ปรับความคิด เปลี่ยนมุมมอง ให้รู้เท่าทัน “ไฟ”
ตามคำพังเพยที่ว่า…
“ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา”
“ไฟไหม้ฟาง แล้วค่อยๆ เลือนลาง จางหายไป”
“วัวไม่หาย ไม่ล้อมคอก”
ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันจันทร์ที่ 8 ก.ค. 56
“เผาโรงพักย่างสยอง ตาย 4 ศพ ญาติแค้นชกตำรวจ โวยไม่ไขห้องขังปล่อยตัว หนุ่ม ปตท. แค่เมาถึงฆาต”
ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 9 ก.ค. 56
“ตั้งกรรมการสอบ ไฟไหม้โรงพักไทรน้อย-นนท์ ปล่อยผู้ต้องขังสิ้นใจ สลด 4 ศพ”
ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันพุธที่ 10 ก.ค. 56
“ไฟคลอก 4 ศพ สั่งล้อมคอกโรงพักทั่วไทย”
จากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือคิดว่าไม่เกิด รู้ไม่เท่าทันธรรมชาติของการเกิดไฟไหม้ นั่นคือความประมาท ความตายของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่อยู่ในกรงขังหรือติดอยู่ในเหล็กดัด พยายามดิ้นรนเพื่อหาทางออกแต่กลับถูกล็อคไว้ทุกทาง ต้องอยู่ในวงล้อมของควันและไฟ
– สถานที่เกิดเพลิงไหม้ที่ชั้นล่าง (ชั้นที่ 1)
– จุดต้นเพลิง แผงควบคุมไฟฟ้า เกิดไฟฟ้าลัดวงจรที่เสียงระเบิดดัง เกิดประกายไฟ ลูกไฟกระเด็นไปถูกวัสดุเชื้อเพลิงติดไฟอย่างดีและรวดเร็ว
– จักรยานยนต์ ของกลางที่นำมายึดไว้ อยู่สถานที่เดียวกับแผงควบคุมไฟฟ้า เมื่อเกิดลูกไฟกระเด็นไปถูกเชื้อเพลิง ทำให้จุดติดได้ง่าย ลุกลามได้เร็ว
– ห้องควบคุมผู้ต้องหาอยู่ติดกับที่เกิดเหตุ เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ ผู้อยู่ในห้องขังจะไม่มีโอกาสรอดเพราะกุญแจล็อคไว้
เหตุการณ์ครั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองเป็นผู้ตรวจสอบพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจพิสูจน์หลักฐานเองต้องเรียนรู้เรื่องของการเกิดไฟไหม้อย่างละเอียด มีความรู้อย่างถ่องแท้ เชื่อหรือไม่ว่าสาเหตุไฟไหม้เกือบทุกครั้งเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ระเบิด เกิดประกายไฟ ส่วนของเดิมๆ ที่เชื่อว่าสาเหตุเกิดจากการสูบบุหรี่ แล้วทิ้งไม่เลือกที่จนเกิดไฟไหม้นั้น ขออย่าไปสัณนิษฐานเช่นนั้น เพราะแม้กระทั่งโยนก้นบุหรี่ใส่น้ำมันหรือก๊าซก็ยังไม่ติดไฟเลย จุดธูปบูชาพระแล้วออกจากบ้านไป เกิดไฟไหม้โต๊ะหมู่บูชาหรือหิ้งบูชาพระ หรือจุดยากันยุงก็เช่นเดียวกัน โอกาสที่จะเกิดไฟไหม้นั้นยากมาก แต่ถ้าจุดเทียนไขนั้นสิแน่นอนที่สุด เพราะมีเปลวไฟ ถ้ามีเชื้อเพลิงอยู่ใกล้ จุดติด ไฟไหม้ทันที
“ความจริงคือสิ่งไม่ตาย” หลังจากเกิดความสูญเสียทุกครั้ง จะมีการวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ ของผู้ไม่รู้จริง ไม่เคยพบเคยเห็นเหตุการณ์หรือมีประสบการณ์มาก่อน ถือว่าเป็นความผิดพลาดมาตลอด เช่น อาคารหรือโรงแรม เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้แล้วตรวจสอบพบว่าไม่มี “สปริงเกอร์” (ดับเพลิงอัตโนมัติ) ก็จะต้องมีการบังคับให้อาคารนั้นติดสปริงเกอร์ไว้ดับไฟ เป็นการเชื่อแบบโบราณคือ ไม่รู้จริง
การที่ “สปริงเกอร์” จะทำงานได้ก็ต่อเมื่อสถานที่เกิดเหตุนั้นต้องมีความร้อนสูง แต่คนที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุเกิดจากการสำลักควัน ขาดอากาศหายใจ ถ้าห้องที่เกิดเหตุควันเต็มห้อง ไม่มีอากาศหายใจ สปริงเกอร์ก็จะไม่ทำงาน เพราะความร้อนหรืออุณหภูมิไม่ถึงตามที่กำหนด ถ้าหวังยึดถือเชื่อมั่นอย่างโบราณที่กล่าวมาข้างต้น ต่อไปต้องบังคับให้สถานที่คุมขังทั่วประเทศต้องติดสปริงเกอร์ด้วย
แนวทางที่จะปรับปรุงแก้ไข ต้องขอฝากไว้ที่หน่วยงานของภาครัฐ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
– ต้องปรับปรุงหลักสูตรการดับเพลิงขั้นต้นอย่างจริงจัง ให้เป็นหลักสูตรหลัก หลักสูตรบังคับ ไม่ใช่บรรจุไว้เพื่อให้ผ่าน จะทำให้ปกป้องสถานที่ทำงานของตัวเองไม่ได้
– การตรวจสอบพิสูจน์หลักฐาน เป็นตัวชี้วัดความเป็นความตาย อย่าสันนิษฐานว่าเกิดจากนั่น จากนี่
สำนักการโยธา
– รับผิดชอบเรื่องการออกแบบก่อสร้าง ต้องเรียนรู้เรื่องการดับเพลิงขั้นต้น การพัฒนาของควันและไฟ การต่อติดลุกลาม ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยที่ถูกต้องตามความเป็นจริง
รวมทั้งการติดตั้งถังดับเพลิงในอาคารได้อย่างถูกต้อง อย่าบังคับให้ติดตั้งถังสีแดงอย่างเดียว หน่วยงานใดถ้าไปตรวจแล้วให้ติดตั้งถังดับเพลิงสีแดงชนิดผงเคมี แสดงถึงความล้มเหลว (รู้ไม่จริง) เพราะถังเคมีเมื่อฉีดพ่นไปแล้วจะกลายเป็นฝุ่นขาวฟุ้งกระจายไปทั่ว ทำให้มองไม่เห็นทางหนีหรือทางออก
สุดท้ายนี้ ต้องขออภัยในสิ่งที่เขียนมา เพราะไม่ได้มีเจตนาใส่ร้ายป้ายสีหน่วยงานใดหรือผู้ใด แต่เขียนตามความเป็นจริงจากประสบการณ์การทำงานที่มีมานานหลายสิบปี “ความจริงคือสิ่งไม่ตาย” แต่ถ้าเอาความไม่จริง รู้ไม่จริง ไม่เคยมีประสบการณ์มาใช้งาน อาจก่อให้เกิดความตายจากไฟไหม้สถานเดียว โดยเฉพาะเรื่องของอัคคีภัย มักมาเร็ว ไปเร็ว เหมืองกงกรรม กงเกวียน หมุนเวียน ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นใหม่ อย่างนี้ตลอดไป
ที่มา : พ.ต.ท.บุญเรือง แสงดาว ผู้ชำนาญงานด้านการระงับอัคคีภัยและบรรเทาสาธารณภัย ที่ปรึกษาสมาคมปลอดภัยไว้ก่อน