ประสานชุมชนแก้วิกฤติเด็กขาดสารอาหาร

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า


ประสานชุมชนแก้วิกฤติเด็กขาดสารอาหาร thaihealth


ฟื้นวิถีถิ่น-ประสานชุมชนแก้วิกฤติเด็กขาดสารอาหาร


การมี "อาหาร" ที่เพียงพอและมีคุณภาพ ถือเป็น "สิทธิขั้นพื้นฐาน" ที่คนทุกคนไม่ว่า ยากดีมีจนควรเข้าถึง ทว่าในความเป็นจริงกลับพบการปนเปื้อนของสารพิษตกค้างในอาหารได้ทั่วไป อาทิ ผัก-ผลไม้ ดังการเปิดเผยของ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เมื่อเดือนต.ค. 2559 ระบุว่า ผลการสุ่มตรวจผักและผลไม้ ทั้งในห้างค้าปลีกชื่อดังและตลาดขายส่งขนาดใหญ่ จำนวน 158 ตัวอย่าง พบสารเคมีตกค้างถึงร้อยละ 56


ในมุมหนึ่ง มีความพยายามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการ ที่จะลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการเปิดเผยของรัฐมนตรีช่วยว่าการ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร เมื่อเดือน เม.ย. 2560 ว่า กระทรวงเกษตรฯ มียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อเข้าสู่ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ซึ่ง 1 ในเป้าหมายคือ "มุ่งลดการใช้สารเคมีให้ได้ร้อยละ 10 ภายใน 5 ปี" ตัวชี้วัดคือการตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานต้องลดลงจากปัจจุบันร้อยละ 10 ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจ ภายใน 5 ปี


แต่ขณะเดียวกัน ภาคส่วนอื่นๆ ก็พยายามหาแหล่งวัตถุดิบที่ปลอดภัย อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเป็นแหล่งอาหารยังชีพของชุมชน เช่นที่ "สกู๊ปแนวหน้า" มีโอกาสติดตามคณะของ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา-สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ไปเยี่ยมชม โรงเรียนบ้านทรายทอง ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำการสำรวจข้อมูล "ภาวะโภชนาการนักเรียน" กลุ่มนักเรียนชั้นชั้น ป.4-ป.6 พบว่า ร้อยละ 34.15 มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ และกว่าร้อยละ 46.34 มีส่วนสูงน้อยกว่าเกณฑ์เช่นกัน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น่ากังวลมาก ทว่าการจะปลูกพืชผักกินเองก็ทำได้ยาก เพราะโรงเรียนมีพื้นที่ปลูกผัก เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ที่เหลืออีกร้อยละ 70 ต้องซื้อจากภายนอก ที่อาจมีสารพิษปนเปื้อน สอดคล้องกับข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่ตรวจพบสารเคมีในเลือดของประชาชนในพื้นที่สูงกว่ามาตรฐาน


ดังนั้นการหาผักปลอดสารพิษมาประกอบอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โชคยังดีอยู่บ้างที่ในพื้นที่ใกล้โรงเรียนมีเกษตรกรที่ปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ กำลัง ลือชา หนุ่มใหญ่ที่นอกจากจะมีอาชีพปลูกผักส่งให้กับโครงการหลวงห้วยแล้ง พืชผักส่วนหนึ่งยังถูกส่งมาสนับสนุน รร.บ้านทรายทอง สำหรับเป็นอาหารกลางวัน เมื่อรวมกับฟาร์มไก่ โรงเพาะเห็ด และบ่อปลาภายในโรงเรียน ก็ยังพอมีอาหารที่มีคุณภาพรับประทานบ้าง


"ผมเห็นภาพเขาที่ต้องเดินทางจากบ้านมาโรงเรียนก็สงสาร ถ้าต้องมากินผักทั่วไปที่อาจจะมีสารพิษตกค้างในผัก ส่งผลให้เกิดการสะสมสารพิษในร่างกายของเด็ก อาจก่อมะเร็งได้ เพราะต้องไปซื้อผักที่ตลาดมาปรุง เครื่องเราก็ไม่รู้ว่าสะอาดปลอดภัยแค่ไหน แต่ผักของเราที่ส่งโครงการหลวงนั้นถูกรับรองจากโครงการหลวงว่าปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์" คุณลุงกำลัง กล่าว ที่โรงเรียนแห่งนี้ พบว่านักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง โดยเด็กๆ จะนำข้าวเปล่าจากบ้านมากินในช่วงพักกลางวัน ส่วนกับข้าวเป็นฝีมือแม่ครัวของโรงเรียน ส่วนใหญ่เป็นอาหารพื้นบ้าน เช่น "ต้มผักกาดใส่หมู" ซึ่ง นายสุรศักดิ์ อุทรวัง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทรายทอง ให้เหตุผลว่า อยากให้เขาระลึกถึงบรรพบุรุษ ของเขาซึ่งกินอาหารประเภทนี้มาก่อนและอยู่ได้โดยที่ไม่ขาดสารอาหาร เพราะคาร์โบไฮเดรตก็มาจากข้าวของเขาเอง โปรตีนก็มาจากเนื้อสัตว์ที่เลี้ยง รวมไปถึงวิตามินแร่ธาตุต่างๆ สรุปคือสารอาหารก็ได้ครบ 5 หมู่เหมือนกัน


เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะผู้ทำงานประเด็นสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์มายาวนาน กล่าวเสริมว่า การนำวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์อาหารพื้นถิ่น ถือเป็นการ "เพิ่มคุณค่า" ให้อาหารนั้น ยกตัวอย่าง "ลาบหมู" ของชาวอาข่า ที่มีการจำแนกว่าใส่เครื่องเทศสมุนไพรอะไรบ้างโดยนักโภชนาการ ผู้บริโภคก็จะ "มั่นใจ" เพราะอาหารที่รับประทาน นอกจากจะเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วยังมีข้อมูลทางวิชาการรับรองด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code