ประเทศอังกฤษเน้นยืดหยุ่น เพิ่มวินัยการออม
ที่มา : มโนทัศน์ใหม่ นิยามผู้สูงอายุและอายุการทำงานที่เหมาะสม โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ประเทศอังกฤษประสบความสำเร็จในการกำหนดอายุเกษียณที่ 65 ปี และด้วยภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานบวกกับการจำกัดงบประมาณ จึงมีแนวทางเพิ่มอายุเกษียณในอนาคตขึ้นอีก
โดยเพิ่มอายุเกษียณเป็น 66 ปี ในปี พ.ศ.2573 เพิ่มอายุเกษียณเป็น 67 ปี ในปี พ.ศ.2583 และเพิ่มอายุเกษียณเป็น 68 ปี ในปี พ.ศ.2593 อีกทั้งยังออกนโยบายเกี่ยวกับเงินบำนาญให้เป็นระบบที่สัมพันธ์กัน คือ
1.บำนาญพื้นฐานภาครัฐ (Basic State pension) มีการสมทบเงินกองทุนพื้นฐานเป็น National Insurance หรือเงินกองทุนสมทบประกันสังคมโดยรัฐ
2.เงินสมทบส่วนเพิ่ม (Other Pension) แรงงานภาคเอกชนจะสมทบไว้เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณ และบริษัทจะสมทบส่วนเพิ่มตามลักษณะอาชีพ ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของอังกฤษ โดยแรงงานที่จะสามารถจ่ายเงินสมทบนี้ได้ต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป และมีรายได้มากกว่า 149 ยูโรต่อสัปดาห์ หรือหากประกอบอาชีพอิสระก็ต้องทำกำไรได้มากกว่า 5,725 ยูโรต่อปี
ในแนวทางการขยายอายุการทำงานและระบบบำนาญของอังกฤษนั้นจะมีคณะกรรมการให้ความรู้และปรับกฎหมายให้ยืดหยุ่น มีข้อสรุปจากงานวิจัยของอังกฤษพบว่า ในปี พ.ศ.2549 ประชากรอังกฤษมีแนวโน้มหันมาสนใจเรื่องการขยายอายุเกษียณและระบบบำนาญมากขึ้น และในปี พ.ศ.2555 ได้เริ่มปรับให้แรงงานชายหญิงขยายอายุการทำงานและมีระบบบำนาญแบบเดียวกัน ช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการออมเงินเพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายช่วงหลังเกษียณมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังพบข้อโต้เถียงอยู่บ้างจากนักวิชาการในเรื่องต่างๆ คือ การกำหนดอายุ การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของการจ้างงานผู้สูงอายุ การเท่าเทียมกันของการมีอายุที่ยืนยาวระหว่างแรงงานชายหญิง การจัดการด้านสุขภาพที่เป็นประเด็นสำคัญ
นั่นเพราะมีการสะท้อนความคิดเห็นในบทความและที่ประชุมต่างๆ ว่านโยบายการขยายอายุการทำงานอาจไม่ใช่นโยบายเชิงบวก แต่เป็นนโยบายเชิงลบที่ต้องทำการศึกษาให้รอบด้านเสียก่อน กระนั้นการขยายอายุเกษียณในอังกฤษก็ยังมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และยิ่งเร่งให้เกิดเร็วขึ้น จนในที่สุดก็กำหนดให้เพิ่มจำนวนปีเกษียณอายุเพื่อรับบำนาญเป็น 66 ปี ในปี 2559 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดถึง 4 ปี
อังกฤษมีจุดเด่นที่การได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมให้ข้อคิดเห็นจากนโยบายประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง จึงไม่เกิดแรงต่อต้านจากประชาชนมากนักในการจัดทำนโยบายนี้