ปรับตัวรับมือภาวะข้าวของแพงแรงงานถูก

 

ปรับตัวรับมือภาวะข้าวของแพงแรงงานถูก

 

โน้นก็แพง นี่ก็แพง…เสียงที่ได้ยินจนชินหูของคนในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงอาหารที่รวมพลกันปรับขึ้นราคา ส่งผลให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในกลุ่มคนที่ค่าตอบแทนในการทำงานขยับขึ้นตามก็ถือว่าดี แต่ในรายค่าตอบแทนเท่าเดิมอาจต้องกุมขมับกันเลยก็ว่าได้ และนั่นอาจทำให้เกิด “ภาวะเครียด ซึมเศร้า” ส่งผลต่อจิตใจและสุขภาพอย่างรุนแรง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกกับเราว่า สถานการณ์ค่าครองชีพที่มันสูงขึ้นในปัจจุบันนี้นั้น อาจเรียกได้ว่า มันเป็นทั้งวิกฤติและโอกาสที่ดี เพราะอีกด้านหนึ่งมันทำให้การใช้ชีวิตยากลำบากขึ้น และอีกด้านมันจะช่วยทำให้แต่ละครอบครัวเกิดความตระหนักเห็นความจำเป็นของการลดค่าใช้จ่ายภายในบ้านให้มากขึ้น ซึ่งมันเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะการจะไปแก้ไขในระดับมหาภาค มันเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลา แต่การเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง  เปลี่ยนครอบครัว  เราสามารถทำได้เลย

“จากการศึกษาการใช้เงินของครัวเรือน พบว่า ส่วนใหญ่ที่เราเครียด เป็นหนี้นั้น มีสาเหตุมาจากการที่เราไม่มีการวางแผนการใช้จ่ายเงินของตัวเองและครอบครัว และทำให้เกิดปัญหารุนแรงตามมา ซึ่งถ้าเรากลับมาทบทวนการวางแผนการใช้จ่ายเงินในครอบครัวและตัวเองเสียใหม่ มันสามารถช่วยลดปัญหาการเป็นหนี้และเครียดได้มาก ยกตัวอย่างเช่น บางครอบครัวมีการใช้จ่ายสินค้าต่างๆ ด้วยระบบเงินผ่อนจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายของเคเบิลทีวีดาวเทียมต่างๆ การรับประทานอาหารนอกบ้าน ทั้งที่ไม่จำเป็น หากเราลดตรงนี้ได้ มันก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวเราแย่ลง แต่มันจะทำให้เราออมเงินได้มากขึ้นและมีเวลาที่จะทำกิจกรรมในครอบครัวได้มากขึ้นและที่สำคัญ ยังทำให้เราเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย ทำให้เรามีเวลาพูดคุยกัน ทำกับข้าวรับประทานกันมากขึ้น  ซึ่งทั้งหมดนี้เราถือเป็นโอกาส” หมอยงยุทธบอก

แล้วปัญหาแบบนี้จะแก้ไข้อย่างไร?? คุณหมอยงยุทธ ได้แนะแนวทางไว้ว่า อย่างแรกเลยเราต้องแก้ที่ตัวสาเหตุก่อน ด้วยการปรับความคิดใหม่ ยกตัวอย่าง บางคนกลางวันต้องดื่มน้ำอัดลม ตอนเย็นก็ต้องดื่มจนติด รวมราคาแล้วก็ 20 กว่าบาท เดือนหนึ่งก็ประมาณ 600 กว่าบาทแล้ว ถ้าเราหันมาดื่มน้ำเปล่า เอาน้ำไปดื่มเองจากบ้านก็สามารถลดค่าใช้จ่ายลงไปได้   เห็นได้ชัดว่า ถ้าเราลดสิ่งบริโภคที่ไม่จำเป็น เช่น น้ำอัดลม ของหวาน เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ รวมแล้ว เราก็จะลดค่าใช้จ่ายได้จำนวนมากทีเดียว ซึ่งจริงๆ ที่หลายคนบ่นว่า เงินไม่พอใช้ หากทำได้เราก็จะกลับมามีเงินเหลือเพิ่มขึ้น แถมจ่ายหนี้เก่าๆได้อีกด้วย

“ตัวเราเองต้องหันมามอง พิจารณาการใช้จ่ายของเราเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นไม่ได้มีผลต่อเงินเท่านั้น แต่มันยังส่งผลต่อสุขภาพของเราด้วย เช่น น้ำอัดลมทำให้เราได้รับน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป บางคนชอบดื่มชา กาแฟ ซึ่งก็น้ำตาลทั้งนั้น และสิ่งที่เราได้ติดมาด้วยคือโรคภัยต่างๆ ทั้งเบาหวาน หลอดเลือด ความดัน หรือถ้าเป็นพวกเหล้า บุหรี่ สิ่งที่ติดตามมาด้วยก็จะเป็น โรคมะเร็ง ตับและอื่นๆ เราควรใช้โอกาสวิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้ ในการตั้งจิตใจลดการใช้จ่ายของที่ไม่เป็นประโยชน์ทั้งหลาย ก็จะเป็นการช่วยประหยัดและรักษาสุขภาพไปพร้อมกันด้วย” หมอยงยุทธบอก

นอกจากการปรับการใช้ชีวิตแล้วนั้น การออกกำลังกาย ก็สามารถช่วยลดความเครียดลงได้ด้วย ซึ่ง หมอยงยุทธบอกไว้ว่าการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันมันมีความกดดันอยู่มาก ไม่ใช่เพียงเรื่องเศรษกิฐอย่างเดียว เราจึงจำเป็นต้องรู้วิธีผ่อนคลายเครียดไปด้วย แต่ที่ง่ายและได้ประโยชน์ก็คงเป็น 1.การออกกำลังกายประจำ เพราะมันช่วยลดความเครียดลงได้ โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่เราชอบ  ไม่ว่าจะเดิน วิ่งหรืออื่นๆ เพียงอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง  2.การรำไทเก็ก  หรือเล่นโยคะก็ได้ และสุดท้ายคือวิธีพื้นบ้านต่างๆ เช่น นั่งสมาธิ หรือสวดมนต์  ซึ่ง 3 วิธีนี้สามารถทำได้เลย เพราะสามารถทำได้ง่ายไม่ต้องฝึก แต่ที่ต้องฝึกคือวิธีคลายเครียดแบบจิตวิทยา เช่น  ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ  การหายใจคลายเครียด  ซึ่งสามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากอินเตอร์เน็ตและนำไปใช้ทำที่บ้านได้เลย ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยได้มากเลยทีเดียว

“และสิ่งสุดท้ายที่จะช่วยได้ดี คือบุคคลรอบข้าง เพราะการที่คนเรามีความเครียด ถ้ามีผู้รับฟังก็จะช่วยได้ลดระดับความรุนแรงลงได้บ้าง ทั้งนี้คนรอบข้างก็ต้องมีเงื่อนไข โดยต้องเป็นผู้รับฟังที่ดี มีใจที่รับฟัง ถ้ามัวแต่จะไปตำหนิหรือสอนมากเกินไป ก็จะยิ่งเพิ่มความเครียด และเมื่อใจเขาสงบลงเราก็สามารถแนะนำธีการผ่อนคลายทั้งหลายที่บอกไปให้แก่เขา มันก็จะดีขึ้นเอง”หมอยงยุทธบอกทิ้งท้าย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเครียดจากข้าวของที่แพงขึ้นคงจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป หากเรารู้จักตัวเอง รู้จักวางแผนและลดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย และรู้จักวิธีผ่อนคลายตัวเองเสียบ้าง เพียงเท่านี้ “ความเครียดก็กลายเป็นเรื่องเท่ามด” นะคะ

 

 

เรื่องโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code