ประสบการณ์จากงานอบรม “จิตอาสาข้างเตียง”
ประสบการณ์จากงานอบรม “จิตอาสาข้างเตียง”
ฉันเพิ่งไปร่วมอบรม “จิตอาสาข้างเตียง” ของเครือข่ายพุทธิกา โครงการที่ให้จิตอาสาทุกคนได้มีโอกาสไปดูแลผู้ป่วยเรื้อรังซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยเริ่มจากการให้ความรู้ความเข้าใจแก่จิตอาสาทั้งในเรื่องบทบาท กรอบและขอบเขตของจิตอาสาข้างเตียง พื้นฐานความรู้ความเข้าใจในสภาพความรู้สึกผู้ป่วย รวมถึงบรรยากาศภายในหอผู้ป่วย ความคาดหวัง สิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องการจากจิตอาสา ประสบการณ์จากจิตอาสารุ่นก่อน ฯลฯ โดยใช้สื่อคือ “กิจกรรมในรูปแบบต่างๆ” ได้แก่ กิจกรรมระบายสีรูปภาพ กิจกรรมบทบาทสมมุติ กิจกรรมการฟัง เป็นต้น ให้พวกเราได้แสดงความเห็นภายหลังจบกิจกรรม และมีวิทยากรมาช่วยสรุป
ครั้งแรกที่ได้พบผู้เข้าร่วมเป็นจิตอาสา ทำให้ฉันแทบหัวเราะตกเก้าอี้ ถ้าใครวาดภาพว่าจิตอาสาข้างเตียงต้องเป็นคนที่ประมาณเรียบร้อย พูดน้อยๆ ยิ้มหวานๆ เย็นๆ ละก็ต้องมีอาการเหมือนฉันแน่ๆ เพราะในบรรดาจิตอาสาที่มาร่วมสัมมนานั้นมีเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่เข้าหลักเกณฑ์ที่ว่า นอกนั้นน่ะจะเป็นประมาณสาวซ่า ขาลุย คุยเก่งกระจายไปเลย อ้อ มีหนุ่มแถมมาด้วย 2 คนอีกต่างหาก เป็นชายหนุ่มที่รูปร่างสูงใหญ่มาก แม้จะดูว่ามีท่าทางที่ดูอบอุ่นแต่ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายจิตอาสาข้างเตียงได้เลย แต่จากการพูดคุย รู้จักกันผ่านกิจกรรมต่างๆ ทำให้ฉันพบว่า ภายใต้ท่าทางเฮ้วๆ ฮาๆ ขาลุยนั้น มีสิ่งหนึ่งที่พวกเราเหมือนกัน คือ ความรัก ความเมตตาที่จะแบ่งปัน ถ่ายเทความทุกข์ของผู้ป่วย ทำให้ฉันรู้สึกอบอุ่นเหมือนได้กลับไปเยือนชมรมดนตรีไทยของฉันอีกครั้ง
เมื่อมองผ่านกิจกรรมหลากหลายในช่วงเวลา 2 วันของการอบรม ฉันพบว่า เนื้อหาโดยรวมของการเป็นจิตอาสาข้างเตียง ก็คือการฝึกทักษะความเป็นคนที่สมบูรณ์ เพื่อเตรียมพวกเราให้พร้อมที่จะเป็นเพื่อนกับผู้ป่วยเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้างเขาและครอบครัวในห้วงเวลาของการก้าวข้ามความทุกข์ยาก
การเป็นคนที่สมบูรณ์ ก็คือ การรู้จักที่จะเรียนรู้และยอมรับในตัวตนของเขาอย่างที่เขาเป็น โดยผ่านการ ฟัง ทั้ง คำพูด และ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคำพูด นั้นๆ ยอมรับและเข้าใจว่าภายใต้เหตุผล กรอบความคิด กรอบชีวิตของเขาทำให้เขาเป็นหรือแสดงออกแบบนั้น อาจจะแบ่งปันความรู้สึกของเราต่อเหตุการณ์เดียวกันได้หากเขาต้องการ แต่ไม่ตัดสินในสิ่งที่เขาทำเพราะ เราไม่ได้อยู่ ณ จุดที่เขายืนอยู่ ไม่ได้ผ่านการเคี่ยวกรำด้วยประสบการณ์เช่นเดียวกับเขา
ในกิจกรรมระบายสี วิทยากรยื่นกระดาษเปล่าให้พวกเราคนละ 1แผ่นให้วาดภาพ ระบายสีได้ตามใจ ทีแรกที่ได้รับฉันก็นั่งมองแล้วก็คิดว่าจะวาดอะไรดีนะ ด้วยเวลาที่สั้นก็เลยตัดสินใจเขียนคำว่า รัก เป็นภาษาเกาหลีไว้บนกระดาษก่อน ยังไม่ทันคิดว่าจะทำอะไรต่อดี ก็ได้ยินเสียงวิทยากรบอกว่า ให้เวียนกระดาษต่อไปยังเพื่อนทางด้านขวามือเพื่อให้เพื่อนระบายสีบนกระดาษของเรา จากนั้นก็ให้เวียนต่อไปทางขวามือเรื่อยๆ
ทันทีที่ได้ยินฉันก็รู้สึกแวบขึ้นทันทีว่า อากระดาษแผ่นนี้ไม่ใช่ของเรา กระดาษได้หมุนเวียนผ่านมือเราไปเรื่อยๆ จนครบรอบและเวียนต่อไปอีกราว 5 คนจึงได้ส่งคืนกลับเจ้าของพร้อมอนุญาตให้ตกแต่งภาพได้ตามใจอีกระยะหนึ่ง แล้วจึงถึงช่วงของการสอบถามความรู้สึก ชอบ ไม่ชอบส่วนไหนยังไง ฉันนั่งมองดูกระดาษของตัวเองที่บัดนี้ ตัวอักษรที่ฉันตั้งต้นไว้ได้รับการระบายสีเรียบร้อย ส่วนที่ว่างๆ ด้านล่างเหมือนถูกแบ่งเป็นสองส่วน ด้านซ้ายมือของภาพเป็นรูปวงกลมๆ คงเป็น ดวงอาทิตย์ มั้ง ด้านขวาสุดก็เป็นแนวโค้งๆ หลากสี คงเป็น ขอบฟ้ามั้ง ตรงกลางก็มีสีเขียวบ้าง แดงบ้าง ฟ้าบ้างเป็นกลุ่มๆ ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเป็นภาพอะไร ได้แต่มองดูแต่ไม่ได้แต่งแต้มอะไรเพิ่มเติมฉันตอบคำถามวิทยากรไปว่า ที่ฉันรู้สึกดีเป็นพิเศษคือ ตัวอักษรที่ฉันตั้งต้นไว้ยังคงอยู่ และได้รับการแต่งแต้มให้สมบูรณ์ ส่วนอื่นๆ นอกนั้นฉันก็ไม่รู้สึกเป็นพิเศษอะไร ฉันรับรู้แค่ว่าทุกคนที่ลงสีคงตั้งใจ หวังดีอยากให้ภาพออกมาดีที่สุดเท่านั้น ฉันเชื่อว่าทุกคนคงคิดเหมือนกับฉัน เมื่อแรกที่ฉันได้รับกระดาษมา ก็ยังไม่ได้ตั้งใจว่าจะวาดรูปอะไร พอรู้ว่างานนี้จะเป็นศิลปะแบบ รวมมิตร ก็รู้สึกว่าโล่งใจ รีบส่งกระดาษให้เพื่อนด้วยความยินดี ตอนรับกระดาษต่อมาจากเพื่อน แผ่นแรกๆ ยังเป็นกระดาษเปล่ามีทีว่างอยู่มาก ก็รู้สึกสนุกที่จะป้ายสีโน้นสีนี้ สนุกที่ได้ใช้พู่กันละเลง แต่พอผ่านไปสักแผ่นที่ 5 แผ่นที่ 6 คราวนี้กระดาษนั้นไม่ว่างอีกต่อไป มีภาพบรรจุมาแล้วบางส่วน ทำให้ต้องคิดมากขึ้นว่าจะวาด แต่งแต้มสียังไง แต่ก็ไม่ได้คิดขนาดว่าจะให้เป็นรูป คิดแค่ว่าทำยังไงให้ภาพของเขาที่ได้รับการแต่งแต้มมาแล้วยังคงสวยงามอยู่ คิดแค่นั้น จนแผ่นท้ายๆ ที่แทบจะหาที่ว่างไม่ได้แล้ว ฉันคิดว่าบางทีอาจไม่ต้องลงสีอะไรอีกแล้วก็ได้แค่นั่งมองดูเติมจุดนิดๆ พอไม่ให้เลอะ พอให้รู้สึกว่ามีส่วนร่วมก็น่าจะพอ
คนไข้ก็เหมือนกัน เขาไม่ใช่กระดาษขาว แต่เขาผ่านการป้ายสีมาแล้วมากน้อยต่างกัน หน้าที่ของเราเหล่าจิตอาสาคือ ดู ฟัง ทำความเข้าใจกับเขาอย่างลึกซึ้งก่อน แล้วเราจะพบเองว่าเราจะเข้าไปช่วยเติมเต็มเขาในส่วนไหน บางทีเขาอาจแค่ต้องการให้เราเป็นผู้รับฟังที่ดี ให้เขาได้มีโอกาสบอกเล่าประสบการณ์ ร่วมชื่นชมในประสบการณ์ ในตัวตนของเขา ให้เขารู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง เท่านั้นก็อาจจะเพียงพอแล้ว
เพียงแค่เราเรียนรู้ที่จะ ฟัง อย่างแท้จริง ฟังอย่างวางตัวตนของเราลงแล้วฟังเขาด้วยสายตาของเขา แล้วเราจะรู้เองว่า เขาต้องการอะไร และเราควรจะต้องทำอย่างไร
คนในครอบครัวเดียวกันที่แม้จะเกิด เติบโตมาบนสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า จะผ่านการระบายสีมาแบบเดียวกัน ถึงแม้จะใช้สีเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่า ภาพที่ปรากฏบนกระดาษจะเหมือนกัน
“อย่าไปตัดสิน วิพากษ์วิจารณ์การพยาบาลหรือแผนการรักษาที่คนไข้ได้รับ วิจารณ์สิ่งที่คนไข้คิด คนไข้ตัดสินใจ เราไม่ได้อยู่ ไม่ได้เห็นคนไข้ ณ เวลานั้นเราไม่มีทางรู้ ไม่มีทางเข้าใจหรอกว่าทำไม พวกเขา ถึงตัดสินใจแบบนั้น”
คำพูดของอาจารย์พยาบาลที่เฝ้าย้ำตั้งแต่ฉันเริ่มขึ้นปี 2 เมื่อก้าวขึ้นฝึกปฏิบัติบนหอผู้ป่วยครั้งแรก และย้ำทุกครั้งที่พาพวกเราขึ้นฝึกปฏิบัติงานย้อนคืนมาอีกครั้ง บางทีฉันควรกลับไปทบทวนดูว่า …
ทุกวันนี้ ฉันได้ ฟังทุกคนเพื่อฟัง แล้วหรือยัง ?
ผู้ที่สนใจต้องการรับคำปรึกษาทางจิตใจ สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยโครงการเผชิญหน้าความตายอย่างสงบ เปิดบริการสายด่วน 02-882-4952 ทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 10.00 – 16.00 น.