ปรับทัศนคติ เด็กรู้ทันเพศ ลดปัจจัยเสี่ยง

      วัยรุ่นเป็นช่วงของชีวิตที่อยากรู้ อยากเห็น โดยเฉพาะเรื่องเพศ รวมทั้งเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่างๆ หากไม่มีการให้ความรู้อย่างถูกต้อง อาทิ ปัญหาวัยรุ่นหญิงตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ ต้องออกจากสถานศึกษา นำไปสู่พ่อแม่วัยใส และยิ่งกว่านั้นอาจติดเชื้อ HIV หรือโรคเอดส์ ที่เป็นแล้วเสียชีวิตอย่างเดียว


/data/content/26187/cms/e_abdiklnsu567.jpg


    ปัญหาความไม่รู้ดังกล่าว จะโทษเด็กฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดมาจากสภาพของสังคมไทยที่ยึดติดกับกรอบประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อเก่าๆ ที่มองเป็นเรื่องน่าอาย ไม่ควรพูดถึง ทั้งที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปหมดแล้ว จึงถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องเปิดใจเรื่องนี้ เพื่อช่วยให้เยาวชนรู้เท่าทันเรื่องเพศ และผ่านพ้นความเสี่ยงต่างๆ ไปได้อย่างปลอดภัย


    ด้วยเหตุนี้ แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ได้ดำเนินงานผลักดันวาระการสร้างสุขภาวะทางเพศขึ้นอย่างต่อเนื่อง   


    โดยนำเสนอเรื่องเพศไม่ใช่แค่เรื่องของเนื้อตัวร่างกาย แต่ยังหมายถึงความรับผิดชอบ การดูแลสุขภาพร่างกาย การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน การเคารพสิทธิกันและกัน และความเท่าเทียม เพราะสังคมนั้นมีความหลากหลายทางเพศมากกว่าแค่หญิงหรือชาย


    อย่างเช่น ผู้มีสุขภาพทางเพศที่ดีจะปฏิบัติต่อคนที่มีวิถีทางเพศแตกต่างจากตัวเองด้วยความเคารพ ไม่ว่าจะเป็นสาวประเภทสอง หญิงรักหญิง ชายรักชาย หรือผู้ที่รักสองเพศ และยังปฏิบัติกับเพื่อนคู่รักหรือชาย ที่สำคัญคือ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและตนเองในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย


    สังคมจำเป็นต้องลบความคิดเรื่องเพศเป็นเรื่องสกปรก อันตรายที่ต้องหลีกให้ห่าง แต่ความจริงจำเป็นจะต้องศึกษา เรียนรู้ให้เข้าใจ เพราะเรื่องเพศเป็นสิ่งที่สามารถแสดงออกอย่างอิสระ มีความสุขบนพื้นฐานของความปลอดภัย เพื่อดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นสุข


    นอกจากนี้ แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ ได้จัดทำความรู้สุขภาวะทางเพศในแต่ละช่วงวัยไว้ เพื่อสร้างพื้นฐานสุขภาวะทางเพศที่ดีได้ เด็กเล็กอายุ 5-8 ปี เริ่มรับรู้ได้ถึงบทบาททางเพศ ว่าสังคมสร้างให้หญิงชายมีความแตกต่างกัน ด้วยกิจกรรม ด้วยการกำหนดกรอบ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ชายทำได้ หญิงทำไม่ได้ หญิงทำได้ ชายทำไม่ได้ ซึ่งขัดขวางพัฒนาการและสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้เด็ก


    หากลบกฎเกณฑ์ทิ้ง ลองให้เด็กหญิงได้ปีนป่าย เล่นซน ร่างกายทุกส่วนก็ได้รับการพัฒนา แถมยังสร้างความมั่นใจและความกล้าได้ ลองให้เด็กชายได้เรียนรู้ที่ละเอียดอ่อนบ้าง เช่น ธรรมชาติ ไม่ใช่เล่นแต่สิ่งที่รุนแรงอย่างปืนหรือดาบ ก็พัฒนาจิตใจที่ละเอียดอ่อนขึ้นได้


    ที่สำคัญ ไม่ว่าเด็กชายหรือหญิงก็ต้องถูกสอนเรื่องความรับผิดชอบเหมือนๆ กัน เช่น การเก็บข้าวของส่วนตัว ช่วยเหลืองานบ้านตามวัย รวมทั้งสอนให้เด็กได้รู้ว่าเขาเป็นเจ้าของร่างกายตนเอง มีสิทธิที่จะปฏิเสธการจับต้องเนื้อตัวร่างกาย หรืออวัยวะเพศได้


    เลิกกดดันเด็กอย่างผิดๆ เช่น ผู้ชายร้องไห้ไม่ได้ เพราะผลที่ตามมาคือเด็กเข้มแข็งแต่ภายนอก แต่จิตใจเปราะบาง เรียนรู้ผิดๆ ว่าต้องใช้ความก้าวร้าวถึงจะเป็นผู้ชายเต็มตัว


    วัยแรกรุ่น อายุ 9-12 ปี เป็นช่วงวัยที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งช่วงนี้เป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง การได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและพร้อมใช้ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่จะเข้าสู่วัยรุ่นได้อย่างสวยงาม จำเป็นต้องเข้าใจและอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น และเปิดโอกาสให้เด็กรับผิดชอบในครอบครัว ให้ตัดสินใจด้วยตัวเองและรับผิดชอบผลที่จะตามมา ไม่ใช่ตัดสินใจแทนทุกอย่าง


    เด็กวัยนี้เริ่มที่จะมีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และความรู้สึกทางเพศ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่การให้ข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็น การตอบคำถามแบบตรงไปตรงมา เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่เหมาะที่ควรเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม


   /data/content/26187/cms/e_diknqstu1238.png เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ช่วงอายุ 13-18 ปี ช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน จำเป็นที่ต้องได้รับข้อมูลเรื่องเพศอย่างถูกต้องและรอบด้านเพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ทั้งด้านกาย ใจ และอารมณ์ จำเป็นต้องสร้างทักษะของเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยร่วมไปกับความรับผิดชอบ เพื่อให้สามารถแยกแยะได้ว่าเพศสัมพันธ์ไม่ใช่แค่เรื่องสนุก แต่มีผลที่จะตามมาอีกมากมาย การให้ความรู้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ทำให้เรื่องเซ็กซ์เป็นความผิด ละอาย ทำให้เกิดเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและมีความรับผิดชอบขึ้นได้


    ผู้ใหญ่จำเป็นต้องเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ให้เด็กกลุ่มนี้ ว่าต้องใช้เวลาในการสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ ความภาคภูมิใจในตัวเอง จึงสามารถมีเพศสัมพันธ์ที่มีความปลอดภัยและเป็นสุขได้ การให้ข้อมูลไม่ได้เป็นการชี้โพรงให้กระรอก แต่เป็นการสร้างความเข้าใจและทักษะในชีวิตให้เด็กสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจและมีความรับผิดชอบได้


    ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนัก 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ หากจะมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อแก้ที่ต้นตอของปัญหา จะต้องปรับเปลี่ยนฐานวิธีคิดของบุคคลและบรรทัดฐานสังคมที่มีต่อเรื่องเพศ


    ซึ่งจากประสบการณ์ในต่างประเทศ การเปลี่ยนฐานคิดเรื่องเพศในสังคมถือเป็น “จุดคานงัด” ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาว ทางแผนงานฯ จึงมุ่งขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่นำร่อง เพื่อสร้าง “ต้นแบบ” ที่พิสูจน์ถึงความเป็นไปได้ในการนำแนวคิดสุขภาวะทางเพศ และการสร้างความร่วมมือภายในชุมชน รวมทั้งทำการถอดบทเรียนเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นอื่นสามารถนำแนวคิดและรูปธรรมจากการทำงานดังกล่าวไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศได้อย่างยั่งยืน


    นางสาวจิตติมา ภาณุเดชะ ผู้ประสานงานมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) กล่าวว่า เรื่องเพศในวัยรุ่นเป็นสิ่งใกล้ตัวสำหรับเด็กในวัยนี้ ที่มีความสนใจใคร่รู้ อยากลอง และทำให้เกิดการเรียนรู้แบบผิดๆ ถูกๆ จนเกิดเป็นปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ขณะที่ผู้ใหญ่ไม่รู้จะจัดการอย่างไรในการให้ความรู้กับเด็ก สาเหตุเพราะเพศเป็นเรื่องลับในสังคมไทยมาโดยตลอด ทำให้ขาดทั้งมุมมองที่เหมาะสมและทักษะที่จะรับมือกับปัญหา


    ดังนั้น ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องปรับมุมมองต่อเรื่องเหล่านี้เสียใหม่ ด้วยการให้พวกเขามีความรู้และทักษะเรื่องเพศเพียงพอที่จะดูแลตัวเองได้ รวมถึงปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อเรื่องเพศของสังคม ได้แก่ การมองปัญหาโดยไม่ตีตรากล่าวโทษผู้ที่ประสบปัญหา และการไม่มองเรื่องเพศว่าเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีมิติของชุมชนและสังคม ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กและเยาวชนมีชีวิตที่เป็นสุขและปลอดภัย ที่สำคัญจะต้องไม่ใช้วิธีข่มขู่ บังคับ แต่ต้องใช้วิธีการเชิงบวกเพื่อให้เด็กและเยาวชนเห็นประโยชน์ของการมีพฤติกรรมที่เหมาะสม


    มีข้อสงสัยหรือคำปรึกษาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อขอรับเอกสารได้ที่ แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ โทร.0-2343-1500 หรือมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) โทร.0-2591-1224-5


    หากผู้ใหญ่เปิดใจสอนเรื่องเพศที่หลากหลายอย่างถูกต้อง ความรู้เหล่านี้จะติดตัวและเป็นเกราะป้องกันเด็กและเยาวชนในการดำเนินชีวิตได้.


 


 


     ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์


     ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code