ปฏิรูปสุขภาพ:ปฏิรูปประเทศไทย
แค่สุขภาพดีก็เปลี่ยนประเทศได้
ในการปฏิรูปประเทศไทยคงไม่สามารถเดินหน้าด้วยการปฏิรูปเฉพาะเรื่องการบ้านการเมืองเพียงเท่านั้น แต่คงต้องเดินหน้าปฏิรูปประเทศในทุกมิติไปอย่างพร้อมเพรียงกัน มิติหนึ่งที่มิอาจละเลยได้เลยคือ “มิติด้านสุขภาพ” เพราะเมื่อไหร่ที่คนในชาติมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี ย่อมดีกว่าการต้องเสียงบประมาณจำนวนมากเพื่อใช้สำหรับการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของคนในชาติอย่างแน่นอน
ในการเสวนา “ปฏิรูปสุขภาพ : ปฏิรูปประเทศไทย” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.) ซึ่ง “รสนา โตสิตระกูล” สมาชิกวุฒิสภา กทม. พร้อมด้วย “นพ.วิชัย โชควิวัฒน” กรรมการปฏิรูปประเทศไทย ได้กล่าวถึงในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ
นางสาวรสนา กล่าวว่า สุขภาพถือเป็นกระจกสะท้อนภาพรวมของทุกอย่าง ซึ่งในอดีตนั้นมองเรื่อง “สาธารณสุข” ว่าเป็นเรื่องสุขภาพกายเท่านั้น แต่ความจริงแล้วรวมไปถึงเรื่องของใจด้วย เพราะหากสามารถลดความโลภ ความโกรธ ความหลงลงไปได้ ก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อมตามมา
“การแก้ปัญหาสุขภาพจึงไม่ใช่แค่การมียารักษาโรค แต่ทำอย่างไรให้คนมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเรื่องสุขภาพคือเรื่องของกาย จิต และปัญญา โดยเฉพาะควรให้ความสำคัญกับเรื่องจิตใจก่อนเพราะจะทำให้ปัญหาต่างๆ ลดน้อยลง ส่วนการปฏิรูปสุขภาพที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยนั้น ควรมีการรักษาที่เป็นทางเลือกที่หลากหลาย เช่น การใช้สมุนไพร ให้กับประชาชนควบคู่กับการรักษาแผนปัจจุบัน และระบบสุขภาพต้องมีความเท่าเทียม ประชาชนต้องพึ่งพาตนเองได้”
สมาชิกวุฒิสภา กทม. กล่าวถึงการจะปฏิรูปประเทศว่า สังคมควรมีความเข้าใจที่ตรงกัน ว่าต้องการผลักดันประเด็นใดที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ลดความเหลื่อมล้ำและสิ่งที่เป็นปัญหา ที่สำคัญต้องลดทอนสิ่งที่เป็นประโยชน์ส่วนตนลง
ขณะที่ นพ.วิชัย กล่าวถึงระบบสุขภาพของไทยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จหลายเรื่อง ได้แก่ เรื่องการวางแผนครอบครัว, การวางพื้นฐานระบบบริการสาธารณสุขที่ทำให้ประเทศไทยมีสถานีอนามัยอยู่ในทุกตำบล และมีโรงพยาบาลอยู่ทุกอำเภอ, การควบคุมการสูบและจำหน่ายบุหรี่, การควบคุมโรคเอดส์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าระบบสาธารณสุขของไทยยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมระหว่างประชาชนในเมืองหลวงกับชนบท ที่จำนวนหมอ พยาบาลในเมืองหลวงมีมากกว่าในชนบท หรือความห่างไกลของสถานพยาบาลที่ทำให้คนในชนบทต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางกว่าจะได้รับการรักษาพยาบาล และมีโอกาสที่จะเสียชีวิตจากการได้รับการรักษาล่าช้ามากขึ้น
“สิ่งที่ต้องทำเพื่อปฏิรูปสุขภาพ คือ ต้องส่งเสริมองค์กรด้านสุขภาพให้ทำงานอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการป้องกันโรค ไม่ใช่การฉีดวัคซีน แต่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพ เราควรเอาพื้นที่หรือที่ดินว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วนมาให้เด็กได้เล่นกีฬาจะดีกว่าปล่อยไว้เฉยๆ มาก” นพ.วิชัยกล่าว
กรรมการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวอีกว่า การจะปฏิรูปประเทศไทยให้ได้ผลนั้น ต้องทำความรู้ที่มีอยู่ให้ชัด ขับเคลื่อนสังคมที่เป็นปัญหาให้เป็นปัญญาและแก้ไขปัญหาที่มี และผลักดันเรื่องต่างๆ ให้เป็นนโยบายรัฐบาล ซึ่งหากดำเนินการทั้ง 3 ด้านได้ เชื่อแน่ว่าการปฏิรูปประเทศไทยจะเห็นผลอย่างแน่นอน
ที่มา : คีตฌาณ์ ลอยเลิศ teamcontent www.thaihealth.or.th
update : 12-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร