ปฏิรูป…ไม่ฉาบฉวย

สิทธิต้องคู่กับหน้าที่

 

 ปฏิรูป…ไม่ฉาบฉวย

 

          นับจากวันที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศนโยบายปฏิรูปประเทศไทย จนถึงวันนี้ก็ 4 เดือนเศษๆ แล้ว คนที่ทำงานเรื่องนี้ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการปฏิรูปชุดที่มีนายอานันท์ ปันยาชุน เป็นประธานหรือคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปที่มี อาจาร์ยหมอประเวศ วะสี เป็นหัวเรือใหญ่ แต่ดูเหมือนว่า ไม่ค่อยเป็นข่าวสักเท่าไหร่

 

          ผมเชื่อว่า คนทำงานตรงนี้ก็ตระหนักรู้อยู่แก่ใจแล้วว่า การทำงานด้านความคิด ซึ่งเป็นใหญ่เป็นนามธรรม เป็นเรื่องยากเป็นสิ่งซับซ้อนนั้นเป็นกระยวนการต้องใช้เวลา มิเช่นนั้นเราคงไม่เรียกมันเป็นการปฏิรูป

 

          นอกจากนั้น การเร่งรีบโยไม่ศึกษาหาข้อมูลให้รอบคอบ ตรวจสอบความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ให้ละเอียดถึงแก่นเพียงเพื่ออวดอ้างสร้างภาพในระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้ สุดท้ายผลลัพธ์ที่ตามมาอาจจะไม่แตกต่างจากการปฏิรูปในอดีต นั่นคือปฏิรูปแบบฉาบฉวย

 

          จนถึงวันนี้ ผมเชื่อว่าวาระแห่งชาติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทยจะไม่หยุดแค่เป็นเกมการเมือง เพื่อซื้อเวลาของรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะเท่าทีผมติดตามกระแส ความเคลื่อนไหวงานการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องตลอดมานั้น ผมพบว่าทุกฝ่ายกระตือรือร้นที่อยากเห็นการปฏิรูปเป็นจริง โดยมีการส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง เหมือนโมเดลของอาจารย์หมอประเวศที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” นั่นคือ ประมวลผลรวบรวมข้อมูลและปัญหาหาจนถึงข้อเสนอแนะจากล่างสู่บน จากมวลชนมุ่งสู่ศูนย์กลางอย่างมีระบบ ไม่ใช่สั่งการลงมาจากส่วนกลางหรือออกจากทำเนียบรัฐบาลเหมือนที่แล้วๆ มา

 

          สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” โมเดลนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ก็ให้จิตนาการถึงเจดีย์ตามวัดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้วกันครับ

 

          ศ.นพ.ประเวศ วะสี นำเสนอแนวคิดนี้เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้น่าอยู่ที่สุดในโลกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังวิกฤติการเมืองปี 2549 นั่นแหละ

 

          ท่านมองเห็นเหมือนคนอื่นๆ ว่า ระบบและโครงสร้างการบริหารประเทศไทยนั้นพิกลพิการ จึงทำให้เกิดอาการบาดเจ็บป่วยหรือวิกฤติเรื้อรัง ดังนั้นจะให้หลุดออกจากวิกฤติ หมายถึงทุกคนต้องร่วมกันเขยื้อนปัญหาที่หมักหมมมานานให้ออกไป และวางระบบกันใหม่ตั้งแต่รากฐาน และโดยคนรากฐานหรือรากหญ้าที่ถือเป็นพลเมืองส่วนใหญ่

 

          สามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือพระเจดีย์แห่งการปฏิรูป สามารถทำความเข้าใจอย่างนี้ครับ ชั้นแรกหรือชั้นสูงสุดคือจิตสำนึกและความเป็นธรรม ชั้นที่สองคือล่างสุดหรือรากฐานต้องรู้จักบูรณาการด้วยการใช้เศรษฐกิจพอเพียง สร้างประชาธิปไตยชุมชน โดยมีชั้นที่ 3 คือท้องถิ่นและชุมชนเข้มแข็งเป็นตัวเชื่อมชั้นที่ 1 และ 2 นอกจากนั้นต้องไม่ลืมชั้น 4 คือปฏิรูประบบต่างๆ ให้เชื่อมทุกชั้นอย่างเป็นหนึ่งใจเดียวกัน

 

          ความมีส่วนร่วม สำนึกรับผิดชอบต่อท้องถิ่นและชุมชนนับเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหา หรือเป็นพลังช่วยเขยื้อนภูเขาให้สู่ชีวิตใหม่ที่ต้องการครับ ด้วยแนวคิดและแนวทางที่เสมือนมี “โรดแมป” จากราษฎรผู้อาวุโสนี้เอง ทำให้ผมค่อนข้างมั่นใจ งานการปฏิรูปในยุคนี้วันนี้ต้องไม่เหมือนกับที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งมักจะเลือกปฏิรูปเฉพาะเรื่องเฉพาะประเด็น และเฉพาะหน้ากันเท่านั้น

 

          อาทิ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ของคณะกรรมการปฏิรูปหรือ คปร. ในประเด็น “ลดอำนาจ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” เมื่อเร็วๆ นี้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เป็นคำตอบที่เห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่างของการปฏิรูปประเทศวันนี้ เพราะหลายภาคส่วนได้นำเสนอความคิดซึ่งมาจากประสบการณ์และชีวิตจริงของแต่ละพื้นที่ โดยมีเป้าหมายร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร

 

 ปฏิรูป…ไม่ฉาบฉวย

 

โมเดล “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”

 

          สิ่งที่น่าประทับใจเห็นจะเป็นคำกล่าวย้ำของ นายอานันท์ ปันยาชุน ประธาน คปร. ที่ระบุว่า ….การปฏิรูปเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศไทย ทุกคนมีสิทธิ มีความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของประเทศ จะเข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างจริงจังและสร้างสรรค์เพราะความรู้ ประสบการณ์ และเรื่องความพร้อมอย่างเดียวไม่พอ ต้องเตรียมคนในสังคมให้พร้อมด้วย และเมื่อประชาชน 64-65 ล้านคนพร้อม จะได้ลดอำนาจกลับคืนมา ก็สามารถนำอำนาจไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป….

 

          อดีตนายกรัฐมนตรียังคงทำความเข้าใจอีกครั้งว่า คปร. และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ชี้นำหรือบอก แต่เป็นแกนกลางที่จะรับข้อมูลและอยากฟังข้อเท็จจริงอยากฟังความคิดเห็น อยากฟังข้อเสนอ เพื่อร่วมหาทางออกร่วมกันคณะกรรมการเป็นแค่กลไกชิ้นหนึ่ง ส่วนคนที่จะผลักดันการปฏิรูปให้เป็นจริงคือประชาชนทุกฝ่าย

 

          สรุปแล้วสรุปอีกคือ ประชาชนชาวบ้านทั้งหลายต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมกันในการปฏิรูป ไม่เพียงแต่เรียกร้องสิทธิ แต่สิทธินั้นต้องควบคู่กับหน้าที่และความรับผิดชอบด้วย

 

          ฟังจากข้อความของชาวบ้านในเวทีรับฟังความคิดเห็นของ คปร. ครั้งนี้ เขามีข้อเสนอที่น่าทึ่งเยอะแยะ ผมอยากเห็นผู้นำทางการเมืองในบ้านเรา หรือผู้มีอำนาจรัฐในมือ ได้มีโอกาสไปร่วมฟังอยากมาก แต่มองไปมองมา บอกตรงๆ ว่า ..เซ็ง..

 

          ดังนั้น การปฏิรูปประเทศไทยจะไม่ใช่วาระที่ฉาบฉวย ถ้าเราคนไทยทุกคนเอาใส่ใจครับ

 

          ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาส ไม่มีความรู้ ไม่เป็นไรครับ ขอให้ช่วยกันติดตาม ศึกษา หาข้อมูลเมื่อโอกาส หรือเมื่อเขาเปิดช่องทางและโอกาสให้ อย่างน้อยที่สุด หากวันนี้ต้องมีบทสรุปช่องทางปฏิรูปกันไปในทางไหน เราทุกคนก็จะได้พร้อมที่จะให้ความร่วมมือหรือพรอ้มที่จะแสดงอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ โดย นายใฝ่ฝัน ปฏิรูป

 

 

Update : 29-10-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code