ประชุมระดับชาติสุขภาวะทางเพศ ชูประเด็น “การตั้งครรภ์ไม่พร้อม”
พิธีเปิดประชุมระดับชาติสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 1 คึกคัก ชูประเด็น “การตั้งครรภ์ไม่พร้อม” เผย ทุก 2 ชั่วโมง มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดลูก 1 คน ทารก 1 ใน 6 เกิดจากเด็กหญิง 20 องค์กรด้านสุขภาพ ระดมสมองเร่งแก้ปัญหาแม่วัยรุ่น ชี้สังคมทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ พ่อแม่ปรับทัศนคติช่วยสอนลูก
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 8 กันยายน ที่ห้องแกรนด์ ไดมอน บอลลูม อิมแพค เมืองทองธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และภาคีเครือข่ายกว่า 20 องค์กร ร่วมกันจัด “การประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 1” ประเด็น “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” ระหว่างวันที่ 8-10 กันยายนนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมระดมพลัง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม กว่า 2,000 คน
โดย นายคาสปาร์ พีค ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์ว่า การประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยในมุ่งให้ความสำคัญกับการหาแนวทางการลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทย พบว่า สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน ทุก 4 นาทีมีวัยรุ่นคลอดลูก 1 คน ที่แย่ไปกว่านั้น คือ ทุก 2 ชั่วโมง มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดลูก 1 คน นั่นหมายความว่า ปัจจุบัน ทารกทุก 1 ใน 6 คนเกิดจากแม่ที่ยังเป็นเด็กหรือวัยรุ่น จากสถิติดังกล่าว เป็นสถานการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีการพัฒนาด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การรายงานข่าวสาร และโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขในระดับสูง ดังนั้น การประชุมตลอด 3 วันนี้ เป็นการริเริ่มที่สำคัญแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยมีความก้าวหน้าในการหารืออย่างเปิดกว้างเรื่องเพศวิถีบนฐานของข้อเท็จจริง และสร้างความเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถมีสุขภาวะทางเพศที่ดีได้
“ทั่วโลกเห็นตรงกันว่า การแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องยาก โดยปัจจัยหลักคือ 1.เรื่องเพศ เป็นเรื่องส่วนตัวที่คาบเกี่ยวประเด็นสาธารณะ เพราะมีผลทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม หรือศีลธรรม และ 2.การเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่การโตเป็นผู้ใหญ่ เปลี่ยนจากการอยู่ในโลกส่วนตัวมาสู่การใช้ชีวิตในสังคม เรื่องเพศ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เยาวชนต้องการคำแนะนำที่ดีและถูกต้องจากผู้ใหญ่ ซึ่งต้องเป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่เพียงการบอกเล่า หรืออคติของผู้ใหญ่เอง ซึ่งหลายประเทศประสบความสำเร็จในการลดจำนวนวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ ส่วนหนึ่งมาจากพ่อแม่ และครูที่ให้ความรู้เรื่องเพศกับลูกอย่างถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก” นายคาสปาร์ กล่าว
ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะทางเพศ และการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนโยบาย วิชาการ งบประมาณ กฎหมาย และการสนับสนุนปฏิบัติงานในระดับพื้นที่อย่างเข้มแข็ง ซึ่ง สสส. ได้ร่วมผลักดันและขับเคลื่อนงานเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมด้วยภารกิจ 9 ด้าน อาทิ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในภาคการศึกษา ภาคระบบสวัสดิการและการพัฒนาสังคม ภาคสุขภาพ ภาคท้องถิ่นและชุมชน รวมถึงกลุ่มเยาวชนและกลุ่มผู้ปกครอง มีการทำงานตามบทบาทของอย่างเข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่การป้องกันและลดปัญหาทั้งเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปัญหาการติดเชื้อเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการลดปัญหาความรุนแรงทางเพศ
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 กล่าวปาฐกถา เรื่อง “คุณภาพชีวิตวัยรุ่น คุณภาพประเทศไทย” ว่า คุณภาพชีวิตวัยรุ่น คุณภาพประเทศไทย เป็นเรื่องตรงไปตรงมา ถ้าคุณภาพประชากรดี คุณภาพประเทศก็ดีตามไปด้วย โดยเฉพาะชีวิตวัยรุ่น หากสามารถจัดการได้และผ่านได้ด้วยดีก็จะเติบโตขึ้นเป็นประชากรที่มีคุณภาพ เพราะในความสับสนของชีวิตวัยรุ่นถือว่าทำให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นได้ ประเทศสหรัฐ สามารถลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจาก 61.8 คนต่อพันคน ลดเหลือ 29.4 คนต่อพันคน โดยสนับสนุนการทำงาน เช่น ชะลอการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ส่งเสริมการป้องกันที่ถูกต้อง ทางเลือกที่หลากหลายในการคุมกำหนด สร้างกิจกรรมเหมาะสมกับวัยเพื่อการพัฒนาสติปัญญา ส่งเสริมการกล้าแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์มีทักษะการปฏิเสธ ส่งเสริมให้สื่อและหน่วยงานต่างๆเห็นความสำคัญ เป็นต้น
“ขณะที่ประเทศอังกฤษ สามารถลดอัตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นได้ โดยมีองค์กรบริหารให้คำปรึกษาการตั้งครรภ์แห่งอังกฤษ ก่อตั้งภายหลังการแก้ไขกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้สำเร็จ มีหลักการทำงานสำคัญ 3 ทาง คือ 1.ให้ตั้งครรภ์ต่อไป และเตรียมพร้อมดูแลลูกอย่างมีคุณภาพ 2.ให้ตั้งครรภ์ต่อไป แล้วเตรียมหาพ่อแม่อุปถัมภ์ให้ และ 3.ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การป้องกันการตั้งครรภ์ที่ดีที่สุดคือ การใช้ถุงยางอนามัย 100% ขณะที่อัตราการใช้ถุงยางอนามัยของไทยอยู่ที่ 50% ถือว่ายังไม่เพียงพอหากจะป้องกันโรคได้ต้องขึ้นไปใกล้เคียง 100%” นพ.วิชัย กล่าว
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข