ประชากรข้ามชาติสุขภาพ-การศึกษาไม่แบ่งแยก

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


"ระนอง" เป็นจังหวัดที่มีแรงงานชาวเมียนมาเข้ามาอยู่อาศัยทำงานเป็นจำนวนมากกลายเป็น "ฟันเฟือง" หนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งการจัดระเบียบด้านคุณภาพชีวิต รวมถึงการดูแลสุขภาพ และการศึกษาของแรงงานเหล่านี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ


ประชากรข้ามชาติสุขภาพ-การศึกษาไม่แบ่งแยก thaihealth


แฟ้มภาพ


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำคณะทำงาน ภาคีเครือข่าย สื่อมวลชน และเยาวชนนักสร้างสรรค์ ในโครงการเสริมศักยภาพการสื่อสารของภาคีร่วมกับนักศึกษา (Creative Hero) ลงพื้นที่ โครงการ "นับเราด้วยคน" ตอน เรียนรู้ และเตรียมพร้อม โดย ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เล่าถึงที่มาของกิจกรรมนี้ว่า สสส.จัดทำโครงการ "นับเราด้วยคน" เพื่อสร้างการรับรู้ว่ามีประชากรกลุ่มเฉพาะที่ถูกลืม ขาดสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงโอกาส และใช้ชีวิตโดยขาดสุขภาวะที่ดีอยู่ในสังคมเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ประชากรข้ามชาติ ในพื้นที่จังหวัดระนอง ที่ได้นำคณะทำงานมาศึกษาเรียนรู้ในวันนี้ ยังมีอีกหลายคนที่ขาดโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการถูกมองข้าม รวมถึงการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ และการศึกษาที่เหมาะสม


ดร.ประกาศิต กล่าวต่อว่า สสส. เป็นหน่วยงานด้านการสร้างสุขภาพแบบองค์รวม เรื่องของโรคและปัญหาสุขภาพจะไม่สามารถแยก หรือแบ่งชนชาติได้ เนื่องจากผลกระทบของโรคภัยล้วนเกิดขึ้นได้กับทุกคน การดูแลเรื่องของสุขภาพในแรงงานข้ามชาติจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ สสส. ให้ความสำคัญ โดยเข้ามาหนุนเสริมภาคีเครือข่ายในพื้นที่ที่มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง


"สสส.เข้ามาช่วยเสริมหลักสูตรการอบรมพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับแรงงานข้ามชาติที่ง่ายยิ่งขึ้น รวมไปถึงการอบรมแกนนำเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากเรื่องสุขภาพแล้วยังเชื่อมโยงไปถึงสนับสนุนในเรื่องการศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ เพราะโดยทั่วไปการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติมักจะไม่ถูกกฎหมายทำให้ไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองที่ดี ศูนย์เด็กเล็ก หรือศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จะเป็นจุดรวมที่ช่วยให้เด็กสามารถเข้าสู่ระบบเข้าถึงการศึกษาตลอดจนได้รับการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมได้ง่ายยิ่งขึ้น" ดร.ประกาศิต กล่าว


นายชูวงศ์ แสงคง ผู้จัดการพันธกิจโครงการพิเศษ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในจังหวัดระนอง จำนวนแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาโดยเฉพาะในพื้นที่ ต.บางริ้น ถือว่าเป็นชุมชนหนาแน่นแออัด ส่งผลให้คนในชุมชนมีปัญหาในเรื่องสุขภาพ จากการที่มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนไทย-พม่า (ศสมช.) รวมถึงจัดตั้ง อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เข้ามาทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านของไทย โดยในพื้นที่ อสต. ทุกคนจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ การอบรมให้ความรู้ทุกปีจากนั้นจะได้รับมอบหมายให้ดูแลชาวเมียนมาในชุมชนของตนเอง เช่น เมื่อมีโรคระบาดให้ไปแจ้งข่าวที่ รพ.สต. เพื่อวางแผนป้องกันโรค และเมื่อลงเยี่ยมติดตามผู้ป่วย อสต.จะติด ตามไปด้วย เพื่อเป็นล่าม และให้คำแนะนำ ส่งผลให้แรงงานชาวเมียนมามีความเชื่อมั่น และยอมเข้าถึงบริการสาธารณสุขในท้องถิ่นมากขึ้น


นายชูวงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนของ มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) ก็ได้เข้ามาช่วยเชื่อมโยงเรื่องของการศึกษาให้เป็นกลไกหนึ่งในการเชื่อมโยงระบบ เนื่องจากการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่สามารถเชื่อมโยงคนในสังคมให้ยอมรับการอยู่ร่วมกันได้ โดยระนองเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องที่ สสส. ภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดการให้เกิดพื้นที่การศึกษาของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ปัจจุบันมีศูนย์การเรียนอยู่ทั้งหมด 8 แห่งทั่วประเทศ โดยมีการเรียนการสอนในหลักสูตร กศน. ของไทยควบคู่กับหลักสูตรเมียนมา เมื่อเด็กเรียนจบก็สามารถเข้าเรียนต่อที่ประเทศของตนเอง และเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้


มาที่ นางธิดา ซาน อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ชาวเมียนมา เล่าว่า ตอนที่เข้ามาทำงานในไทย คิดเพียงแค่อยากหาเลี้ยงครอบครัว ไม่เคยคิดถึงเรื่องสุขภาพ รวมถึงการศึกษาของลูกหลาน เนื่องจากภาวะต่าง ๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้เหมือนคนทั่วไป แต่เมื่อทาง ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนไทย-พม่า (ศสมช.) เข้ามาชักชวนเพื่อลงพื้นที่ไปช่วยแปลภาษาให้กับทาง อสม. ก็พบเห็นว่า ปัญหาสุขภาพของพี่น้องชาวเมียนมามีมากมาย


'การได้รับโอกาสในการทำงานเพื่อสังคมเป็นสิ่งที่ทำให้ภูมิใจ และยังได้มิตรภาพที่ดีจากคนไทยที่อยู่รอบ ๆ ทำให้รู้สึกดีรักที่จะทำหน้าที่นี้โดยไม่หวังผลตอบแทน" อาสาสมัครชาวเมียนมา กล่าวทิ้งท้าย


 

Shares:
QR Code :
QR Code