ปมปริศนา’ไวรัสอีวี71’โรคลึกลับเขมร
ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (ฮู) ประกาศเตือนโรคลึกลับในเอเชีย หลังเด็กกัมพูชาเสียชีวิตกว่า 60ราย โดยแพทย์ไม่สามารถวิเคราะห์สาเหตุของโรคได้ เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกเดินทางไปยังพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดและเนื้อเยื่อของเด็กป่วยส่งไปฝรั่งเศส พร้อมร้องขอให้สถาบันปาสเตอร์ ศูนย์วิจัยโรคติดต่อชื่อดังช่วยตรวจสอบอย่างเร่งด่วน !
“บีท ริชเนอร์” (Dr.Beat Richner) กุมารแพทย์จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลเด็ก กานธะ โบผา (Kantha Bopha) ในกรุงพนมเปญ เป็นหมอคนแรกที่ออกมาเตือนเกี่ยวกับโรคลึกลับนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555หลังจากพบผู้ป่วยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 7ขวบ มีอาการไข้สูงแปลกประหลาด ตัวร้อนคล้ายติดเชื้อไวรัส เจ็บปวดหน้าอกรุนแรง เด็กบางคนมีอาการทางประสาทด้วย หลายคนปอดบวมขั้นรุนแรงและเสียชีวิตทันที กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาตรวจสอบไม่ได้ว่าเชื้อโรคชนิดใดทำให้เด็กป่วยและเสียชีวิตได้รวดเร็วขนาดนี้
หลังจากสื่อมวลชนรายงานข่าวโรคลึกลับกัมพูชาไปทั่วโลก หลายประเทศในเอเชียเริ่มเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อพิศวงตัวนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์สั่งเจ้าหน้าที่สนามบินตรวจสอบผู้โดยสารอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะผู้เดินทางมาจากกัมพูชาหรือประเทศใกล้เคียง
ล่าสุด วันที่ 8กรกฎาคม ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกรายงานผลตรวจสอบเชื้อลึกลับเบื้องต้นว่า ผู้ป่วยเด็กกัมพูชาอย่างน้อย 52คนที่เสียชีวิตตั้งแต่กลางเดือนเมษายนนั้น เนื่องจากติดเชื้อ “ไวรัสอีวี 71” หรือ เอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71 :EV 71) ซึ่งเป็นโรคท้องถิ่นในแถบเอเชียอยู่แล้ว เรียกกันว่า โรคมือ เท้า ปาก (Hand-Foot-and-Mouth-Disease) หรือโรคมือ เท้า ปากเปื่อย แต่ในกัมพูชาอาจไม่เคยพบไวรัสอีวี 71มาก่อน ทำให้ร่างกายเด็กเล็กไม่มีภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม คงต้องตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไปว่า นอกจากเชื้อไวรัสตัวนี้แล้วมีการเชื้อตัวอื่นปะปนด้วยหรือไม่
ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ที่ปรึกษาสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไวรัสอีวี 71ที่พบในกัมพูชานั้น คือเชื้อไวรัสทำให้เกิด “โรคมือ เท้า ปากเปื่อย” เชื้อตัวนี้ระบาดที่เมืองไทยเป็นระยะๆ แต่ไม่บ่อยนัก เพราะส่วนใหญ่โรคมือ เท้า ปากเปื่อยของไทยจะเกิดจาก “ไวรัสคอกซากี” (coxsackie virus A) มากกว่า และมักระบาดในเด็กเล็กช่วงฤดูร้อน และต้นฤดูใบไม้ร่วง ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม
“อาการปกติของโรคคือไข้สูง ปวดเมื่อยเนื้อตัว มีตุ่มขึ้นที่ปาก มือ และเท้า ยังไม่มียารักษาเฉพาะ หมอจะรักษาตามอาการเช่นให้ยาลดไข้ ส่วนใหญ่เป็นไม่กี่วันก็หาย แต่ที่กัมพูชา ดูเหมือนจะมีอาการหนักมาก เป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสจะเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบรุนแรง หรือเข้าไปทำลายการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อระบบทางเดินหายใจทำงานผิดปกติ เด็กจะเสียชีวิตเร็วมาก คงต้องมีการตรวจสอบด้านลึกต่อไปว่า เชื้อไวรัสอีวี 71ชนิดที่พบในกัมพูชา เป็นเชื้อกลายพันธุ์หรือเชื้อดื้อยาหรือไม่ ดูเหมือนเป็นเชื้อดุร้ายกว่าปกติ สำหรับเมืองไทยก็ควรต้องป้องกันตามแนวชายแดนให้ดี เฝ้าระวังหากมีใครอุ้มเด็กป่วยเข้ามา ต้องแนะนำให้นำส่งโรงพยาบาลในพื้นที่ทันที” ศ.นพ.อมร แนะนำ
ขณะที่ ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ว่า รู้สึกแปลกใจที่ผลตรวจสอบจากองค์การอนามัยโลกพบว่าเป็นเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71เพราะเชื้อตัวนี้เป็นโรคท้องถิ่นเอเชียมานานหลายสิบปี ไวรัสอีวี 71มีหลายสายพันธุ์ทั้งชนิดรุนแรงและไม่รุนแรง คาดว่าต้องเคยระบาดที่กัมพูชามาก่อนเช่นกัน ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5ขวบ ไม่พบในผู้ใหญ่เพราะมีภูมิคุ้มกันดี
“จุดที่น่าสงสัยคือ โรคนี้อาการป่วยชัดเจน คือ ไข้สูง มีตุ่มแดงขึ้นบริเวณปาก เท้า และมือ หากแพทย์ในโรงพยาบาลกัมพูชาตรวจร่างกายผู้ป่วย ก็น่าจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าและวิเคราะห์เบื้องต้นได้ทันทีว่า เป็นโรคมือ เท้า ปากเปื่อย แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกที่ไปเก็บตัวอย่างเลือดและเนื้อเยื่อมาตรวจสอบ น่าจะสังเกตอาการผู้ป่วยได้ง่าย หากเกิดจากไวรัสอีวี 71จริง ไม่น่าจะเป็นโรคลึกลับขนาดนี้ คงต้องรอรายงานผลตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ว่าเป็นเชื้อโรคสายพันธุ์อะไรกันแน่” ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสกล่าวเป็นปริศนาทิ้งท้าย
“ไวรัสอีวี 71” ใน ไทย
ทั้งนี้ ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า โรคมือ เท้า ปากเปื่อย ระบาดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2500ในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา พบเด็กเล็กมีตุ่มน้ำใสในช่องปาก มือ และเท้า เชื้อไวรัสที่ตรวจพบครั้งนั้นคือคอกซากี สำหรับประเทศไทยนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบโรคนี้ครั้งแรกปี 2541ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสคอกซากี สถิติปี 2550-2554พบว่าเกิดจากเชื้อไวรัสอีวี 71เพียงร้อยละ 15 -30และในปี 2544จากการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วย 8,400ราย มีผลตรวจยืนยันว่าเป็นเชื้ออีวี 71เพียง 1รายเท่านั้น
โดยทั่วไป โรคมือ เท้า ปากเปื่อยจะมีอาการไม่รุนแรง มีผู้ป่วยบางรายเท่านั้นที่พบภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อทางระบบประสาท เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงคล้ายโรคโปลิโอ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนระบบปอด ทำให้มีอาการปอดอักเสบ และเชื้อไวรัสตัวนี้ทำให้กล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบด้วย โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 3-6วัน หัวใจเต้นเร็ว มีอาการทางระบบประสาท หากระบบหายใจล้มเหลวและมีปอดบวมน้ำ จะทำให้เสียชีวิตได้ กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่าปี 2554มีผู้เสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปาก ที่เกิดจาก “ไวรัสอีวี 71” จำนวน 6คน และในปี 2555มีผู้ป่วยแล้ว 10,813คน ยังไม่มีผู้เสียชีวิต พร้อมเตือนว่าหากเด็กเล็กเป็นโรคมือ เท้า ปาก แล้วมีไข้สูง เซื่องซึม ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลอย่าปล่อยให้เด็กมีไข้จนชัก เพราะเชื้ออาจขึ้นสมองทำให้เสียชีวิตได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก