ปรอทวัดไข้ เช็กเบื้องต้นโรคโควิด-19

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน


ปรอทวัดไข้ เช็คเบื้องต้นโรคโควิด-19 thaihealth


แฟ้มภาพ


การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย เป็นวิธีการที่ใช้ตรวจหาอาการเบื้องต้นของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกาย ผู้ใช้ต้องรู้หลักการในการทำงานของเครื่อง เพื่อให้สามารถตรวจวัดได้มาตรฐาน เที่ยงตรง และมีประสิทธิภาพ


นายสมชาย อินทร์เนียม ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมการแพทย์ สบส. กล่าวว่า กองวิศวกรรมการแพทย์ แนะนำหลักการของเครื่องวัดอุณหภูมิของร่างกาย 4 ประเภท คือ


1. เครื่องวัดอุณหภูมิแบบแท่งแก้ว ใช้หลักการทางฟิสิกส์ในเรื่องคุณสมบัติการขยายตัวของของเหลวในแท่งแก้วเครื่องมือชนิดนี้นิยมใช้วัดอุณหภูมิทางปาก หรือทางรักแร้ในผู้ใหญ่หรือเด็กโต แต่ไม่เหมาะสำหรับใช้ในเด็กเล็ก ข้อดีคือ อ่านค่าอุณหภูมิมีความน่าเชื่อถือและมีความถูกต้อง แต่มีข้อเสียคือ ใช้เวลาในการวัดนาน จึงไม่เหมาะสมในการคัดกรองผู้ป่วยจำนวนมาก


2. เครื่องวัดอุณหภูมิแบบดิจิทัล ที่พัฒนาต่อยอดมาจากแท่งแก้ว หน้าจอแสดงผลเป็นแบบตัวเลข ทำให้ง่ายต่อการอ่านค่า เครื่องมือชนิดนี้นิยมใช้ในการวัดอุณหภูมิทางปาก หรือทางรักแร้ในผู้ใหญ่หรือเด็กโต รวมถึงใช้ในการวัดอุณหภูมิทางทวารของเด็กเล็กด้วย ข้อดีคือ อ่านค่าอุณหภูมิมีความน่าเชื่อถือและมีความถูกต้อง ใช้เวลาในการวัดน้อยกว่าแบบแท่งแก้ว แต่ข้อเสียคือ ยังไม่รวดเร็วในการใช้คัดกรองคนจำนวนมาก


3. เครื่องวัดอุณหภูมิในช่องหู ใช้หลักการวัดอุณหภูมิความร้อนที่แพร่ออกมาของร่างกายโดยไม่สัมผัสกับอวัยวะที่วัด มีหน้าจอแสดงผลเป็นแบบตัวเลขทำให้ง่ายต่อการอ่านค่า บริเวณปลายมีเซ็นเซอร์วัดรังสีอินฟราเรดที่ร่างกายแพร่ออกมา โดยเครื่องมือได้ออกแบบให้วัดที่บริเวณเยื่อแก้วหู ข้อดีคือ อ่านค่าอุณหภูมิได้รวดเร็ว เหมาะสมกับการคัดกรองคนจำนวนมาก แต่ยังมีข้อควรระวังคือ การปนเปื้อนและติดเชื้อจากทางหูกรณีไม่เปลี่ยนปลอกหุ้ม


4. เครื่องวัดอุณหภูมิทางหน้าผาก เป็นเครื่องที่พัฒนามาเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อของเครื่องวัดอุณหภูมิในช่องหู แต่ยังคงวัดอุณหภูมิได้อย่างรวดเร็ว เพื่อใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยจำนวนมาก มีหน้าจอแสดงผลเป็นแบบตัวเลข บริเวณปลายมีเซ็นเซอร์วัดรังสีอินฟราเรดที่ผิวหนัง โดยเครื่องมือได้ออกแบบให้วัดที่บริเวณหน้าผาก ข้อดีคือ อ่านค่าอุณหภูมิได้รวดเร็วเหมาะสมกับการคัดกรองคนจำนวนมาก ส่วนข้อควรระวังคือ การวัดที่บริเวณอื่น เช่น ช่องหู บริเวณฝ่ามือ เป็นต้น อาจทำให้การวัดผิดพลาด และโหมดการวัดของเครื่องที่อาจใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ รวมถึงระยะการวัดที่ห่างเกินไปทำให้การวัดผิดพลาดได้


ดังนั้น เพื่อให้เครื่องมือมีประสิทธิภาพในการคัดกรองสูงสุด โดยเฉพาะเครื่องวัดอุณหภูมิทางหน้าผากและในช่องหู ควรดำเนินการตามคู่มือการใช้งานอย่างเคร่งครัด และมีการตรวจสอบค่าประจำปีจากผู้เชี่ยวชาญในอุปกรณ์และเครื่องมือนั้น ซึ่งกองวิศวกรรมการแพทย์ สบส.เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีบริการทดสอบตรวจสอบเครื่องมือ และให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ