‘ประธานชัย’ เสียฟอร์มไร้อำนาจวินิจฉัย

ตีกลับร่างใหม่ ‘กม.ผู้สูงอายุ

 

 

 

          สภาถกเดือดร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ “ชัย”หน้าแตก กฤษฎีกาชี้ไร้อำนาจวินิจฉัยร่าง กม. สุดท้ายต้องถอนร่างใหม่ 5 ฉบับ ให้ขยายเวลาพิจารณาร่างเก่าในชั้น กมธ.วิสามัญ แล้วส่งเรื่องกลับมา”ปธ.สภา”วินิจฉัยร่วม ปธ.กมธ. 35 คณะ ก่อนส่งนายกฯรับรองเป็น กม.การเงินต่อไป

 


‘ประธานชัย’ เสียฟอร์มไร้อำนาจวินิจฉัย          การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ มีการถกปัญหาร่างใหม่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุ 5 ฉบับกันอย่างดุเดือด จนต้องมีการถอนร่างออกไป ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมสภาซึ่งมีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ 5 ฉบับ ที่เสนอโดย ส.ส.จาก 4 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (รช.) นั้น

 

          นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พท. ได้ขอหารือถามหาความรับผิดชอบกับนายชัย กรณีพรรคฝ่ายค้านทักท้วงว่า การลงมติรับหลักการร่างกฎหมายผู้สูงอายุ 5 ฉบับ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมีปัญหา เพราะเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินแต่นายกฯยังไม่ได้ลงนามรับรอง สุดท้ายประธานวินิจฉัยตามที่ฝ่ายค้านทักท้วง และเมื่อประธานส่งเรื่องไปยังนายกฯ นายกฯบอกว่าเลยขั้นตอนลงนามรับรองมาแล้ว แม้ภายหลังมีการเสนอร่างกฎหมายเข้ามาใหม่และลงนามรับรองถูกต้อง และจะมาพิจารณากันใหม่ทั้งหมดในวันนี้ ก็ยังเดินต่อไม่ได้ เพราะร่างกฎหมายเดิมยังไม่ตกไป ฉะนั้น ประธานสภาและนายกฯก็ต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองในการดำเนินการครั้งแรกที่ผิดพลาดด้วย

 

          แต่นายชัยชี้แจงว่า เมื่อเกิดปัญหาได้หารือกับประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และประธานวิปฝ่ายค้าน และผู้เสนอร่าง ซึ่งผู้เสนอร่างก็ไม่ติดใจ ต่อมาก็มีการเสนอเข้ามาใหม่ นายกฯก็ลงนามรับรองถูกต้องก็บรรจุเข้าวาระ ส่วนการพิจารณาก่อนหน้านี้ที่ไม่ถูกต้องก็ให้ตกไป ฝั่ง พท.รู้ดีเพราะหารือกันแล้ว แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อภิปรายว่า ไม่อยากให้ตำหนิว่าเป็นความผิดของใคร

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นบรรยากาศการประชุมเริ่มตึงเครียดขึ้น มีการตอบโต้กันระหว่างนายชัยและนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พท. โดยนายสมศักดิ์ขอให้นายชัยรับผิดชอบที่วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายนี้ไม่เกี่ยวด้วยการเงิน แต่นายชัยบอกว่าเคยพูดจริงแต่ตอนนี้นายกฯรับรองแล้ว ทำให้มี ส.ส.พท. และพรรค ภท. ประท้วงกันไปมาเพื่อปกป้องนายชัยและนายสมศักดิ์ โดยนายชัยยืนยันว่าไม่ผิดตามมาตรา 143 และทำตามอำนาจประธานถูกต้อง แต่นายสมศักดิ์ยืนยันว่าผิดตามมาตรา 143 วรรคสอง

 

          ทำให้นายชัยยืนยันอีกครั้งว่าทำถูก และอ่านบันทึกการประชุมสภาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ว่า ประธานใช้อำนาจวินิจฉัยเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน ที่ประชุมก็เห็นด้วย และผู้เสนอร่างก็ไม่ขัดข้อง จึงเสนอเรื่องไปให้นายกฯลงนาม โดยไม่ต้องเชิญประธานทั้ง 35 คณะมาประชุม อย่างไรก็ดี นายสมศักดิ์พยายามประท้วงอีกครั้ง ทำให้นายชัยมีอาการหงุดหงิด และกล่าวว่า พอแล้ว ยืนยันว่าไม่ผิด ถ้าคิดว่าผิดรัฐธรรมนูญ ก็ทำเรื่องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อ่านให้ฟังแล้วก็หูตึง ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว

 

          นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย จึงลุกขึ้นกล่าวว่า จะเข้าชื่อเสนอประธานวุฒิสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยข้อกล่าวหาประธานกระทำการขัดมาตรา 143 และขอให้ลาออก และให้นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน ปชป. เป็นแทนจะได้สมปรารถนาทุกฝ่าย

 

          ขณะที่นายชัยท้าทายว่า จะทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญก็เชิญเลย จากนั้นตัดบทว่า ขอให้ยุติอภิปรายเรื่องนี้ และขอมติที่ประชุมให้งดใช้ข้อบังคับข้อ 176 และ 55 เพื่อให้นำเรื่องที่มีหลักการเดียวกันแต่ตกไปแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่ในสมัยประชุมเดียวกัน คือ ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ 5 ฉบับที่เสนอเข้ามาใหม่ โดยต้องใช้เสียงเห็นชอบ 2 ใน 3 ของที่ประชุม และนับองค์ประชุม ปรากฏว่ามีสมาชิกแสดงตน 236 คน เกินกึ่งหนึ่งที่ 232 คน

 

          แต่นายสมศักดิ์และนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พท. ประท้วงว่า อย่าทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฝืนลงมติ เพราะร่างกฎหมาย 5 ฉบับเดิม ยังไม่ตกไป ขอให้ทบทวน เพราะทำขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่นายชัยยืนยันว่าทำถูกตามรัฐธรรมนูญ นายทิวา เงินยวง ส.ส.กทม. ปชป. จึงเสนอว่า ให้ผู้เสนอร่างเดิมทั้ง 5 ร่างถอนร่าง โดยอาศัยมติที่ประชุมอนุญาต จากนั้นก็จะพิจารณางดเว้นข้อบังคับ เพื่อพิจารณาร่างที่เสนอเข้ามาใหม่ได้

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีการอภิปรายนานประมาณ 2 ชั่วโมง และบรรยากาศการประชุมทำท่าจะบานปลายขึ้นเรื่อยๆ เพราะสมาชิกทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลยังเห็นต่างกัน ทำให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน ปชป. เสนอพักการประชุมเพื่อให้วิปทั้งสองฝ่ายและประธานหารือทางออก ซึ่งนายชัยสั่งพักประชุมเวลา 16.15 น. เมื่อผ่านไป 45 นาที การประชุมได้เริ่มขึ้น

 

          จากนั้นนายชัยให้นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภา อ่านหนังสือที่นายกฯแจ้งมายังประธาน เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ใจความสรุปว่า กรณีร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ 5 ฉบับ ที่สภารับหลักการไปแล้ว แต่ภายหลังสมาชิกทักท้วงว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน ต่อมาประธานจึงส่งให้นายกฯรับรอง นายกฯได้ส่งเรื่องปรึกษาไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะ 1 แล้วเห็นว่า เป็นอำนาจของประธานที่จะต้องวินิจฉัยร่วมกับประธานคณะกรรมาธิการสามัญ 35 คณะ ตามรัฐธรรมนูญว่า เป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่ และประธานไม่สามารรถวินิจฉัยตามลำพังได้ แต่เมื่อส่งเรื่องมาโดยประธานวินิจฉัยเพียงลำพัง ทำให้นายกฯไม่สามารถลงนามรับรองได้ และคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะ 1 ยังเห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน จึงควรปรึกษาสำนักงบประมาณเพื่อตรวจสอบภาระการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินด้วย

 

          จากนั้นนายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ผู้เสนอร่าง ได้ขอถอนร่าง แต่ถอนไม่ได้ เพราะที่สภาเคยลงมติรับหลักการไว้ นายพิทูรจึงชี้แจงอีกว่า สำนักงานเลขาธิการสภามีความเห็นว่า เมื่อนายกฯยังไม่ได้ลงนามรับรองในร่างที่สภารับหลักการวาระ 1 ไป ตอนนี้ก็พิจารณาต่อไม่ได้

 

          ด้านนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วน ปชป. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. 5 ฉบับที่สภารับหลักการไป เดินหน้าไม่ได้ ถอยก็ไม่ได้ จะให้ประธานร่วมกับประธานคณะกรรมาธิการ 35 คณะ ร่วมวินิจฉัย ก็ไม่ได้ เพราะขั้นนี้ต้องทำก่อนบรรจุเข้าระเบียบวาระ ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรสุรนนท์ อดีตรองประธานสภา กล่าวอีกว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา สอดคล้องกับที่ตนเตือนประธานทุกประการ และที่นายจุติถอนร่าง ก็ทำไม่ได้ เพราะสภารับหลักการวาระ 1 ไปแล้ว ตอนนี้ทำได้มีทางเดียวคือ ประธานวินิจฉัยร่วมกับประธานคณะกรรมาธิการสามัญ 35 คณะ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามว่าทำได้ในขั้นตอนไหน แล้วประธานก็ขอโทษที่ประชุม ไม่ต้องลาออกก็ได้

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมอภิปรายกันอย่างกว้างขวางนานกว่า 1 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ข้อยุติโดย ผู้เสนอร่างทั้ง 5 ฉบับที่บรรจุในระเบียบวาระวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ได้ถอนร่าง ซึ่งที่ประชุมอนุมัติให้ถอนด้วยคะแนนเอกฉันท์ 311 เสียง จากนั้นที่ประชุมมีติขยายเวลาการแปรญัตติในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ 5 ฉบับ ที่สภาได้รับหลักการในวาระ 1 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไปอีก 7 วัน ซึ่งหลังจากนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญจะรายงานต่อประธานว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน ซึ่งประธานจะนำเรื่องดังกล่าวหารือร่วมกับประธานคณะกรรมาธิการสามัญ 35 คณะ ก่อนจะส่งไปให้นายกฯลงนามรับรองว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน และจึงจะส่งเรื่องกลับมายังสภา ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาต่อไป

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

 

update 26-02-52

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code