ประสบการณ์แกนนำก่อการครูรุ่น 2 “ครูสายลม – พลวัฒน์ ล้วนศรี”
ที่มา : แฟนเพจโครงการผู้นำแห่งอนาคต Leadership for the Future
ภาพประกอบจากแฟนเพจโครงการผู้นำแห่งอนาคต Leadership for the Future
“ถ้าเด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกกลัว เขาสามารถวิ่งมากอดครู โดยที่ไม่ต้องบอกครูว่าขอกอดหน่อย เราจะรู้กัน” การสร้างความสุขร่วมกันภายในโรงเรียน (Collective Happiness in School) โดยการเป็นบุคคลปลอดภัย (Safe Person) สำหรับเด็ก ประสบการณ์ของครูแกนนำรุ่นที่ 2 โครงการก่อการครู บทสัมภาษณ์ “ครูสายลม – พลวัฒน์ ล้วนศรี” ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดมูลนิธิกระจกเงา
คุณครูสายลมเข้ามาทำงานด้านการศึกษาได้อย่างไรคะ?
ผมเป็นคนที่สนใจเรื่องการศึกษาอยู่แล้ว ก็ไม่ได้จบครูจบอะไรมา แต่ว่าสนใจเรื่องการศึกษา ก็เลยมาดูว่าเราจะมีช่องไหนที่จะสามารถจัดการศึกษาในรูปแบบที่เราคิดว่ามันจะสามารถไปได้และสอดคล้องกับเด็กในพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่อยู่เนี่ย เด็กจะเป็นลูกหลานแรงงานที่อยู่ในสวนส้ม เป็นกลุ่มที่มีการเคลื่อนย้าย เป็นเด็กชายขอบที่ไม่ค่อยได้เข้าสู่ระบบการศึกษาครับ
เราทำงานหลาย ๆ ประเด็นกับมูลนิธิกระจกเงาสมัยก่อนเนอะ เราก็เลยเห็นว่าจะมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในสวนส้ม ตอนเขาเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยเนี่ย มักจะเป็นช่วงกลางคันของระบบการศึกษาของภาครัฐครับ ทำให้เกิดช่องว่างหลาย ๆ อย่าง เช่น เรื่องวัฒนธรรม การศึกษา รวมถึงเรื่องอายุ บางทีเขาก็ต้องมาเป็นครอบครัว มากัน 4 คน พ่อแม่ลูก พ่อแม่ต้องทำงาน ลูกก็ต้องเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา แล้วก็จะมีน้องเล็ก ๆ ด้วย
ปัจจุบัน โรงเรียนเราสามารถให้เขาเอาน้องมาเรียนได้ด้วย คือมันเป็นโรงเรียนทางเลือกที่เราจัดขึ้นให้สอดคล้องกับพื้นที่นี้อะครับ แล้วเราก็ศึกษา พรบ. ว่า เอ๊ะ องค์กรเอกชนเนี่ย จะมีช่องทางไหนที่จะสามารถจัดการศึกษาให้มันสอดคล้องกับชุมชนได้บ้าง ซึ่งก็คือ มาตรา 12 ของ พรบ. การศึกษาแห่งชาติ ให้องค์กรเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้ เราก็เลยตั้งโรงเรียนขึ้นมา เอาไว้สำหรับสอนเด็กกลุ่มนี้ครับ
เป้าหมายก็คือเป็นพื้นที่ปลอดภัยและเป็นพื้นที่ทางการศึกษาให้กับเด็กครับ
สำหรับคุณครูแล้ว “ความสุขร่วมกันในโรงเรียน” จะเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้างคะ?
จริง ๆ แล้ว มันเหมือนกับว่า ครูที่นี่ทุกคนจะมีเป้าหมายเดียวกันคือ การทำให้เด็กสามารถที่จะไปต่อได้ โดยที่เด็กไม่รู้สึกว่าเขาโดนกด โดนบังคับ ที่นี่จะมีหลักสูตรเป็นของตัวเอง คือในวันหนึ่งเนี่ย ไม่จำเป็นต้องมาเรียนวิชานั้นวิชานี้ตอนเช้า 2-3 ชั่วโมง เราให้เด็กเรียนรู้สิ่งที่เขาอยากเรียน แต่เราต้องเข้าใจบริบทของตัวเด็กด้วย ที่นี่จะมีจิตศึกษาตอนเช้าสำหรับเด็ก หลังจากเข้าแถว ก่อนเข้าเรียน เราจะมีการทำกิจกรรมร่วมกัน เด็กต้องมากอดกับครู ต้องมาสัมผัส เพื่อที่เราจะได้เช็กสภาพของเด็ก เช่น วันนี้เราเด็กโดนที่่บ้านตีมาไหม เด็กคนนี้่ไม่สบายไหม อาบน้ำมาไหม เด็กคนนี้เป็นอย่างไรบ้าง เราก็จะกอดเขา เพื่อให้เด็กพร้อม แล้วก็เด็กทุกคนเท่ากัน หรือมีเกณฑ์สภาพจิตใจที่พร้อมเรียนเท่ากัน
คุณครูคิดว่า บรรยากาศของความสุขร่วมกันภายในโรงเรียนมีมากน้อยแค่ไหนคะ?
วัฒนธรรมร่วมกันระหว่างเรากับเด็กคือ สมมติเด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกกลัว หรือรู้สึกอะไรก็แล้วแต่ เขาสามารถวิ่งมากอดครู โดยที่ไม่ต้องบอกครูว่าขอกอดหน่อย เราจะรู้กันว่าเด็กต้องการกอด เด็กต้องการสัมผัสมือครู หรือว่านั่งคุยกัน สมมติว่า ผมยืนสอนอยู่ใช่ไหม แล้วมีเด็กคนหนึ่งวิ่งมา เราจะรู้แล้วว่าเขาต้องโดนอะไรมาสักอย่าง อันนี้เราไม่รู้ แต่ว่าเขาจะวิ่งมากอด เราก็จะวางชอล์ก วางอะไรในมือ แล้วก็กอดกัน พอกอดเสร็จเขาก็จะกลับไปที่นั่งของเขา แล้วเราก็สอนต่อ เราอยู่ด้วยความเข้าใจกัน
ที่นี่น่ะ ในห้องเรียนมีเด็ก 30 คน ครูจะต้องมีวิธีการในการดูแลเด็ก 30 รูปแบบ สมัยก่อนที่เราเรียนชั้นประถมศึกษา มีครู 1 คน มีเด็ก 30 คน เด็ก 30 คนจะต้องเข้าใจครู 1 คน แต่ที่นี่ครู 1 คน ต้องเข้าใจเด็ก 30 รูปแบบ แล้วจะทำให้เขารู้สึกปลอดภัย ทำให้เด็กรู้สึกว่าอยากเรียน ทำให้รู้สึกเป็นกันเอง
เพราะว่าที่นี่ เราไม่ได้บอกว่าเราคือครู แต่เราพยายามให้ทุกคนเป็นโค้ช ดึงศักยภาพเด็กออกมา ไม่ใช่ว่ายืนสอนอย่างเดียว พอเราเข้าใจในตัวเด็ก 30 คน เราจะรู้ศักยภาพของเด็กแต่ละคนครับ
การที่เราจะต้องเข้าใจเด็กทุกคน หรือด้วยภารกิจต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ ทำให้คุณครูรู้สึกท้อหรือเหนื่อยในจุดไหนบ้างไหมคะ คุณครูทำอย่างไรให้เรามีไฟที่จะทำงานต่อไปได้คะ?
ถ้าถามว่ามันมีอะไรให้เหนื่อยไหม มันก็มีแหละในช่วงเปิดเทอมใหม่ ๆ คือเราต้องยอมรับว่า เด็กที่มาเรียนที่นี่เป็นเด็กที่มีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา ดังนั้นเด็กที่เข้ามาบางคนสื่อสารภาษาไทยไม่ได้เลย ช่วงแรกคุยไม่ได้เลย ทุกเทอม จะมีเด็กที่เข้ามาใหม่ อย่างผมสอนวิทยาศาสตร์ ในหนึ่งเดือนแรก เรายังไม่สามารถพาเด็กไปรู้จักสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต หรือสิ่งรอบตัวเราได้เลย ช่วงแรกเราพยายามสอนให้เขาสามารถสื่อสารกับเราได้ก่อน เริ่มต้นด้วยการใช้ภาษากายสื่อสารกันก่อน
คือเราคิดย้อนกลับไปว่า สมัยที่เราเรียนภาษาอังกฤษใหม่ ๆ ก็คงเหมือนกับตอนเด็กที่เราเริ่มเรียนภาษาไทย ผมจะใช้แนวคิดนี้ ทำความเข้าใจลักษณะของงานที่ต้องเจอในแต่ละเทอม ทำให้ตัวเองไม่รู้สึกท้อหรอกครับ คือที่นี่จะใช้การคุยกันด้วยภาษาใจมากกว่า เราใช้ใจคุยกัน
การอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการก่อการครูโมดูล 1 ที่ผ่านมา คุณครูรู้สึกอย่างไรบ้างคะ?
จริง ๆ แล้ว ผมชอบกระบวนการทั้งหมดเลยหละ ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมเสนอมันจะอยู่ในโมดูลต่อไปหรือเปล่านะ คืออย่างผมอยู่ภาคเหนือเนอะ ผมก็ไม่รู้ว่าจะหันไปทางไหนที่จะเจอคนจากภาคเดียวกันที่จะปรึกษากันได้ คือผมเห็นก่อการครูอีสานเข้มแข็งมาก แต่ก็คิดว่าอาจจะเป็นกระบวนการของโครงการก่อการครูหรือเปล่า ที่อยากให้เราเข้าหาทุกคนหรือเปล่านะ ถ้าครูจากภาคเหนือได้สร้างเน็ตเวิร์กก่อการครูภาคเหนือขึ้น เราก็อาจจะมีเพื่อนคู่คิดคอยปรึกษากันได้มากขึ้น
ส่วนองค์ความรู้ ผมได้ใช้หมดเลยนะ พาเด็กทำ roadmap ชีวิต พาเด็กทำกระบวนการที่ช่วยให้เด็กรู้จักตัวเอง คือก่อนที่จะเริ่มเรียน เราก็พาให้เด็กทำรู้จักตนเอง รู้จักช่วยชีวิตของตนเอง รู้ว่าตนเองจะไปทางไหน หรือว่าสนใจอะไร
คือพอเด็กรู้สึกว่าเขาไปในทางไหนได้ ตอนนี้เขาก็เริ่มมีเป้าหมายคือ อยากเรียนให้จบ ม.6 นะ จากเดิมที่คิดถึงแค่ ป.6 อะไรอย่างนี้ เขามีความรู้สึกว่าตัวเขาไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่น เขารู้สึกว่าแม้เขาจะเป็นเด็กชายขอบ เขาก็สามารถที่จะพัฒนาตัวเองให้เท่ากับเด็กในเมืองได้ เราก็บอกว่า ลูกไม่จำเป็นต้องเหมือนใครหรอก เรามีความพิเศษแตกต่างกันได้ อะไรอย่างนี้ เราก็อธิบายเด็กไป
ผมขอสรุปอย่างนี้ว่า สุขร่วมสร้าง (Collective Happiness) ของผมก็คือทุกคนเข้าใจกัน ครูเข้าใจเด็ก แล้วก็เด็กเข้าใจครู ทำให้เราสร้างความสุขร่วมกันได้ครับ