ประกอบอาหารปลอดภัย ให้สงฆ์ไทยไกลโรค
เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก เว็บไซต์ http://sonkthaiglairok.com โครงการขยายผลสื่อสงฆ์ไทยไกลโรคโดย รศ.ดร.จงจิตร อังคทะวานิช และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“ ที่บ้านอยู่กันสองคนกับแฟนค่ะ มีเวลาว่างก็จะทำกับข้าวใส่บาตรกัน (เน้นทำค่ะไม่นิยมซื้อแกงถุงใส่บาตรเท่าไหร่) ก็ทำกับข้าวง่าย ๆ พวกผัดผัก ไข่เจียวหมูสับ ผัดวุ้นเส้น ตอนนี้เริ่มนึกไม่ออกว่าจะทำอะไรใส่บาตรดี ที่ทำได้ง่าย เตรียมของได้ง่าย (เตรียมไว้กลางคืน ตอนเช้ามาจะผัดจะต้มค่ะ) หรือเพื่อน ๆ ที่เคยบวช คิดว่ากับข้าวแบบไหนดีคะ”
ข้อความกระทู้ถามในเว็บไซต์พันทิป ที่ขอความคิดเห็นจากสมาชิกในการปรุงอาหารสำหรับทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ แต่จะว่าไป ชาวพุทธหลายท่านก็นิยมเลือกทำอาหารถวายพระแทนการซื้อกับข้าว หรือแกงถุงเช่นเดียวกับเจ้าของกระทู้ท่านนี้
พรุ่งนี้เป็นวันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 กิจกรรมที่ชาวพุทธปฏิบัติในวันนี้ คือ เข้าวัด เวียนเทียน และทำบุญตักบาตร คำถามต่อมา คือ อาหารต่าง ๆ ที่จะถวายพระหรือตักบาตรนั้น ต้องเลือกแบบไหน ใช่แกงที่มีน้ำข้น ๆ มัน ๆ ขนมไทยหวาน ๆ หาซื้อได้ง่าย แบบนั้นหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ
จากข้อมูลผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสงฆ์ ระหว่างปี 2558 – 2560 พบว่า พระสงฆ์อาพาธเข้ามารับการรักษาด้วยโรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง ทั้งยังพบว่าภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการฉันอาหาร การออกกำลังกายเปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง
ดังนั้น ในการเลือกอาหารต้องคำนึงและใส่ใจสุขภาพพระสงฆ์ไทย ไม่ว่าจะซื้อหรือประกอบอาหารเอง สามารถยึดหลัก ใส่สุขภาพ เสริมข้าวกล้อง เสริมผัก เสริมปลา เสริมนม สรร-ปานะ และสรร-กิจนิมนต์ นอกจากนี้โครงการขับเคลื่อนสงฆ์ไทยไกลโรค เพื่อการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ในระดับประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนให้เกิดโครงการขยายผลสื่อสงฆ์ไทยไกลโรคโดยมี รศ.ดร.จงจิตร อังคทะวานิช ยังได้ข้อสรุปจากโครงการในการปรุงอาหารถวายพระ ที่สะอาดและปลอดภัยต่อพระสงฆ์ ดังนี้
1. อาหารต่างๆ ยกวางเหนือพื้น
อาหารทุกชนิดไม่ควรวางกับพื้น เพราะจะมีสิ่งสกปรกต่าง ๆ และสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์เปรอะเปื้อนได้ ควรวางให้อาหารสูงจากพื้น อย่างน้อย 2 ไม้บรรทัด หรือ 60 เซนติเมตร ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง หรืออาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว นอกจากนี้ไม่ควรนั่งทำกับข้าวบนพื้น อาหารกระป๋องและเครื่องปรุงก็เช่นเดียวกัน สามารถวางสูงจากพื้น ไม่ต่ำกว่า 1 ไม้บรรทัด หรือ 30 เซนติเมตร
2.แยกภาชนะใส่อาหารประเภทสุกและดิบ ให้ชัดเจน
อาหารดิบและอาหารสุกควรแยกอกจากกัน เพื่อไม่ให้เชื้อโรคที่อยู่ในอาหารดิบปนมากับอาหารสุกที่สะอาดและพร้อมรับประทานแล้ว การแยกจึงควรแยกทั้ง ภาชนะ จาน ชาม ช้อน หม้อ มีด และโดยเฉพาะเขียง ควรแยกสำหรับอาหารดิบ อาหารสุก และผักผลไม้ออกจากกัน ถ้าแยกไม่ได้ ต้องล้างให้สะอาดก่อนใช้เขียงที่หั่นของดิบมาหั่นของสุก
3.วัตถุดิบและอาหารที่ยังไม่ใช้ควรเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น
เก็บอาหารเป็นสัดส่วน แยกใส่กล่องหรือถ้วยเก็บ ซึ่งของดิบและของสุกต้องแยกกัน อาหารดิบที่ ปอก หั่น สับแล้ว และอาหารสุกที่เหลือควรเก็บไว้ในตู้เย็น โดยมีวิธีเก็บดังนี้
- เนื้อสัตว์ควรเก็บไว้ในช่องแช่เย็นใต้ช่องแช่แข็ง
- อาหารที่ปรุงสุก ควรเก็บไว้ช่องแช่เย็นทั่วไป อุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส
- ผักผลไม้เก็บไว้ที่ช่องแช่เย็นชั้นล่าง อุณหภูมิไม่เกิน 7-12 องศาเซลเซียส
4.ล้างผักผลไม้ให้สะอาด
การล้างผักผลไม้ให้สะอาด มีเทคนิคง่าย ๆ 3 เทคนิค เลือกได้ตามความสะดวก ดังนี้
- ล้างผักโดยปล่อยน้ำ ไหลผ่าน ล้างให้ทั่วประมาณ 2 นาที
- ผสมน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ กับน้ำเปล่า 1 ลิตร จากนั้นนำผักไปแช่นาน 15 นาที
- ผสมผงฟู 2 ช้อนโต๊ะ เข้ากับน้ำ 1 กะละมัง (25 ลิตร) แช่นาน 15 นามี แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด
นอกจากจะล้างวัตถุดิบแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘การล้างมือให้สะอาด’
5.อาหารที่ปรุงเสร็จแล้วควรปิดภาชนะ
อาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว ให้ปิดฝามิดชิดป้องกันแมลงและฝุ่นปนเปื้อน
6.วัตถุดิบแต่ละประเภทเน้นสุขภาพ
- ข้าว ควรข้าวกล้องและข้าวขาวอย่างละครึ่ง
- ผัก ควรจัดให้เพียงพอ ใส่ผักหลากหลาย มีใยอาหารสูง
- เนื้อสัตว์ ควรเป็นปลา หมู ไก่ ที่ไม่มัน
- ขนม ควรเป็นนม ถั่ว โดยใช้ถั่วมาทำขนมแทนแป้งหรือกะทิ
7.ลดกะทิและใส่นมวัวแทน
อาหารไทยมักมีกะทิเป็นส่วนประกอบ แต่ในกะทินั้นมีไขมันอิ่มตัว ซึ่งหากได้รับมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ควรใช้สูตรกะทิครึ่ง นมวัวครึ่ง หมายความว่า ให้ลดปริมาณกะทิลงครึ่งหนึ่ง แล้วใส่นมวัวพร่องมันเนยรสจืดแทน จะได้แคลเซียมจากนมเพิ่มขึ้นอีกด้วย
8.รอให้อาหารเย็นลงก่อนบรรจุใส่ถุงพลาสติก
ก่อนตักอาหารลงถุงควรทิ้งให้อาหารเย็นลงสักครู่หนึ่ง ไม่ควรตักอาหารทันทีขณะอาหารร้อนจัด เพราะอาหารที่อุณหภูมิสูงเกินไปจะละลายสารเคมีจากถุงพลาสติกลงสู่อาหารได้ นอกจากนี้ยังมีหลักปฏิบัติสำหรับการบรรจุอาหารประเภทต่าง ๆ ในถุงพลาสติก ดังนี้
- การรออาหารให้เย็นลงก่อน สามารถช่วยลดอันตรายจากถุงพลาสติกได้ และควรเลือกใช้ถุงพลาสติกประเภทถุงร้อนสำหรับบรรจุอาหารปรุงสุก
- อาหารประเภทยำ รสชาติเปรี้ยวจัด ใส่น้ำส้มสายชูมาก ไม่ควรใส่ถุงพลาสติก การปรุงอาหารที่ใส่ถุงพลาสติกให้พระสงฆ์ควรใช้มะนาวแทน และไม่ต้องปรุงเปรี้ยวจัดเพื่อความปลอดภัยของพระสงฆ์นั่นเอง
นับว่า หลักการดังกล่าวข้างต้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในครัวเรือนไทยเพื่อสุขลักษณะที่ดีได้ ไม่ใช่เฉพาะการทำอาหารเพื่อถวายพระสงฆ์เท่านั้น หากพุทธศาสนิกชนตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำอาหารประเภทไหนดี ลองเน้นใส่ผัก-ผลไม้ ซึ่งหากบริโภคให้ได้วันละ 400 กรัม ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อเรื้อรังได้
วันมาฆบูชาปีนี้ อิ่มบุญ อิ่มใจ มาร่วมกันประกอบอาหารปลอดภัยสำหรับพระสงฆ์ ให้ห่างไกลโรคกันนะคะ