ปธ.บอร์ด สสส. เห็นชอบนโยบาย “ลดเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ” มุ่งพัฒนากลไกสู้ภัยบุหรี่ไฟฟ้า หลังพบเยาวชนสูบพุ่งกว่า 5 เท่า
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
รองนายกฯ “สุริยะ” นั่ง ปธ.บอร์ด สสส.นัดแรก เห็นชอบกรอบนโยบาย-วาระกลางปี 68 “ลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ” เสริมศักยภาพ-พัฒนาระบบกลไกสนับสนุน สั่งเร่งสู้ภัย “บุหรี่ไฟฟ้า” หลังพบเยาวชนสูบพุ่ง 5 เท่า บริษัทบุหรี่เจาะตลาดเด็กอึ้งครอบครัว-เพื่อนชักชวน เข้าใจผิดไม่อันตราย สำรวจพบ 63.7% ไม่เห็นด้วยปลดล็อคบุหรี่ไฟฟ้า เล็งหารือ สตช.คุมเข้ม หลังพบขายเกลื่อนออนไลน์ “รมว.สมศักดิ์” สั่งตั้งคณะทำงานปราบบุหรี่ไฟฟ้า
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยผลการประชุมกรรมการกองทุน สสส. ครั้งที่ 4/2567 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบกรอบนโยบายการจัดทำแผนการดำเนินงานประจำปี 2568 โดยให้ยึดทิศทางและเป้าหมายกองทุนระยะ 10 ปี (2565-2574) เน้นสร้างและขยายผลลัพธ์ทางสุขภาพอย่างทั่วถึงและยั่งยืน สนับสนุนการพัฒนาและใช้ประโยชน์ข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบของประชาชนที่มีภาวะเปราะบาง และสานพลังการทำงานกับภาคียุทธศาสตร์ทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคีเครือข่ายพร้อมทั้งสร้างภาคีรุ่นใหม่ ในส่วนวาระกลางประจำปี 2568 เน้นบูรณาการทำงาน “ลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ” ซึ่งเป็นการขยายผลการทำงานจากปี 2567 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาฐานข้อมูลวิชาการและข้อเสนอเชิงนโยบายเสริมศักยภาพเครือข่ายคนรุ่นใหม่เป็นฐานในการขับเคลื่อนงาน พัฒนาระบบและกลไกพื้นฐาน สนับสนุนการใช้ระบบดิจิทัลเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งพื้นที่ที่มีภาวะเสี่ยง เปราะบาง
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานแผนควบคุมยาสูบ ซึ่งปัจจุบันพบการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเยาวชนเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ระดับประถมวัย ขณะที่ผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS ปี 2565) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) สำรวจนักเรียนอายุ 13-15 ปี จำนวน 6,752 คน ในทุกภูมิภาคของประเทศไทยรวม 87 โรงเรียน พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า สอดคล้องกลยุทธ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบมุ่งเน้นไปที่เด็กและเยาวชน เน้นการโฆษณาในแพลตฟอร์มออนไลน์ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยติดบุหรี่ไฟฟ้า คือ คนในครอบครัวและเพื่อนชักชวนให้สูบ เพราะมองเป็นเรื่องปกติ เข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตรายเท่าบุหรี่มวน ทั้งที่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากงานวิจัยมากกว่า 1 หมื่นชิ้น ระบุชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัยอย่างที่ถูกทำให้เชื่อ ไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ สร้างความเสียหายต่อระบบหายใจและระบบไหลเวียนของเลือด
“จากการสำรวจความคิดเห็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาวะของคนไทยพบว่า 63.7% ไม่เห็นด้วยกับการปลดล็อคบุหรี่ไฟฟ้าให้ขายได้เหมือนบุหรี่ทั่วไป และเห็นว่าจะส่งผลเสียมากกว่า ดังนั้นขอให้ สสส. เร่งสื่อสารรณรงค์พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้นเพื่อตอกย้ำให้ประชาชนเห็นถึงผลเสียต่อสุขภาพตนเองและครอบครัว โดยขอให้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด พร้อมขอความร่วมมือไปยังกระทรวงศึกษาธิการให้ช่วยดูแลสถานศึกษาให้ปลอดจากบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกวดขันและจัดการการลักลอบนำเข้า จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจังและเด็ดขาดตามนโยบายนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการขายและโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เน้นสร้างการรับรู้ของผลิตภัณฑ์เน้นให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ใช้กลยุทธ์ลด แจก แถม ส่งฟรีเพื่อกระตุ้นการซื้อขาย” นายสุริยะ กล่าว
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวว่า ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ สธ.พร้อมให้ความร่วมมือในการสร้างความตระหนัก ในส่วนมาตรการปราบปราม จับกุมก็จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็ง ขอให้มีการตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สธ. กระทรวงศึกษาธิการ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง พร้อมนี้ขอให้ สสส. ขยายผลการดำเนินงานขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ตามเป้าหมาย “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” ที่มีกรอบแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน 1. พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย 2. ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย 3. บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม โดยเฉพาะประเด็นบุหรี่ที่พระสงฆ์เข้าไปมีบทบาทสำคัญในชุมชน อาทิ โครงการวัดปลอดบุหรี่ 3,874 แห่ง ครอบคลุม 24 จังหวัด ซึ่งปัจจุบันอยากให้มีการขยายผลพื้นที่ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โรงเรียนพระปริยัติธรรมปลอดบุหรี่ที่ปัจจุบันมีการสร้างแกนนำพระคิลานุปัฎฐาก (อสว.) เพื่อทำงานร่วมกับเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่และช่วยเลิกบุหรี่