ปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุ

ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ และสาธารณสุข ประกอบกับการที่ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจกับเรื่องสุขภาพและโภชนาการมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

ปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุ

เมื่ออายุมากขึ้น สรีระร่างกายก็เริ่มเปลี่ยนไป ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะมีอัตราการเตี้ยลงประมาณ 1.2 ซม. เมื่ออายุเพิ่มขึ้น 20 ปี หรือเฉลี่ยความสูงจะลดลง 2 นิ้วในช่วงอายุ 20-70 ปี และจะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 80-90 ปี ขณะที่น้ำหนักตัวของผู้สูงอายุนั้นจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% และจะคงที่ระหว่างอายุ 65-74 ปี ต่อจากนั้นน้ำหนักจะลดลง

หมอนรองกระดูกสันหลังของผู้สูงอายุจะบางลง ช่องว่างระหว่างปล้องของกระดูกสันหลังแคบลง กระดูกสันหลังสั้นลงทำให้หลังงอ ศีรษะจะเงยขึ้นไปทางหลัง คอสั้น รวมทั้งในส่วนของสายตาก็เสื่อมถอย มีปัญหาสายตายาว ต้อกระจก ทำให้มองไม่ชัด ทั้งยังปรับมองตามระดับแสงได้ช้า การได้ยินของประสาทหูเริ่มไม่ชัดเจน

จากเดิมที่เคยเดินก้าวยาวๆ ได้ ผู้สูงอายุก็จะก้าวสั้นๆ และช้าลงแทน ช่วงเวลาที่เท้าทั้งสองข้างแตะพื้นพร้อมๆ กันในขณะเดินนานขึ้น เท้ากางออกจากกันมากกว่าปกติ หลังงอและตัวเอนไปข้างหน้าเล็กน้อย แขนกางออกและแกว่งน้อย เวลาหมุนตัวเลี้ยวลำตัวจะแข็งและมีการบิดของเอวน้อย

ปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุ

ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นอุปสรรคที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ที่ต้องให้ความสำคัญ ดังนั้นจึงได้มีการจัดทำ “โครงการพัฒนาต้นแบบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ” ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เริ่มปรับตั้งแต่ภายในบ้านไปจนถึงสถานที่สาธารณะ

อ.กตัญญู หอสูติสิมา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีการจัดทำพื้นที่ต้นแบบทั้ง 4 ภาค โดยตนรับดูแลในพื้นที่ภาคอีสาน คัดเลือก อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น เป็นพื้นที่ต้นแบบ พร้อมคัดเลือกบ้านเพื่อจัดทำบ้านต้นแบบสำหรับผู้สูงอายุในชนบท

“ส่วนตัวมองว่าบ้านผู้สูงอายุในชนบทมีความลำบากกว่าบ้านผู้สูงอายุที่อยู่ในเมือง เพราะส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่มาก บางบ้านไม่มีเลย และสิ่งที่พบจากการสำรวจบ้านผู้สูงอายุพบว่า บ้านทั้งหมดมีสภาพที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเลย ซ้ำบางส่วนยังเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จำเป็นที่ต้องปรับปรุง” อ.กตัญญู กล่าว

การปรับปรุงบ้านนั้น ไม่จำเป็นต้องทำการปรับเปลี่ยนทั้งหลัง เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ จะใช้พื้นที่ซ้ำๆ เช่น ห้องครัว ห้องนอน ชานหน้าบ้าน เป็นต้น ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนเฉพาะพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้ง่ายและสะดวกต่อผู้สูงอายุ งบประมาณที่ใช้จึงไม่มาก

รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าหน่วยวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงบ้าน 4 ประการ เพื่อผู้สูงอายุ

ต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย ผู้สูงอายุมักเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มบริเวณห้องน้ำและบันไดเป็นประจำ ต้องปรับปรุงให้พื้นเรียบเสมอกัน โถส้วมให้เปลี่ยนจากนั่งยองเป็นนั่งราบ พร้อมมีราวจับ เพื่อป้องกันการลื่นไถล และใช้พยุงเวลาลุก สำหรับบันไดก็ให้มีราวจับ  ลูกนอนเพิ่มความกว้างจาก 25 ซม. เป็น 30 ซม. ส่วนลูกให้ลดความสูงจาก 18 ซม. เหลือ 15 ซม.

การเข้าถึงบริเวณที่ใช้ทำกิจวัตรประจำวัน พื้นที่โดยรวมต้องเรียบเสมอกัน ไม่มีขั้นที่จะทำให้สะดุดหกล้ม ควรมีราวจับเพื่อป้องกันการลื่นไถล และใช้พยุงตัว ในบริเวณที่ผู้สูงอายุใช้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่นจากห้องนอน ไปยังห้องครัว หรือห้องนั่งเล่น

สร้างแรงกระตุ้นให้ผู้สูงอายุลุกจากเตียงไปทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ออกไปพบปะพูดคุยกับคนในครอบครัว มีบริเวณให้นั่งทำงานฝีมือเล็กๆ น้อยๆ ได้ เพื่อที่ผู้สูงอายุจะได้ไม่ต้องหมกตัวอยู่แต่ในห้องนอนอย่างเดียว หรืออาจจะจัดพื้นที่สวนให้ผู้สูงอายุได้ออกไปรดน้ำต้นไม้นอกบ้าน ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ด้วยก็ได้

บำรุงรักษาง่าย พื้นบ้านไม่ควรปูพรม เพราะนอกจากจะอมฝุ่นแล้วยังดูแลรักษายาก ถ้าเป็นกระเบื้องก็ต้องเลือกชนิดที่ไม่ลื่น เพื่อป้องกันการลื่นล้ม วัสดุปูพื้นจำพวกไม้และทรายล้างเป็นวัสดุที่เหมาะสมที่สุด ส่วนพื้นที่บริเวณสวนถ้ามีสนามหญ้าก็ต้องคำนึงถึงเรื่องการดูแลรักษา ไม่ให้เป็นภาระของผู้สูงอายุ

การจัดพื้นที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุเป็นสิ่งจำเป็น แม้ว่าขณะนี้พวกเราในวัยหนุ่มสาวอาจยังไม่เห็นถึงความสำคัญเท่าที่ควร แต่ไม่ว่าอย่างไรวันหนึ่งทุกคนก็ต้องแก่ กลายเป็นผู้สูงวัย

ปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุ

ดังนั้น การจัดทำสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุไม่เพียงแต่เป็นการทำเพื่อผู้สูงอายุในบ้าน ในหมู่บ้านแล้ว ยังอาจเป็นการทำเพื่อสำหรับตัวเราเองในอนาคต เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งถึงวันนี้เราอาจต้องพึ่งและช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น จึงต้องเตรียมพร้อมไว้เช่นกัน
 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  

Shares:
QR Code :
QR Code