ประเด็นน่ารู้ จากเหตุการณ์ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2008 ตอนที่ 2 : การทำลายสถิติ

ตอนที่ 2 : การทำลายสถิติ

 

 ประเด็นน่ารู้ จากเหตุการณ์ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2008 ตอนที่ 2 : การทำลายสถิติ

            เนื่องจากปรากฏว่าในระยะหลังนี้มีนักกีฬาสามารถทำลายสถิติ ในการแข่งขันกีฬาประเภทที่ตัดสินการชนะ-แพ้ ด้วยสถิติ กันอยู่เสมอ เช่น กรีฑา ว่ายน้ำ ยกน้ำหนัก โดยเฉพาะในรายการแข่งขันว่ายน้ำในโอลิมปิก ครั้งนี้ ไมเคิล เฟลป์ จากสหรัฐอเมริกาซึ่งชนะเหรียญทองทุกรายการที่เขาลงแข่งขัน และเป็นการชนะด้วยการสร้างสถิติใหม่ทุกรายการ และ ในการวิ่ง 100 เมตรของ อู เซน โบ๊วล์ นักวิ่งจาก จาไมก้า ก็สร้างสถิติใหม่ด้วยเวลา 9.69 วินาที นับเป็นคนแรกในโลกที่สามารถวิ่งได้เร็วขนาดนั้น (และอาจทำสถิติได้ต่ำกว่านี้เพราะระยะ 5 เมตรสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย เป็นการวิ่งไม่เต็มที่เนื่องจากเห็นว่าชนะขาดแล้ว) ซึ่งเคยมีข้อสันนิฐานว่ามนุษย์ไม่สามารถวิ่ง 100 เมตร ด้วยเวลาที่ต่ำกว่า 9.70 วินาที จึงเป็นที่น่าสนใจว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักกีฬาในปัจจุบันมีความสามารถเพิ่มสูงขึ้นกว่านักกีฬาในอดีต และนักกีฬาในอนาคตยังจะมีความสามารถสูงขึ้นกว่านักกีฬาปัจจุบันได้อีกหรือไม่ ? คำถามนี้มีคำตอบง่ายๆดังนี้

 

            ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักกีฬามีความสามรถสูงขึ้นจนพากันสร้างสถิติใหม่ ทำลายสถิติเดิม ได้อยู่เนืองๆ มี 4 ประการ คือ 1) ลักษณะร่างกายนักกีฬา (body type) 2) นวัตกรรม และ เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตอุปกรณ์สำหรับนักกีฬา รวมทั้งอุปกรณ์สนาม (innovation and technology ) 3)การฝึกเทคนิคการการเคลื่อนไหวร่างกายตามลักษณะเฉพาะของแต่ละประเภทกีฬา ด้วยหลักชีวกลศาสตร์ (bio-mechanic training) และ 4)การใช้สารกระตุ้น (doping)

 

            1. ลักษณะของร่างกายนักกีฬา (body type) กีฬาประเภทที่แข่งขันกันด้วยสถิติ เช่นว่ายน้ำ และกรีฑา นักกีฬาที่มีขนาดร่างกายสูงใหญ่จะได้เปรียบ เพราะความสูงใหญ่ของร่างกายนักกีฬา ทำให้ช่วงของการเคลื่อนไหว (range of motion) ของแขน ขา และลำตัว กว้างและยาวกว่า จึงทำให้ได้ระยะทางมากกว่าในการเคลื่อนไหวแต่ละครั้ง เช่นช่วงของการเหวี่ยงแขนในการว่ายน้ำแต่ละครั้ง หรือช่วงของการก้าวขาในการวิ่งแต่ละก้าวจะได้ระยะทางที่ไกลกว่า นอกจากนั้นขนาดของมือและเท้าของนักว่ายน้ำก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากที่ทำให้ว่ายได้เร็วขึ้น เพราะมือเท้าของนักกีฬาเปรียบเสมือนใบพายของเรือ ใบพายที่ใหญ่ย่อมทำให้เกิดแรงดึงและแรงส่งได้มากกว่า จึงพาให้เรือแล่นไปข้างหน้าได้เร็วกว่า ดังนั้นกรณีไมเคิล เฟลป์ ซึ่งสูงกว่า 185 เซนติเมตร และผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างถูกต้อง จึงสามารถว่ายน้ำได้เร็วกว่านักว่ายน้ำตัวเล็กกว่าในอดีต เขาจึงสามารถสร้างสถิติใหม่ได้ทุกรายการที่ลงแข่งขัน เช่นเดียวกับ อู เซน โบ๊วล์ นักวิ่ง 100 เมตร ก็มีความสูงกว่า 190 เซนติเมตร จึงมีช่วงก้าวที่ยาวมากกว่านักวิ่งคนอื่น จึงวิ่งได้เร็วมากกว่าคนอื่นๆ

 

            2. นวัตกรรม และ เทคโนโลยี (innovation and technology ) สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆทางการกีฬา ทั้งที่เป็นอุปกรณ์ส่วนบุคคล ได้แก่เสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการแข่งขัน ตลอดจนอุปกรณ์สนามได้แก่ พื้นลู่วิ่ง หรือ สระว่ายน้ำ ซึ่งเป็นผลผลิตของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีผลอย่างยิ่งในการช่วยให้การเคลื่อนไหวของนักกีฬามีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังกรณีชุดว่ายน้ำในโอลิมปิกครั้งนี้ซึ่งทำจากวัสดุที่ลดแรงเสียดทานจากน้ำ นักว่ายน้ำจึงว่ายได้เร็วขึ้น หรือกรณีพื้นลู่วิ่งซึ่งทำจากวัสดุยางสังเคราะห์ ซึ่งมีแรงส่งสะท้อนกลับ จึงมีแรงช่วยส่งให้นักกีฬาพุ่งตัวไปข้างหน้าได้เร็วและแรงขึ้น นักวิ่งจึงวิ่งได้เร็วขึ้น สระว่ายน้ำที่ถูกออกแบบให้ปลอดจากคลื่นที่สะท้อนออกจากขอบสระ จึงช่วยให้ไม่มีแรงต้านจากคลื่นใต้น้ำขณะนักว่ายน้ำกำลังว่ายไปข้างหน้า นักว่ายน้ำจึงว่ายได้เร็วขึ้น

 

            3. การฝึกตามหลักชีวกลศาสตร์ (bio-mechanic training) เป็นการฝึกการเคลื่อนไหวของนักกีฬา โดยอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดตามหลักทฤษฏีทางกลศาสตร์ ขณะเดียวกันก็ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์วิเคราะห์ความผิดผลาดของการเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นไปตามที่โปรแกรมไว้ เช่นกรณีการว่ายน้ำของไมเคิล เฟลป์ จะถูกโปรแกรมให้เคลื่อนไหวลำตัวส่วนล่างเหมือนปลาโลมา ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของสัตว์น้ำที่เร็วมาก นักว่ายน้ำต้องฝึกจนสามรถทำได้อย่างอัตโนมัติ หรือที่กล่าวกันว่า ฝึกจนเกิดเป็นธรรมชาติของการเคลื่อนไหวของนักกีฬาไปแล้ว ถ้าวิเคราะห์พบความผิดพลาดก็สามารถแก้ไขโดยเร็ว องค์ความรู้ทาง ชีวกลศาสตร์นี้เป็นองค์ความรู้ในสาขาฟิสิกส์ธรรมดานี้เอง แต่ต้องมีเครื่องมือเพื่อช่วยวิเคราะห์ซี่งอาจมีราคาแพง ถ้าต้องการปรับปรุงและพัฒนานักกีฬาของเราก็จำเป็นต้องลงทุน แต่ที่สำคัญที่สุดคือสมาคมกีฬาและโค๊ชต้องทำความเข้าใจและพร้อมที่จะ ยอมรับคำแนะนำจากนักวิชาการสาขานี้ ซึ่งมีอยู่ในมหาวิทยาลัยในประเทศไทยนี้เอง แต่ยังไม่ได้แสดงบทบาทเท่าที่ควร เนื่องจากที่ผ่านมาสมาคมกีฬาขาดพื้นฐานความเข้าใจในประเด็นนี้ แต่จากนี้ไปปัญหานี้ควรได้รับการแก้ไขทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติอย่างจริงจังเสียที เพราะประสิทธิภาพของการเคลื่อนไหวที่ดีต้องเกิดจากการฝึกซ้อมที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเท่านั้น

 

            4. การใช้สารกระตุ้น (doping) เป็นการใช้ยาซึ่งเป็นสารต้องห้ามเข้าไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อทำงานอย่างมีพลังมากผิดธรรมชาติ จึงเป็นข้อกำหนดในกติกาการแข่งขันกีฬาทั่วไปว่าผิดกฎ กติกาของการแข่งขัน และมีบทลงโทษสถานหนักเมื่อตรวจพบว่านักกีฬาใช้สารกระตุ้น ถึงขั้นถอดถอนผลการแข่งขันถ้าเป็นผู้ชนะ และห้ามลงแข่งขันในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้เพราะสารกระตุ้นเหล่านั้นจะเป็นอันตรายต่อระบบทางสรีรวิทยาภายในร่างกายของนักกีฬา ในประเด็น doping นี้จะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนำรายละเอียดมาเสนอต่อไป

 

            ปัจจัยหลักทั้งสี่ประการที่กล่าวมานี้คือคำตอบว่า นักกีฬายังจะสามารถสร้างสถิติใหม่ๆขึ้นได้อีกต่อไป เพราะวิวัฒนาการทางองค์ความรู้และเทคโนโลยีในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา ยังจะมีการพัฒนาต่อไปจากผลการศึกษาวิจัยของนักวิจัยในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เยอรมันนี จีน และเกาหลี ที่มีทีมวิจัยและงบประมาณเพื่อการวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาอย่างจริงจัง สามารถค้นพบและสั่งสมองค์ความรู้ใหม่ๆเพื่อนำไปพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬาได้อย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่เข้าใจในวงการวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาว่าปัจจุบันและในอนาคต การแข่งขันกีฬาระดับโลกคือการแข่งขันกันทางด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี อย่างแท้จริง หันกลับมาดูประเทศไทย ผู้รับผิดชอบในกระบวนการส่งเสริมและพัฒนากีฬากรุณาพิจารณาดูว่า ได้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาต่อไปนี้มาใช้เป็นฐานเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของนักกีฬาของเราเพียงใด องค์ความรู้ดังกล่าวประกอบด้วย 5 สาขาหลักคือ

 

            1.สรีรวิทยาของการฝึกซ้อมกีฬา(physiology of athletic training) 2.ชีวกลศาสตร์ทางการกีฬา(sports bio-mechanic) 3.โภชนศาสตร์ทางการกีฬา (sports nutrition) 4.จิตวิทยาการกีฬา (sports psychology) และ 5.กีฬาเวชศาสตร์ (sports medicine) รวมถึงองค์ความรู้ในเชิงระบบการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องได้แก่ สาขาการพัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายการกีฬา (sports strategy and policy development) โดยขอให้พิจารณาว่าในบรรดาองค์ความรู้ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถ้ากำหนดให้เป็น 100 % ท่านได้นำมาใช้เพื่อการพัฒนานักกีฬาแล้วคิดเป็นร้อยละเท่าไร? ถ้าต้องการเห็นนักกีฬาไทยพัฒนาขึ้นไปเทียบเคียงกับเกาหลีใต้ เราต้องนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ในองคาพยพของการพัฒนากีฬาของเราให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

 

 

 

 

เสนอประเด็น โดย : ดร.เกษม นครเขตต์

 

 

 

 

 

 

update 19-08-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code