ปฏิรูป ‘เรือนจำ’เปลี่ยน’ลงทัณฑ์’เป็น’ฟื้นฟู’

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ปฏิรูป 'เรือนจำ'เปลี่ยน'ลงทัณฑ์'เป็น'ฟื้นฟู' thaihealth


"อิสรภาพเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ การต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำก็เป็นการพรากอิสรภาพจากชีวิต เป็นการลงโทษอยู่แล้ว  ดังนั้นผู้ต้องขังควรได้รับสิทธิในสิ่งที่มนุษย์ควรจะมี เช่น เรื่องสุขภาพ หรือสิทธิอื่นๆ" รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระกล่าวถึงการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใยในเรือนจำ


จากที่สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ได้เผยแพร่รายงานสำรวจระบบทัณฑสถานของประเทศไทย เรื่อง "หลังกำแพง : ส่องสภาพเรือนจำไทยภายหลังรัฐประหาร" เมื่อปลาเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดยระบุว่า เรือนจำในประเทศไทยมีปัญหาอาคารที่พักแออัด พื้นที่นอนคับแคบ สุขอนามัยไม่ดีเพียงพอ อาหารแย่และน้ำดื่มไม่สะอาด การรักษาพยาบาลไม่เพียงพอต่อความต้องการ ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศและล้มเหลวอย่างต่อเนื่องในการปฏิรูปเรือนจำ ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน


ปฏิรูป 'เรือนจำ'เปลี่ยน'ลงทัณฑ์'เป็น'ฟื้นฟู' thaihealth


โครงการ "เรือนจำสุขภาวะ : จากพื้นที่แห่งการลงโทษสู่ชุมชนแห่งความห่วงใย" น่าจะเป็น รูปแบบหนึ่งของการปฏิรูปเรือนจำที่จะลดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการให้สิทธิที่มนุษย์ควรจะได้รับ เพราะโครงการนี้เป็นการปรับเรือนจำให้กลายเป็นชุมชนแห่งความห่วงใยเพื่อพัฒนาชีวิตผู้ต้องขังหญิง ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคมสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม มีการนำร่องใน เรือนจำ 2 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกลางราชบุรี และเรือนจำกลางอุดรธานี


การปฏิรูปเรือนจำตามแนวทางนี้ จะเน้นสร้างเสริมเรือนจำให้เป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดสุขภาวะต่อสมาชิกทั้งผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในเรือนจำ ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี บอกว่า กิจกรรมที่สำคัญ อาทิ


1.สร้างระบบการดูแลสุขภาพให้แก่ผู้ต้องขังหญิง โดยมีการสร้างอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในเรือนจำ ด้วยการคัดผู้ต้องขังมาเข้ารับการอบรมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้นำความรู้ไปสร้างสุขภาวะในเรือนจำเท่าที่จะสามารถทำได้ ดูแลรักษาเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วย มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าไปให้บริการ รวมถึงหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ และการดูแลสุขภาพทางเลือก จัดให้มีสวนสุขภาพ การออกกำลังกาย เป็นต้น


2.โครงการส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพภายใต้บริบทของเรือนจำ  สร้างแหล่งอาหารที่มีประโยชน์ในเรือนจำ โดยให้ผู้ต้องขังสามารถปลูกพืชผักไว้สำหรับการบริโภค เพื่อให้ ผู้ต้องขังคลายเครียดและมีจิตใจที่อ่อนโยนด้วย


และ 3.โครงการโยคะในเรือนจำเพื่อพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวม โดยให้ผู้ต้องขังที่สนใจโยคะเข้ารับการฝึกอบรมโยคะ  พัฒนาเรือนจำกลางราชบุรีเป็นศูนย์ฝึกโยคะ เพื่อฝึกผู้ต้องขังเป็นครูโยคะ และสนับสนุนให้เรือนจำต่างๆ นำการฝึกโยคะเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูผู้ต้องขัง ซึ่งมีการนำโยคะในเรือนจำเข้าร่วมการแข่งขันโยคะชิงแชมป์เอเชีย สามารถคว้ามาได้ 2 เหรียญเงิน 4 เหรียญทองแดง 12 รางวัลชมเชย นอกจากนี้ยังจัดทำปฏิทินปี 2560 จรัสแสงในความมืด ซึ่งเป็นการถ่ายภาพโยคะในเรือนจำมาทำเป็นปฏิทิน โดยได้รับอนุญาตในการถ่ายภาพจากผู้ต้องขัง เป็นต้น


ปฏิรูป 'เรือนจำ'เปลี่ยน'ลงทัณฑ์'เป็น'ฟื้นฟู' thaihealth


ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางบวกต่อสุขภาวะ ผศ.ธีรวัลย์ บอกว่า  ภาพรวมเรือนจำกลางราชบุรีและเรือนจำกลางอุดรธานีเริ่มตระหนักในความสำคัญของการปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นชุมชนแห่งความห่วงใยมากขึ้น เกิดการก่อรูปของระบบสาธารณสุขมูลฐานในเรือนจำ นำร่องการดูแลรักษาสุขภาพปากและฟันให้แก่ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำกลางราชบุรี ก่อรูปของแหล่งอาหารในเรือนจำ รวมถึงสร้างงานที่ช่วยให้ผู้ต้องขังหญิงมีโอกาสใช้พลังสร้างสรรค์และมีความสุขในการทำงาน


"ไม่ใช่ว่าทำเรือนจำให้ดีแล้วจะมีคนอยากเข้าไปอยู่มากขึ้น มันไม่ใช่ แม้จะสร้างเรือนจำให้ดีหรือสบายแค่ไหนก็ไม่มีใครอยากที่จะเข้าไปอยู่ เพราะเป็นการถูกจำกัดอิสรภาพ อย่างที่ประเทศนอร์เวย์ หรือเนเธอร์แลนด์ มีสระว่ายน้ำและ เรือนจำดีมาก แต่จำนวนผู้ต้องขังก็น้อย การปฏิรูปเรือนจำด้วยการให้สิทธิที่มนุษย์ควรมี จึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ" รศ.ดร.นภาภรณ์ กล่าว


ทั้งหมดนี้เพื่อปฏิรูปให้เรือนจำเป็นพื้นที่ซึ่งมีความอบอุ่น ปลอดภัย สมาชิกมีความผูกพันกัน ต่างช่วยให้เสริมสร้างชีวิตให้แก่กันโดยไม่เลือกว่าบุคคลนั้นคือใคร เพราะมีความเข้าใจในข้อจำกัดและจุดอ่อนของคนอื่นๆ การสร้างชุมชนแห่งความห่วงใยในเรือนจำ เป็นรากฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังอย่างยั่งยืน และยังมีส่วนช่วยในการสร้างชุมชนและสังคมให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code