ปรับพฤติกรรมบริโภค เพิ่มกิจกรรมทางกาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
แฟ้มภาพ
ด้วยสภาพแวดล้อมและวิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีที่ทันสมัยสะดวกสบาย การใช้ชีวิตที่เร่งรีบส่งผลต่อพฤติกรรมทางกายและพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม เกิดภาวะเครียด การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases – NCDs)
จากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ.2558 พบว่าทุกปีจะมีประชากร 38 ล้านคน เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งประชากรกว่า 16 ล้านคน เสียชีวิตก่อนอายุ 70 ปี โดยสาเหตุจากการเสียชีวิตเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจมากที่สุด รองลงมาคือโรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจและโรคเบาหวาน ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยจากสถิติล่าสุดพบว่ามีถึง 14 ล้านคนที่ป่วยเป็นโรคในกลุ่มโรค NCDs ที่สำคัญยังเป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตของประชากรทั้งประเทศและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมอนามัย และภาคีเครือข่าย จึงจัดการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เรื่อง "โภชนาการเชิงรุก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน รวมถึงการสร้างความตระหนักถึงปัญหาการเกิดโรคต่างๆ จากพฤติกรรมการบริโภค อีกทั้งร่วมหาแนวทางในการแก้ไขและพัฒนาต่อไป
พญ.จุรีพร คงประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงข้อมูลสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผ่านเวทีเสวนา เรื่อง "การ ส่งเสริมสุขภาพและป้องกัน NCDs ในประเทศไทย "ว่า จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ.2551-2552 พบว่าประเทศไทยมีสถิติการเสียชีวิตและผลกระทบจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 19.4 มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ร้อยละ 6.9 และภาวะไขมันคอเลสเตอรอลสูง ร้อยละ19.4 ในปีพ.ศ. 2552 ประชากรไทยเกือบ 1 ใน 3 เข้าข่ายภาวะน้ำหนักเกิน ส่วนอีกร้อยละ 8.5 เข้าข่ายโรคอ้วน และมีแนวโน้มการเกิดโคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดข้อมูลจากรายงานการสำรวจสุขภาพประชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ.2557-2558 พบว่า ประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไปมีภาวะความดันโลหิตสูง ร้อยละ 24.7 มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ร้อยละ 15.6 และ มีความชุกของโรคเบาหวาน ร้อยละ 8.8
ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ด้าน พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล กล่าวถึง แนวทางการดูแลสุขภาพให้เหมาะสมตามวัยว่า การส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต ซึ่งมีทั้งหมด 5 กลุ่มวัย ได้แก่ กลุ่มสตรีและเด็กปฐมวัย กลุ่มวัยเรียน กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ละกลุ่มปัญหาด้านสุขภาพก็แตกต่างกัน ออกไป โดยในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์และเด็กปฐมวัย ควรส่งเสริมโภชนาการ เริ่มจากหญิงวัยเจริญพันธุ์และหญิงตั้งครรภ์ ให้ได้รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก ไอโอดีน และกรดโฟลิก สำหรับเด็ก 0-6 เดือน ควรกินนมแม่อย่างเดียว หลังจากนั้นให้นมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยอย่างเหมาะสม ขณะที่ในกลุ่มวัยเรียนและวัยรุ่น ที่มีปัญหาอ้วนและเตี้ย ควรได้รับโภชนาการที่เหมาะสม กิจกรรมทางกายและการพักผ่อนที่เพียงพอ ในกลุ่มวัยทำงาน ควรเลือกกินอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย มีกิจกรรมทางกายเป็นประจำไม่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุมีเป้าหมายในการดูแล คือ ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีดูแลตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยมีการพัฒนาพฤติกรรม ที่พึงประสงค์ พัฒนาระบบบริการสุขภาพและสังคม เพื่อเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพสาธารณะเป็นอย่างมาก
"คนไทยกินอาหารไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมจึงมีผลกระทบต่อสุขภาพก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ตามมา ทั้งโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ จากการศึกษาวิจัยจำนวนมากยังพบว่าการกินผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ร้อยละ 50 และโรคหัวใจ ร้อยละ 30 ส่วนการกินอาหารหวาน มัน เค็มมากจะทำให้เกิดโรคอ้วน เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ตามมาเช่นกัน เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้นอีกทั้งปัจจัยที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงได้แก่ 1.ไม่ตระหนักและขาดความรู้ที่จำเป็นในการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ 2.มีค่านิยมการบริโภคอาหารจานด่วนเพิ่มมากขึ้น 3.พฤติกรรมการกินอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้น 4.ความเคยชินในการรับประทานอาหาร ที่ติดรสหวาน มัน เค็ม และ 5.อิทธิพลของสื่อโฆษณาต่อการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง" ดร.นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหารในปัจจุบัน
ขณะที่ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วมผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการส่งเสริมสุขภาพว่า สสส.เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี รูปแบบการทำงานที่ต้องพัฒนาแก้ไขในเชิงระบบ ปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี เช่น การที่จะส่งเสริมให้คนมาออกกำลังกายเพียงให้ความรู้ว่าการออกกำลังกายแล้วดีต่อสุขภาพคงไม่เพียงพอ ต้องไปดูเพิ่มว่ามีพื้นที่ให้ออกกำลังกาย อย่างเช่น สวน เส้นทางเดินหรือช่องทางการปั่นจักรยานด้วยหรือไม่ เป็นต้น หรือจะเป็นการรณรงค์ ให้ประชาชนลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม ชวนคนไทยกินผักและผลไม้ เพียงพอ 400 กรัมต่อวัน การลดการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นและสร้างความตระหนักให้ประชาชนหันมาใส่ใจกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น
ด้วยปัญหาด้านสุขภาพในปัจจุบัน จะมีการจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016) ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2559 นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เพื่อตอกย้ำ ความสำคัญของพฤติกรรมสุขภาพและให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น