ประมวลภาพงาน “สังคมได้อะไร…จากการนำเสนอคลิปรุนแรง” เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่สสส.
เมื่อ 1 ต.ค. 52 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน ร่วมกับเครือข่ายครอบครัว จัดเวทีเสวนาเรื่อง “สังคมได้อะไร…จากการนำเสนอคลิปรุนแรง” เพื่อหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน
โดยนางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า จากการติดตามสื่อโทรทัศน์ต่างๆ พบว่าที่ผ่านมามีการนำเสนอภาพและข่าวสารที่มีเนื้อหารุนแรงเพิ่มมากขึ้น และมีการนำภาพมารวมกันเพื่อใช้ดึงดูดใจผู้ชม ซึ่งในมุมหนึ่งถือเป็นการทำหน้าที่สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมให้ประชาชนรับรู้ แต่หากเกินขอบเขตก็จะกลายเป็นการยั่วยุหรือตอกย้ำให้มีพฤติกรรมเลียนแบบ
ด้านนายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (มีเดีย มอนิเตอร์) กล่าวว่า ขณะนี้สังคมเข้าสู่ยุคการหลอมรวมสื่อ (crimes convergence) สื่อทุกประเภทถูกรวมเข้าด้วยกันผ่านทางอินเทอร์เน็ต เมื่อทุกอย่างถูกหลอมรวมเข้าด้วยกัน ก็จะกลายเป็นอาชญากรรมออนไลน์ ทำให้เด็กไทยที่ไม่มีวุฒิภาวะในการใช้สื่อ แต่มีความสามารถในการแบ่งปันข้อมูลกันสูง โดยเฉพาะการถ่ายคลิปวิดีโอ ถือเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสื่อสาร คือ ผู้รับสารเป็นผู้ผลิตเนื้อหาข้อมูลข่าวสาร และเป็นผู้เผยแพร่สารเอง อย่างไรก็ตามสภาพปัญหาความรุนแรงทางสังคม ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการนำเสนอซ้ำๆ หลายรอบของสื่อมวลชน จนทำให้เกิดความชินชา กลายเป็นเรื่องปกติในสังคม รวมถึงสื่อนำเสนอข่าวสาร โดยไม่ได้ลดระดับความรุนแรงลง กลับทำให้เกิดการขยายความรุนแรงมากขึ้น
นพ.กมล แสงทองศรีกมล กุมารเวชเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า มีรายงานการวิจัยพบว่า การเห็นฉากที่เต็มไปด้วยความรุนแรงซ้ำๆกัน จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ โดยเฉพาะ กลุ่มเด็กเล็ก และกลุ่มคนมีความหวั่นไหวทางอารมณ์ หรือ กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมซึมเศร้า ซึ่งกลุ่มเด็กเล็กจะตอบสนองต่อความรุนแรงในทันที โดยจะไม่คำนึงถึงความเจ็บปวดของผู้อื่น เพราะเด็กไม่มีวุฒิภาวะที่จะไตร่ตรอง ส่วนกลุ่มคนที่เป็นโรคซึมเศร้า พร้อมที่จะกระทำความรุนแรงซ้ำกับสิ่งที่เห็นทันที เช่น การฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องความรุนแรงในเพศหญิง ที่มีแนวโน้มการเกิดความรุนแรงมากขึ้น
นายพัชระ สารพิมมา อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า เมื่อกลางปี 2552 เพิ่งมีการตั้งสภาวิชาชีพ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล โดยจะยกร่างข้อปฏิบัติ ขอบเขตการนำเสนอข่าวต่างๆ หากมีการกระทำที่เกินข้อตกลง ก็สามารถร้องเรียนเอาผิดได้ตามชอบธรรม โดยสมาคมฯ จะพยายามดูแลเรื่องจรรยาบรรณความเป็นมืออาชีพ เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวให้อยู่ในขอบเขต แต่หากไม่มีการนำเสนอเลย สังคมจะไม่มีตัวอย่างให้เห็นว่าสิ่งใดถูกหรือผิด
ที่มา: www.thaihealth.or.th
update: 02-10-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่