“ปรับความคิด”เติมชีวิตให้มีสุข

/data/content/26388/cms/e_afinoqrstv28.jpg


          ชีวิตของคนเราทุกคนต่างก็ปรารถนาและแสวงหาความสุขด้วยกันทั้งสิ้น แต่เชื่อหรือไม่ว่าความสุขที่ว่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่ต้องไปเสียเงินทองซื้อหาหรือต้องออกเดินทางตามหาแต่อย่างใด แต่ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนตัวเอง โดยเฉพาะทัศนคติหรือมุมมองการดำเนินชีวิตของบุคคลผู้นั้น


          พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ อธิบายว่า องค์ประกอบของความสุขนั้นไม่ยาก หากรู้หลักการที่เรียกว่า “3 ใจ” อันประกอบไปด้วย 1.พอใจ คือ การรู้จักพอ มีความสมดุลทั้งในเรื่องสุขภาพ การเรียน การงาน และที่สำคัญคือความสัมพันธ์กับคนรอบตัว 2.สบายใจ คือ การจัดการอารมณ์ทางลบ เช่น ความโกรธ กลัว และความวิตกกังวล เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ก่อให่เกิดประโยชน์กับชีวิตอะไรเลย และ3.ความภูมิใจ คือ ความสุขที่มาจากการความภาคภูมิใจในตัวเอง มองตัวเองมีคุณค่าและไม่พยายามนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ซึ่งการสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองที่ว่านี้ เราอาจจะเริ่มจากการมองหาข้อดีของตัวเอง หรืออาจเริ่มจากการมีความรู้สึกดีๆ จากการได้ช่วยเหลือผู้อื่นก็ได้


/data/content/26388/cms/e_ajknqrstwx28.jpg


          “หยุดนิ่ง…เพื่อเพิ่มสติ”


          พญ.วิมลรัตน์ บอกต่อว่า คนเราเมื่อมีอารมณ์โกรธ ปฏิกริยาทางร่างกายจะไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นแรงและเร็ว เมื่อเป็นเช่นนั้น เราควร“หยุดนิ่งสักพัก”เพื่อรอให้อารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น ลดความรุนแรงลง ซึ่งการหยุดนิ่งเพื่อเพิ่มสตินี้ทำได้โดยหยุดนิ่งชั่วขณะ เพื่อให้หัวใจมีจังหวะเต้นช้าลง ผ่อนอารมณ์ให้คลายลง แล้วสูดลมหายใจยาวๆ สักสองสามครั้ง เพื่อให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายและไหลเวียนได้ดีขึ้น เสมือนเป็นการเติมพลังให้กับสมองส่วนที่ใช้ความคิดอย่างมีเหตุผลและไต่ตรอง


          “เกิดอะไรขึ้นเวลาที่เราโกรธ”


          พญ.วิมลรัตน์ บอกต่อว่า เมื่อมีใครสักคนทำให้เราเจ็บปวดทั้งทางกายหรือทางจิตใจ เราจะเกิดความรู้สึก “ความไม่พอใจ” ถ้าเรารู้ไม่เท่าทันหรือไม่รีบจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้ ต่อไปจะกลายเป็นความโกรธ ซึ่งจะนำไปสู่ความเกลียด ความเคียดแค้น ชิงชัง ทำลายหรืออาฆาตพยาบาท ดังนั้น เราปรับมุมมองลดความโกรธจากความคาดหวังได้โดย 1.ทบทวนว่ายอมรับได้หรือไม่ หากเป็นไปได้ควรยืดหยุ่นหรือยอมรับได้ 2.ให้ความสำคัญกับการคิดหาทางออกแก้ปัญหา มากกว่าความโกรธที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง 3.หาสิ่งที่น่าสนใจดีกว่าหมกมุ่นเรื่องผิดหวัง 4.ตั้งความหวังใหม่ ลดความหวังเดิม และ5.ทำใจเผื่อสำหรับความผิดหวัง


          “ฟังอย่างไรให้เข้าถึงจิตใจผู้อื่น”


          พญ.วิมลรัตน์ บอกอีกว่า การรับฟังยังช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ และช่วยเพิ่มมิตรอีกด้วย “การฟังให้เข้าถึงจิตใจอย่างลึกซึ้ง” เป็นทักษะการฟังที่ดี ฟังให้เป็น และฟังให้เข้าใจ โดยต้องฟังทั้งเนื้อหา อารมณ์ และความรู้สึก ซึ่งประกอบด้วย “ฟังด้วยท่าทีใส่ใจ” กระตือรือร้น สบตา ตอบสนองและรับคำ เพื่อแสดงถึงการรับรู้และการรับฟัง “ฟังอย่างเข้าใจ” สังเกตภาษาท่าทางและน้ำเสียง เพื่อจับอารมณ์และความรู้สึก ไม่ตัดสินผู้พูด ตลอดจนไม่ด่วนสรุป “ฟังอย่างให้เกียรติผู้พูด” ไม่ขัดจังหวะ ไม่พูดแทรก ไม่ใจลอย และไม่มองเป็นเรื่องขำขันหรือไร้สาระ “ฟังอย่างตั้งใจ” จับประเด็นเพื่อกระจ่างชัดถึงเป้าหมายและความต้องการ มีการทวนความหรือสรุปความเพื่อให้เข้าใจตรงกัน ตลอดจนตั้งคำถามเพื่อเพิ่มความชัดเจน “ฟังลึกซึ้งให้ถึงแก่น” ฟังใจผู้พูด สะท้อนความรู้สึกเพื่อจับอารมณ์ที่ล้ำลึก รับรู้ถึงความเชื่อและทัศนคติ


          หลักปฏิบัติเพียงเท่านี้ เราก็สามารถกลายเป็นผู้ที่มีอารมณ์ดี มีความสุขช่วยให้สุขภาพแข็งแรง สร้างความสัมพันธ์ได้ดีกับคนรอบข้าง แถมยังช่วยให้มีอายุยืนยาวได้อีกด้วย


 


 


         เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th


         ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข


         ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


 

Shares:
QR Code :
QR Code