ปรับปรุงรอบบ้านให้เป็นระเบียบ ป้องกันสัตว์มีพิษ

ที่มา : ไทยโพสต์


ปรับปรุงรอบบ้านให้เป็นระเบียบ ป้องกันสัตว์มีพิษช่วงหน้าฝน  thaihealth


แฟ้มภาพ


บ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุตลอดจนเด็กเล็กมักได้รับบาดเจ็บจากสัตว์มีพิษกัดต่อยในช่วงหน้าฝน ดังนั้นการดูแลสุขภาพตลอดจนการปรับสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันสัตว์ร้ายเข้าไปหลบอาศัยในบ้านเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากรอบบ้านรกร้าง หรือมีเศษขยะหมักหมมจนส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง อาจเป็นสาเหตุของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับคนสูงวัยได้อย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารให้กับสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษ 


นายวัชระ เพชรรัตน์ พนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชำนาญการ จากสถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางเขน กล่าวว่า สำหรับสัตว์เลื้อยคลานอันดับแรก ที่ผู้สูงอายุควรเฝ้าระวังคือ “งู” โดยเฉพาะ “งูเห่า” ที่พบได้เป็นอันดับต้นๆ รองลงมาเป็น “งูเขียวหางไหม้” และ “งูจงอาง” ที่ปัจจุบันพบได้ค่อนข้างน้อย แต่ก็ยังต้องให้การเฝ้าระวัง โดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยอยู่ในย่านพระราม 2 และบางแค เนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยดั้งเดิม และยังมีพื้นที่ป่ารกทึบในบางจุด สำหรับการป้องกันสัตว์เลื้อยคลานดังกล่าวเข้ามาหลบอาศัยภายในบ้าน แนะนำว่าควรปรับบริเวณรอบบ้านให้สะอาด โดยต้องไม่มีต้นหญ้าขึ้นรกทึบ หรือเก็บกองขยะที่วางไว้ข้างบ้านให้เป็นระเบียบ หรือทำลายทิ้ง


กระทั่งการดูแลสัตว์เลี้ยงที่เป็นแหล่งอาหารของงู เช่น หากบ้านไหนที่เลี้ยงสุนัข, แมว, นก ควรหมั่นทำความสะอาดสัตว์เหล่านี้ กระทั่งการทิ้งขยะ เช่น กล่องโฟมในบ้าน จนทำให้บูดเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น ก็ถือเป็นปัจจัยล่อให้งูเข้าบ้านได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรปรับความสะอาด และความเป็นระเบียบในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน ที่ลืมไม่ได้ก็ควรปรับปรุงทั้งตัวบ้านและพื้นบ้านโดยการเลือกใช้สีโทนสว่าง เช่น สีขาว หรือสีฟ้า เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษเข้าบ้าน หรือหากใช้พื้นกระเบื้องสีทึบอาจทำให้ผู้สูงอายุพลาดไปเหยียบถูกสัตว์มีพิษเนื่องจากมองไม่เห็น


ส่วนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากถูก “งูกัด” อันดับแรกควรทราบว่าเป็นงูชนิดใด หรือเป็นไปได้ควรถ่ายรูปเอาไว้ หลังจากนั้นก็ให้ใช้ผ้ารัดเหนือบริเวณแผล โดยใช้เกณฑ์ความใกล้หัวใจเป็นหลัก เพื่อป้องกันพิษวิ่งเข้าสู่หัวใจ ในลักษณะของการรัดแบบหลวมๆ จากนั้นให้ใช้ผ้าสะอาดปิดปากแผล แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที


ขณะที่ “ตะขาบ” เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กที่พบได้ตามฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนอย่างนี้ และมักพบในบริเวณรอบบ้านที่รก ดังนั้นแนวทางป้องกันตะขาบเข้าไปกัดผู้สูงอายุ ลูกหลานควรทำความสะอาดบ้าน และเลือกใช้วัสดุที่โปร่งแสง เช่น การทาพนังบ้านสีสว่าง เนื่องจากสัตว์มีพิษดังกล่าวมักจะกลัวแสง และชอบบ้านที่มีน้ำท่วมขัง ส่วนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ควรล้างบริเวณแผลให้สะอาด งดเว้นการบีบนวดคลึงเพื่อป้องกันการอักเสบ และทำให้อาการปวดทวีความรุนแรงขึ้น จากนั้นให้รีบพาไปพบแพทย์ในรายที่แพ้ ที่มีอาการปวดรุนแรง เพื่อรับเซรุ่มแก้พิษ ปิดท้ายกันที่ “แมงป่อง” และ “ตะเข็บ” ก็เช่นเดียวกัน คือให้เน้นไปที่การปรับปรุงรอบบ้านไม่ให้รกรุงรัง และเก็บของที่อยู่รอบบ้านให้เป็นระเบียบ หรือสร้างบ้านโดยการยกพื้นให้สูงเพื่อห่างจากน้ำท่วมขัง อีกทั้งต้องหมั่นทำลายแหล่งขยะบูดเน่าในครัวเรือน เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์มีพิษเข้าไปกิน กระทั่งทำร้ายผู้ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

Shares:
QR Code :
QR Code