมีวิถีเพศแบบไหน การที่เด็กรุ่นใหม่กล้าที่จะออกมายอมรับว่าเป็นเพศหลากหลาย หากพูดในแง่ของสิทธิมนุษยชนต้องบอกว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะมันแสดงให้เห็นว่าเขามีความมั่นใจในตัวเอง และเขายังมีพื้นที่สำหรับตัวเขาในสังคม ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาศักยภาพ ไม่ว่าจะทางด้านร่างกาย สังคม และจิตใจ ถือเป็นนิมิตหมายในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและนับถือในสิทธิมนุษยชน เพียงแต่สังคมต้องเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มเพศที่ 3 จริงๆ ในการพัฒนาอย่างจริงจังอย่างไม่มีอคติ
“มายาคติของสังคมไทยยังยึดติดว่าเด็กผู้หญิงที่ดีต้องเรียบร้อย ไม่ใฝ่รู้เรื่องเพศ หรือจะเป็นเพศที่ 3 เป็นสิ่งผิดปกติ ประหลาด น่าอับอาย ทำให้เด็กได้รับความกดดัน ขาดภูมิคุ้มกัน และเสี่ยงที่จะนำไปสู่สถานการณ์ที่เป็นปัญหา ผู้ใหญ่ควรเปลี่ยนความคิด ไม่ใช่ปิดกั้น แล้วมองแบบเดิมว่าเด็กโตขึ้นก็รู้เอง แต่ควรต้องติดอาวุธให้เด็ก ไม่ใช่ให้เด็กไปแสวงหาเองแบบผิดๆ เด็กวันนี้เอาตัวรอดลำบากกว่ารุ่นก่อน เพราะมีสิ่งเร้ามากมาย ดังนั้นผู้ใหญ่ สังคม ต้องเปิดใจ บ้านและโรงเรียนจะต้องไม่ใช่ที่พึ่งสุดท้าย แต่ต้องเป็นที่แรกที่จะสร้างความรู้เรื่องเพศอย่างถูกต้องให้กับเด็กๆ ” ดร.ศิริพร กล่าว
ด้าน ปาณิสรา สกุลพิชัยรัตน์ เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย กล่าวว่า แม้ว่าคนในสังคมจะให้การยอมรับกับเพศที่ 3 มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไขว่า คนที่เป็นเพศหลากหลายต้องอยู่ในข้อแม้ที่ว่าเป็นคนดี คนเก่ง มีความสามารถ เป็นซูเปอร์กะเทย ซึ่งอันที่จริงความเป็นมนุษย์ไม่จำเป็นต้องมีข้อจำกัดอื่นๆ มาใส่เพิ่ม ในขณะที่ครอบครัวให้การยอมรับถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับคนเพศที่ 3 เพราะบางครอบครัวพ่อแม่รับไม่ได้ ทำให้เด็กมีความกดดัน เครียด จนต้องหนีออกจากบ้าน เรียนไม่จบ ส่งผลต่อเนื่องต่ออนาคตเด็ก จึงอยากให้ทุกคน ทุกครอบครัวในสังคมเข้าใจและยอมรับในความเป็นมนุษย์จริงๆ อย่ากีดกัน ปฏิเสธ ควรให้โอกาสอย่างเท่าเทียมเหมือนเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งปฏิบัติต่อกันโดยไร้อคติ.
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต