ประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพ” ถกปัญหามาตรการคุมบุหรี่
เริ่มแล้ว ประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพ ครั้งที่ 12 ถกปัญหามาตรการคุมบุหรี่ อุดช่องโหว่กฎหมายเดิม สธ.หนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ห้ามส่งเสริมการขาย การตลาดทุกรูปแบบ ทั้งพริตตี้ & CSR เหตุวัยรุ่นไทย 13-15 ปี เกิน 1 ใน 4 หรือ 31% เคยเห็นโฆษณาบุหรี่ อีก 5.5% เคยได้รับบุหรี่แจกฟรีจากบริษัทบุหรี่ หมอประกิตย้ำ คุมบุหรี่ต้องทำหลายมาตรการพร้อมกันถึงจะได้ผล ทั้งภาษี ห้ามส่งเสริมการขาย ภาพคำเตือน
วันที่ 4 ก.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายสุรชัย เบ้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวการประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 12 เรื่อง “กลลวงโฆษณาของพ่อค้าบุหรี่” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า อนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลก ให้ความสำคัญกับการห้ามโฆษณายาสูบ การส่งเสริมการขายยาสูบ และการสนับสนุนโดยยาสูบ เป็นการห้ามทั้งทางตรงและทางอ้อมทุกรูปแบบ โดยมาตรการควบคุมการโฆษณายาสูบของประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมเกือบครบถ้วนใน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 เช่น ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้, ห้ามโฆษณาสินค้าที่ใช้ชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบ และห้ามส่งเสริมการขายยาสูบโดยใช้เครื่องขาย เป็นต้น แต่ประเด็นการโฆษณาทางอ้อมหรือการโฆษณาแฝง กฎหมายไทยยังไม่มีการห้ามในเรื่องนี้ จึงมีการดำเนินการ ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. …. (ฉบับใหม่) ซึ่งมีการควบคุมเรื่อง การห้ามเผยแพร่ข่าวสาร การให้การสนับสนุนโดยยาสูบ หรือ CSR ในทุกสื่อ และปรับปรุงคำนิยาม “การโฆษณา” ให้ครอบคลุมการสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ๆ อาทิ การใช้สื่อบุคคล “พริตตี้” ในการส่งเสริมการขายยาสูบ เป็นต้น
ผศ.ดร.ปิยะรัตน์ นิ่มพิทักษ์พงศ์ นักวิชาการคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ผลสำรวจการสูบบุหรี่ของเยาวชน 13-15 ปีของไทยพบว่า ร้อยละ 31 เคยพบเห็นการโฆษณาบุหรี่ ร้อยละ 9.3 มีสิ่งของที่มีตราหรือโลโก้บุหรี่ และร้อยละ 5.5 เคยได้รับบุหรี่ทดลองฟรีจากบริษัทบุหรี่ นอกจากนี้ผลงานวิจัยที่รายงานโดยองค์การอนามัยโลกเปรียบเทียบระหว่างประเทศที่มีกฎหมายห้ามโฆษณายาสูบเช่นประเทศไทย กับประเทศที่ไม่มีกฎหมายห้าม พบว่าภายใน 10 ปี อัตราการบริโภคยาสูบในประเทศที่มีกฎหมายห้ามโฆษณาทุกรูปแบบลดลงกว่าร้อยละ 9 ในขณะที่ประเทศที่ไม่มีกฎหมายห้าม อัตราการสูบจะลดลงน้อยมากเพียงร้อยละ 1 นอกจากนี้จากการทำการประเมินผลของมาตรการต่างๆ ในประเทศไทย พบว่า 1 ใน 4 ของอัตราการสูบที่ลดลงเป็นผลมาจากมาตรการการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย ทั้ง 2 มาตรการการนี้ช่วยทั้งป้องกันผู้สูบหน้าใหม่และช่วยให้ผู้ที่สูบอยู่เลิกสูบ
“ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือการห้ามโฆษณา การส่งเสริมการขาย และสื่อสารการตลาดทุกรูปแบบเท่านั้น ที่จะมีประสิทธิภาพในการลดการบริโภคยาสูบลง ในขณะที่การห้ามแบบมีข้อยกเว้นมีประสิทธิภาพต่ำมากหรือไม่มีประสิทธิภาพเลย แต่ปัญหาคือปัจจุบันบริษัทบุหรี่ใช้วิธีการสื่อสารการตลาดแบบใหม่ๆ ซึ่งมีอิทธิผลต่อการรับรู้ของเยาวชนอย่างมาก และพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของประเทศไทยยังมีช่องโหว่อยู่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไข พ.ร.บ ดังกล่าวให้เท่าทันและเป็นปัจจุบันมากขึ้น” ผศ.ดร.ปิยะรัตน์ กล่าว
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ตามที่บริษัทบุหรี่ฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกกฎหมายเพิ่มขนาดคำเตือนจาก ร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 85 ของกระทรวงสาธารณสุขโดยอ้างว่า การเพิ่มขนาดภาพคำเตือนไม่ทำให้ลดการสูบบุหรี่นั้น จากรายงานการวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารขององค์การอนามัยโลกที่รวบรวมข้อมูลจาก 41 ประเทศระหว่าง ปี 2550-2553 ที่ใช้มาตรการควบคุมยาสูบหลายๆ มาตรการพร้อมกัน พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง 14.8 ล้านคน เท่ากับลดจำนวนคนที่จะเสียชีวิตจากการใช้ยาสูบลงได้ 7.4 ล้านคน โดยเป็นผลจากการขึ้นภาษี 3.5 ล้านคน การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ 2.5 ล้านคน การพิมพ์ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ 700,000 คน การรักษาให้เลิกบุหรี่ 380,000 คน และการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย 306,000 คน
“ข้อโต้แย้งที่ว่าประสิทธิภาพของภาพคำเตือนมีน้อย กระทรวงสาธารณสุขจึงไม่ควรขยายขนาดภาพคำเตือน ในความเป็นจริงมาตรการควบคุมยาสูบแต่ละมาตรการมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน แต่ละมาตรการจะเสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกัน และไม่สามารถทดแทนกันได้ การขึ้นภาษีเพื่อทำให้ราคาบุหรี่แพงขึ้นเพื่อให้คนสูบน้อยลงหรือเลิกสูบ การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ การพิมพ์ภาพคำเตือนเพื่อเตือนอันตรายของยาสูบ การห้ามโฆษณาเพื่อห้ามสิ่งกระตุ้นให้คนสูบบุหรี่ ดังนั้นทุกมาตรการจึงต้องนำมาใช้พร้อมกัน และต้องเพิ่มความเข้มข้นของแต่ละมาตรการดังการขยายขนาดภาพคำเตือนของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาพที่สูงสุด” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข