ปฏิวัติระบบราชการไทยไร้สุข ให้สุขได้แบบยั่งยืน
หลังจากปักธงชัดว่าในปี 2556 นี้ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ในฐานะหัวเรือใหญ่ จะขยายฐาน “องค์กรสุขภาวะ” ไปสู่ภาคราชการ ด้วยการแทรกหลักคิด “แฮปปี้ เวิร์กเพลส” (happy workplace) สอดเข้าไปในระบบบริหารหลังดำเนินงานกับภาคเอกชนจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และหวังให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่มีข้าราชการสังกัดอยู่ทั่วประเทศกว่า 3 แสนคน เป็นต้นทางในเรื่องนี้
ส่วนแรงจูงใจที่ทำให้ นพ.ชาญวิทย์ เบนเข็มมาที่ระบบราชการไทย เพราะผลวิจัย “ความสุขของข้าราชการไทย” โดย ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน และคณะ จากแผนงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานองค์กรภาครัฐ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุชัดว่า ช่วงปี 2553-2554 ก่อนที่รัฐจะขายนโยบายเงินเดือน 15,000 บาท แก่สังคม ข้าราชการไทยส่วนใหญ่ที่สังกัดอยู่กับ ก.พ. มีวิถีการทำงานและใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยจะสุขใจสักเท่าใดนัก
เนื่องจากระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ของข้าราชการสามัญพลเรือนใน 4 มิติ อันเป็นส่วนประกอบของคุณภาพชีวิต ได้แก่ ด้านส่วนตัว ด้านชีวิตการทำงาน ด้านสังคมและการมีส่วนร่วม และด้านรายได้ สวัสดิการ และการเงิน อยู่บนพื้นฐานความไม่สมดุล
ซึ่งแม้ว่าในเรื่องของสุขภาพร่างกายจะอยู่ในเกณฑ์ดีปานกลาง และส่วนใหญ่รักสุขภาพ ออกกำลังกาย ทานอาหารเสริม ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่ แต่ก็ยังมีราวร้อยละ 30 ที่มีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน เพราะยังชอบทานอาหารที่มีไขมันสูง ทว่า เมื่อศึกษาลงลึกในเรื่องคุณภาพชีวิตที่เริ่มตั้งแต่ “ด้านส่วนตัว” พบว่า ข้าราชการมีความเครียดสูงถึงสูงมากนั้น ระดับความเครียดดังกล่าวปรากฏอยู่ในตัวข้าราชการมากถึง 1 ใน 5 ของจำนวนข้าราชการทั้งหมด ที่สังกัดกับ ก.พ. เมื่อพิจารณาต่อถึงความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานพบว่า มีข้าราชการบางส่วนไม่มีเวลาให้ครอบครัวอย่างพอเพียง เนื่องจากภาระหน้าที่การงาน ส่งผลให้มีระดับความพึงพอใจต่อความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานในระดับปานกลางและมีค่าเฉลี่ยความสุขความพึงพอใจที่ได้ 3.49 เต็ม 4.0 ถือว่าสูงที่สุดจากทั้ง 4 ด้าน
มาต่อที่ “ด้านชีวิตการทำงาน” พบว่า ครึ่งหนึ่งของข้าราชการ มีความพึงพอใจอย่างมากต่อมิติสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน แต่ยังมีข้าราชการอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่พึงพอใจในคุณภาพชีวิตด้านชีวิตการทำงานของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องการเลื่อนตำแหน่งและการพิจารณาความดีความชอบด้วยความยุติธรรม ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยความสุขอยู่ที่ 3.24 อันเป็นค่าเฉลี่ยความสุขในลำดับที่ 3
“ด้านสังคมและการมีส่วนร่วม” พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของข้าราชการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนในที่ทำงานเดียวกัน ทั้งเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชาในเกณฑ์ปานกลางถึงมาก เนื่องจากมีระยะเวลาการทำงานที่ยาวนาน มีความสนิทสนม ความผูกพันกันค่าเฉลี่ยความสุขอยู่ในลำดับที่ 2 ประมาณ 3.26
ส่วน “ด้านรายได้ สวัสดิการ และการเงิน” พบว่า ครึ่งหนึ่งของข้าราชการไม่มีรายได้อื่นนอกจากเงินเดือนที่ได้รับ มีภาระหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระซึ่งเป็นหนี้สินชนิดเงินกู้ยืมมากที่สุด รองมาคือหนี้สินผ่อนชำระค่าสินค้าและบริการ เกือบทั้งหมดเป็นการกู้หนี้จากแหล่งเงินกู้ในระบบ ส่งผลให้ข้าราชการเกือบครึ่งไม่สามารถเก็บออมเงิน ขาดความใส่ใจในการทำบัญชีครัวเรือน โดยสามารถบริหารจัดการเงินได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ขณะเดียวกันกว่าครึ่งหนึ่งให้ความเห็นว่าค่าตอบแทนที่ได้รับไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการรับราชการ สำหรับสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ข้าราชการกว่าครึ่งหนึ่งให้ความเห็นว่ามีความเหมาะสมระดับน้อยถึงปานกลาง ที่สำคัญส่วนมากรับรู้สิทธิประโยชน์ไม่ครบถ้วน ทำให้ค่าเฉลี่ยความสุขน้อยที่สุด 2.83
ดร.ศิริเชษฐ์ ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงเพิ่มอีกว่าอย่างที่เห็นว่าใน 4 มิติ ด้านที่มีค่าเฉลี่ยความสุขต่ำที่สุดของข้าราชการไทยคือด้านเศรษฐกิจ อันมีที่มาจากปัญหาเรื่องหนี้สินเยอะ เงินเดือนไม่พอใช้สวัสดิการไม่ครอบคลุมบุคลากรของรัฐในบางประเภทส่งผลให้คนทำงานไม่ค่อยมีความสุขเท่าที่ควร ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นช่องว่างที่ควรเข้าไปจัดการให้ดีขึ้น เช่น องค์กรจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือกันเอง สร้างห้องฟิตเนสกันเอง เป็นต้น พร้อมตระหนักว่าการลงทุนเพิ่มขึ้นจะช่วยในเชิงป้องกันได้ คือทำให้จิตใจและร่างกายคนทำงานแข็งแรง เมื่อสุขภาพใจดี สุขภาพกายดี พนักงานของเราก็จะมีแรงต่อสู้กับงานที่ต้องทำ
“อย่าลืมว่าคนที่เข้ามาทำงานราชการได้ ส่วนหนึ่งมาจากจิตใจที่พร้อมจะให้บริการรับใช้ประชาชนเขาไม่ได้มีหลักเหมือนกับเอกชน ที่ 8 ชั่วโมง ทำงาน 8 ชั่วโมง ดูแลครอบครัว และอีก 8 ชั่วโมง พักผ่อนแต่ข้าราชการต้องรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาและพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ฉะนั้น เมื่อเขาเสียสละแล้วองค์กรและรัฐก็ต้องเสียสละบางส่วนเพื่อให้คุณภาพชีวิตพวกเขาดีขึ้นด้วย อยากให้คิดว่าองค์กรมีสองด้านเสมอ คือองค์กรและสมาชิกขององค์กร เราต้องทำให้องค์กรมีความสุขเป็นแฮปปี้ เวิร์กเพลส และต้องทำให้คนทำงานมีความสุขหรือมีแฮปปี้ แอท เวิร์ก ด้วยเช่นกัน ผมเชื่อว่าทุกองค์กรมีปัญหา แต่เราจะอยู่บนปัญหาด้วยความบาลานซ์ได้อย่างไร”
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจากจุฬาฯ ยังกล่าวต่อถึงสิ่งที่ต้องลงมือทำนับต่อจากนี้ด้วยว่า ก.พ.ควรจะเชื่อมโยงแนวคิดคุณภาพชีวิตที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ เข้ากับยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2554-2556 เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่ได้สร้างไว้ไปสู่แผนปฏิบัติการ
“สิ่งที่ต้องเป็นอันดับแรกที่เราจะเริ่มทำร่วมกับ ก.พ. โดยมีสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. เข้ามาช่วยเหลือก็คือการให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงหรือมีพฤติกรรมที่ทำให้เป็นหนี้เป็นสิน ทำให้สุขภาพไม่ดี ด้วยการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สามารถนำองค์ความรู้ตรงนี้คืนกลับสู่องค์กรได้ประมาณ 500 คน แล้วจัดอบรมความรู้ในเรื่องดังกล่าวให้เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น โดยใช้เครื่องมือแฮปปี้ 8 ของ นพ.ชาญวิทย์ เข้ามาช่วย นอกจากนี้ ยังมีนโยบายให้การสนับสนุนระดับหนึ่งแก่โครงการต่างๆ ที่เหล่าเมล็ดพันธุ์กลับไปคิดร่วมกันกับองค์กรของตัวเองนอกจากนี้ ยังจะเสนอเรื่องนี้กับสื่อมวลชน เพื่อให้สื่อถ่ายทอดให้สังคมเห็นว่ามันทำได้ แล้วส่งแรงกระเพื่อมไปยังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เพื่อให้มีผลต่อผู้บริหารที่จะหยิบหรือผลักดันเข้าสู่นโยบายขององค์กร เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์” ดร.เชษฐ์ อธิบายพร้อมบอกต่อด้วยว่า
ประการหลังนี้สำคัญ เพราะถ้าสามารถผลักดันให้เข้าสู่นโยบายขององค์กรได้แล้ว และคนในองค์กรรู้ว่าควรทำอะไรอย่างไรให้ตนเองและหน่วยงานมีสุขภาวะ แม้ว่าหัวข้างบนจะผลัดเปลี่ยนโยกย้ายไปขนาดไหน คำว่าแฮปปี้ เวิร์กเพลส ก็ยังคงอยู่ นายบางคนอาจไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นหลักแต่ตนเชื่อว่าไม่มีผู้บริหารคนไหนในระบบราชการต้องการเห็นลูกน้องทำงานแล้วไม่มีความสุข สุดท้ายเมื่อเขาต้องทำแต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรก่อน องค์ความรู้ที่เราใส่ไว้ก็จะเป็นตัวนำทางนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
“คุณภาพชีวิตการทำงานในทุกวันนี้เป็นเรื่องสำคัญทั้งองค์กร เรียกได้ว่าการสร้างสุขภาวะในที่ทำงานกลายเป็นกรอบปฏิบัติ และถ้าลงมือปฏิบัติแล้วถือว่าเป็นเกณฑ์ปฏิบัติดี คนร่วมใจกันลงมือปฏิบัติด้วยความรู้ความเข้าใจร่วมมือร่วมใจ องค์กรข้าราชการของรัฐก็จะเคลื่อนไปข้างหน้า หมายถึงประเทศก็จะเขยื้อนด้วยครับ”
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์