ประเพณีแข่งเรือ เชียร์สุขใจไร้น้ำเมา

ลดอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาทและการก่ออาชญากรรม

 ประเพณีแข่งเรือ เชียร์สุขใจไร้น้ำเมา

          “ประเพณีแข่งเรือ”  เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต  ซึ่งแข่งขันกันในช่วงเทศกาลหลังออกพรรษา เป็นการละเล่นในยามน้ำหลากที่สืบทอดมาแต่โบราณ และมักมีการแข่งเรือควบคู่ไปกับการทำบุญ ปิดทองไหว้พระและงานกฐิน ช่วยสร้างบรรยากาศให้งานบุญครึกครื้นขึ้นประเพณีแข่งเรือ

 

          อีกทั้งยังเป็นการละเล่นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยในชนบทที่อยู่อาศัยใกล้แม่น้ำลำคลอง  ในช่วงเดือนสิบเอ็ดและเดือนสิบสอง  ชาวบ้านเว้นว่างจากการทำไร่ทำนา เป็นโอกาสที่หนุ่มสาวได้พบปะเกี้ยวพาราสีกัน  ได้เห็นฝีไม้ลายมือของชายอกสามศอก  ได้เห็นความสามัคคีพร้อมเพรียงของเหล่าหนุ่มฝีพาย

 

          การแข่งเรือมักมีการเล่นเพลงเรือ  เพลงปรบไก่เพลงครึ่งท่อน และสักวาโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาวหลังการแข่งเรือ  เป็นกรใช้ฝีปากไหวพริบและความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน  โต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน ได้แสดงความสามารถทั้งหญิงและชาย ผู้ดูมีทั้งอยู่บนตลิ่ง และที่พายเรือกันไปเป็นหมู่ ต่างสนุกสนานกันทั่วหน้า  และได้ถือปฏิบัติกันมาทุกปีอย่างช้านาน เพื่อเป็นการสืบทอดรักษาวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามให้คงอยู่สืบต่อไป

 

          จังหวัดน่าน  ถือเป็นจังหวัดต้นแบบที่ได้นำร่องในการประกาศให้ “งานประเพณีแข่งเรือ”  เป็นเขตปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  มีการห้ามขายและดื่มภายในบริเวณจัดงานอย่างเด็ดขาด  จนประสบความสำเร็จทั้งในด้านของการลดจำนวนอุบัติเหตุ  การทะเลาะวิวาทและการก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ

 

          สำหรับงานประเพณีแข่งเรือชิงถ้วยพระราชทานประจำปี  2552  ที่ได้ประกาศให้เป็นเขตปลอดเหล้าเบียร์และน้ำเมาทุกชนิด  สนับสนุนโดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและ สสส.  จัดขึ้นในหลายพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ  ของประเทศไทย  เริ่มจากเมื่อวันที่  2-4  ตุลาคมที่ผ่านมาเป็นการแข่งเรือออกพรรษาไทย-ลาว  (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต)  ปลอดเหล้าชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี และมิตรภาพอันดีระหว่างจังหวัดมุกดาหาร กับแขวงสะหวันนะเขต  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ณ ท่าน้ำเขื่อนริมโขงตลาดอินโดจีน เทศบาลเมืองมุกดาหาร

 

          ถัดมาในวันที่  3-4  ตุลาคม จัดที่บริเวณแม่น้ำมูล เชิงสะพานพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี วันที่  3-5  ตุลาคม งานประเพณีตักบาตรเทโวและการแข่งขันเรือยาวพื้นบ้าน ณ แม่น้ำสะแกกรัง ลานสุพรรณิการ์  หน้าศาลากลางจังหวัดอุทัยธานี  วันที่  2-9  ตุลาคม ประเพณีแห่พระแข่งเรือ ชิงโล่และถ้วยพระราชทาน ขึ้นโขนชิงธง มรดกวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำหลังสวน ประจำปี 2552 ณ เทศบาลเมืองหลังสวน และแม่น้ำหลังสวน จังหวัดชุมพร

 

          ล่าสุดวันที่  16-18  ตุลาคม เป็นงานประเพณีแข่งเรือน่านปลอดเหล้าเบียร์ ณ สะพานพัฒนาภาคเหนือ  ลำน้ำน่าน  เทศบาลเมือง  จังหวัดน่าน  ปิดท้ายรายการในวันที่ 23-25 ตุลาคม งานประเพณีแข่งขันเรือยาว    สะพานข้ามแม่น้ำมูล บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชินนีนาถฯ เทศบาลตำบลท่าตูม อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

 

          จากข้อมูลฝ่ายจัดงานประเพณีแข่งเรือปลอดเหล้าในหลายจังหวัด  พบว่า ช่วยสร้างสุขภาวะให้คนในจังหวัดนั้นๆ มีความสุขและปลอดภัยกับการร่วมงานแข่งเรือ  เพราะเมื่อก่อนมักจะพบการทะเลาะวิวาทจนได้รับบาดเจ็บ  ผู้หญิงถูกลวนลามหรือถูกทำร้าย

 

          แต่เมื่องานดังกล่าวถูกประกาศให้เป็นเขตไร้แอลกอฮอล์ห้ามซื้อขายและดื่มในบริเวณงาน  ก็ช่วยให้ประชาชนที่มาร่วมงานได้เชียร์ได้ชมเรือแข่งกันอย่างมีความสนุกสนานโดยไม่ต้องพึ่งน้ำเมา  อีกทั้งยังลดอุบัติเหตุการสูญเสียชีวิตและพิการ  ทำให้งานแข่งเรือเป็นงานบุญต้นแบบที่ดีงาม  ภาพของธุรกิจเหล้าเบียร์ที่แอบแฝงโฆษณาภายในงาน ก็น่าจะเหลือพื้นที่น้อยลงไปเรื่อยๆ

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

 

update: 16-10-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย

 

Shares:
QR Code :
QR Code