ประกาศ พ.ร.บ. “วัดปลอดเหล้า” ทั่วไทย
ดึงคอเหล้า “ลด-ละ-เลิก” น้ำเมา
จากตัวเลขสถิติคนกินเหล้าอย่างกระท่อนกระแท่น แต่ก็น่าหดหู่ที่มีคนที่จะสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเอง ให้ครอบครัวให้สังคมมากมาย ให้ได้ดูเป็นตัวอย่างเอาช่วงปี 2546 คนไทยกินน้ำเมา (สุราเป็นหลัก) 3,691 ลิตรเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2532 เยาวชนชายกินเพิ่มขึ้น 21% เยาวชนหญิงดื่มเพิ่ม 6% เยาวชนที่ว่าอายุ 10 – 13 ปี
ส่วนธุรกิจขายเหล้ามีงบโฆษณา 1.9 พันล้านบาท ในปี 2542 เพิ่มเป็น 2.4 พันล้านบาทในปี 2548 ย่อยลงไปอีก คอเหล้าเยาวชนอายุอย่าง 15 ปี ดื่มน้ำเมา 15.9 ล้านคนในปี 2549 และคนดื่มประจำเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเลขปี 2547 มี 17.8 ล้านคน
ตัวเลขปี 2550 จะเพิ่มหรือลดก็ไม่รู้ แต่ถึงจะลดจำนวนก็น่าจะยังเกินสิบล้านคนยังชวนสยดสยองอยู่มากทีเดียว สยดสยองในเรื่องอะไรบ้างผมไม่ได้ยกเมฆเอาเอง มีสถิติทางการเอาไว้ว่าคนไทยดื่มน้ำเมาแล้วสร้างผลกระทบอะไรกับสังคมบ้าง คือ 1. บาดเจ็บล้มตายเพราะอุบัติเหตุ ทำร้ายกันและกันเพราะฤทธิ์น้ำเมาที่ทำลายสติสัมปชัญญะ นำพาไปก่อปัญหาโดยไม่รู้ตัว 2. เกิดโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่บาดเจ็บ โรคมะเร็ง โรคตับ โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคเอดส์ แล้วก็โรคจิต เป็นต้น
ตัวเลขปี 2548 การใช้เงินซื้อน้ำเมาที่คนไทยอาจคาดไม่ถึงว่าจะมากมายถึงเพียงนี้เชียวหรือ คือ 187,000 ล้านบาท แล้วย้ำด้วยว่าค่าน้ำเมามากกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในครัวเรือนในแต่ละวันเยอะทีเดียว ถ้าเอาไปรวมกับตัวเลขค่าเสียหายที่บอกไว้ข้างต้นเห็นจะนับกันไม่ถูกแน่ ต้องเป็นล้านล้านล้านแน่นอน
การเคลื่อนไหวของคนไทยเพื่อจะดึงสติคนไทยด้วยกัน เพลาการดื่มหรือเลิกดื่มน้ำเมาไปเลย เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นด้วยความหวังดีอย่างยิ่ง หวังดีที่ต้องการเห็นคนดื่ม ครอบครัวคนดื่ม และสังคมมีความสุข สงบ
เงินที่ลงขวดเหล้าจะกลับมาทำประโยชน์ให้กับครอบครัวชุมชนและสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายต่างๆ เช่น เพิ่มโทษเมาแล้วขับ เพิ่มภาษีน้ำเมากระทั่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้น การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายของประชาชนคนไทยรณรงค์เพลาการดื่ม งดดื่ม กระทั่งเลิกดื่มก็เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยกันได้บ้าง
มีโครงการที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งคือ “นโยบายวัดปลอดเหล้า” นโยบายนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 48 นี่ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่เป็นการระดมความร่วมแรงร่วมใจกันของคนไทย ร่วมกันในหลายทางหลายวิธี ตะล่อมไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ให้คอเหล้า “ลด ละ เลิก” ดื่มน้ำเมาให้จงได้
นโยบายวัดปลอดเหล้าถึงวันนี้ก็ยังทำกันอยู่แต่ดูเหมือนจะเงียบๆ เหงาๆ พอสมควร พื้นที่นำร่องเห็นว่าเป็นที่จังหวัดนครราชสีมา มีวัดเข้าร่วมและผ่านการประเมิน 2,564 วัด เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่น่าแปลกใจอยู่บ้างว่า ตัวเลขวัดที่เข้าร่วมโครงการในจังหวัดอื่นๆ ยังไม่ปรากฏชัดเจนโดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ
ที่สำคัญโครงการวัดปลอดเหล้ารัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้น ทำเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็ยังทำต่อเนื่องไปเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลได้ตลอด
วัดปลอดเหล้า ผมอยากจะอวดความรู้เผื่อเอาไว้นิดหนึ่งอย่าว่าอะไรกันเลย คือคงมิใช่ห้ามคนนำน้ำเมาเข้าในวัด ห้ามไปดื่มไปกินและไปเมาในวัด ห้ามขายของพวกนี้ในวัด กระทั่งคนเมาก็ต้องไม่ให้เข้าวัด ไม่ให้ทำบุญไม่รับเป็นอุบาสกอุบาสิกาของวัด ไม่รับการทำบุญของคนเมา แล้วก็ไม่คบค้าเอาด้วย
ในเวลาเดียวกัน วัด โดยพระสงฆ์ สามเณร ต้องเป็นกำลังสำคัญในการเทศนาสั่งสอนให้เห็นคุณเห็นโทษของน้ำเมาจนกระทั่งลด ละ เลิก ที่สุดทำให้ชุมชนนั้นปลอดเหล้า เครือข่ายชุมชนต้องประสานสอดรับตรงนี้ด้วย ตรงนี้ต้องย้ำรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญเอาใจใส่ตรงนี้จริงๆ อีกสักคราว จะทำเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลก็สุดแสนประเสริฐ จะทำเพื่อให้เกิดความสุข ความสงบแก่ประชาชนคนไทยก็น่าชื่นชม
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาตอน 10.00 น. มีแถลงข่าวโครงการต่อเนื่อง “วัดปลอดเหล้าทั่วไทยถวายเป็นพุทธบูชา” ณ ลานธรรมวัดสวนแก้ว โดยมีหลวงพ่อพระพยอมเทศนาให้ฟัง มี ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ รองประชานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไปร่วมในที่ประชุมดังกล่าวด้วย
ในวันนี้จะประกาศ “วัดปลอดเหล้าทั่วไทย” รองรับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 ไปพร้อมกันด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
Update 20-05-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก