ปรับทัศนคติ “ผู้สูงอายุใหม่” สุขภาพดีทั้งกายและใจ

ปรับทัศนคติ “ผู้สูงอายุใหม่” ไม่แก่ สุขภาพแย่ หรือไร้เรี่ยวแรง  หากแต่มีคุณค่าทั้งกายและใจที่ยังพร้อมทำงาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมไทย สู่สังคมน่าอยู่ที่มีคุณภาพ

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม (ที่ผ่านมา) ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 3 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงแรงงาน สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และเครือข่าย ผนึกกำลังจัดเวทีนโยบายสาธารณะ “มโนทัศน์ใหม่ของนิยามผู้สูงอายุ และอายุการทำงานที่เหมาะสม” เพื่อส่งเสริมและร่วมสร้างทัศนคติใหม่ที่มีต่อควาเป็น “ผู้สูงอายุ” เปลี่ยนเกษียณ 60 เป็น 65 ดีกว่าหรือไม่

โอกาสนี้ นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า คำว่าผู้สูงอายุมาจากพรบ.ผู้สูงอายุ ปี 2546 ในมาตรา 3 ที่บอกว่า ผู้สูงอายุคือผู้ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเป็นสัญชาติไทย โดยนำเกณฑ์ 60 ปีมาจากงานประชุมสมัชชาผู้สูงอายุโลกขององค์การสหประชาชาติในปี 2525 

“ในการประชุมครั้งนั้นต่างชาติมีข้อถกเถียงว่า จะให้กำหนดเกณฑ์ของผู้สูงอายุไว้ที่ 60 หรือ 65 ปี โดยประเทศที่กำหนดให้มีเกณฑ์อายุไว้ที่ 65 ปี มองว่า ประชากรในประเทศตนมีอายุยืนขึ้น เพราะรู้จักดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หันกลับมาดูงานในประเทศไทย ต้องบอกว่าในปี 2525 เรายังไม่มีข้อมูลด้านผู้สูงอายุเท่าไร เลยรับมติของที่ประชุมครั้งนั้นมาเป็นเกณฑ์ของประเทศไทย ปัจจุบันผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะปรับเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนอย่างไรให้ไม่กระเทือนกับภาคเศรษฐกิจ  แรงงาน และสังคม”

ด้าน ชุตินาถ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า นับจากนี้ไป ประเทศไทยกำลังจะเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ จึงควรจะต้องเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วยการสร้างพื้นฐานองค์ความรู้ เพื่อสนองตอบต่อการวางนโยบายที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้ได้ตรงจุดมากที่สุด

“ปัจจุบันภาพรวมการเกิดของประเทศไทยไม่ได้เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีช่องว่างของวัยเด็กกับวัยผู้สูงอายุค่อนข้างมาก เพราะแม้ปัจจุบันจะมีอัตราการเกิดของเด็กอยู่จำนวนหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อก็คือ จะทำอย่างไรให้ทุกการตั้งครรภ์เป็นการเกิดที่มีคุณภาพ เพื่อที่พวกเขาจะได้เติบโตขึ้นมาเป็นประชากรคุณภาพของประเทศได้ต่อไป”

สำหรับ ดร.อรพินท์ สพโชคชัย อาจารย์สาขานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสต์ ประเทศเกาหลีใต้ ให้ความเห็นว่า แม้ว่าปัจจุบัน ไทยกำลังจะเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วก็ตาม หากแต่สามารถส่งเสริมการเพิ่มอัตราการเกิดสู่สมดุลได้ ก็จะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างของประชากรในประเทศได้เช่นกัน ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ การจะต้องมีนโยบายการดำเนินงานที่ชัดเจน เพราะจริงๆ แล้วประเทศไทยมีการเกิดไม่น้อย หากแต่เป็นการเกิดที่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสังคมในภายหลัง

 

 

เรื่องโดย : team content www.thaihealth.or.th

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code