ปรับปรุงการสอนดนตรีนักเรียนในยุค 4.0

ที่มา : เว็บไซต์บ้านเมือง


ปรับปรุงการสอนดนตรีนักเรียนในยุค 4.0 thaihealth


สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพังงา ส่งเสริมการปรับปรุงเทคนิคการสอนดนตรีในยุค 4.0 “สอนดนตรีอย่างไรให้สนุก” โดยร่วมกับสาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต เพื่อครูได้เกิดทักษะความรู้และนักเรียนได้พัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ทำให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ มีสุนทรียภาพ และมีสมองที่สมดุล


ดนตรี เป็นวิชาที่ช่วยสร้างเสริมความสมบูรณ์ในเชิงความรู้สึก อารมณ์ให้กับผู้เรียนโดยตรง  ความเข้าใจ ความซาบซึ้งในดนตรีเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ผู้เรียนควรได้รับจากการเรียนดนตรี เพื่อสร้างเสริมทัศนคติที่ดี สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพังงา ได้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนและการปฏิบัติกิจกรรมวิชาดนตรี จึงได้ร่วมกับสาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต และกองทุนพี่ร้องให้น้องได้เรียน จัดโครงการปฏิบัติการการพัฒนาศักยภาพครูดนตรี เรื่องสอนดนตรีอย่างไรให้สนุก ณ ห้องประชุมลิมิลัน โรงเรียนอนุบาลพังงา เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีนายสันติภัทร โคจีจุล รองศึกษาธิการจังหวัดพังงา ได้เป็นประธานเปิดโครงการดังกล่าว ซึ่งโครงการที่ได้จัดขึ้นครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านดนตรีสำหรับครูผู้รับผิดชอบการเรียนการสอนวิชาดนตรี, เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตลอดถึงเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาทฤษฎีการสอนดนตรี มี รศ.ดร.ณรุทธ์ สุทธจิตต์ จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ประโมทย์ พ่อค้า เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้เข้าประชุม


รศ.ดร.ณรุทธ์ สุทธจิตต์ กล่าวถึงการเรียนดนตรีว่าจะช่วยสร้างและพัฒนาความสามารถหลายด้านให้กับเด็ก มิใช่เพียงแต่พัฒนาความถนัดด้านดนตรีโดยเฉพาะเท่านั้น หากแต่ช่วยพัฒนาด้านการได้ยินทั่วไป ความมีสมาธิ การตอบสนองต่อเงื่อนไขต่าง ๆ การเรียนรู้ด้านอารมณ์ และพัฒนาการด้านร่างกาย ด้วยเหตุที่การเรียนรู้ดนตรีต้องใช้สมองในการคิดวิเคราะห์ รับรู้ และตอบสนอง เพื่อให้สัมผัสกับความงดงามของเสียงที่ได้รับการสร้างสรรค์กลั่นกรองอย่างดีแล้ว หรือที่เรียกว่า โสตศิลป์ กระบวนการเรียนรู้ดนตรีจึงมีความสัมพันธ์การเรียนรู้โดยมีสมองเป็นฐาน หรือ Brain-based Learning (BBL)

Shares:
QR Code :
QR Code