ปฏิรูปศักยภาพ “ครูพยาบาล” ภาคอีสาน รับแผนยุทธศาสตร์ชาติ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ปฏิรูปศักยภาพ "ครูพยาบาล"ภาคอีสาน รับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ด้วย "Transformative Learning"
เพราะการพัฒนา "อาจารย์" ที่เปรียบได้กับ "ผู้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์" เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งลงมือทำ เพื่อให้การปฏิรูปสถาบันสู่การพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 เกิดเป็นรูปธรรมสอดรับให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งโรคอุบัติใหม่ ภัยพิบัติจากธรรมชาติ สภาพเศรษฐกิจ เทคโนโลยีสุขภาพและสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ารวมไปถึงนโยบายระดับชาติด้านสาธารณสุขอาทิ ยุทธศาสตร์ พีเพิล เอ็กเซลเลนซ์ (People Excellence) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) และยุทธศาสตร์โลกว่าด้วยการพัฒนากำลังคน ค.ศ.2030
เหตุผลในข้างต้นเป็นที่มาของโครงการพัฒนาศักยภาพครูมืออาชีพด้านการจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับระบบสุขภาพ (Faculty Development for Health Professional Teachers and Strengthening Health Systems Workshop : FD Workshop) โดย เครือข่ายวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมราชาวดี จ.ขอนแก่น เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพอาจารย์ด้านสุขภาพให้ตรงกับความต้องการของประเทศในอนาคต ซึ่งได้รับสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ทั้งนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจากศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์ อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นวิทยกรผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้แก่ผู้เข้าอบรม
ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิกา ศสช.ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า การปฏิรูประบบสุขภาพให้เกิดเป็นรูปธรรมได้จริงต้องเริ่มต้นจากการปฏิรูปการเรียนการสอนทั้งระบบ ทั้งการปรับหลักสูตรการเรียนตามแนวคิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง หรือ Transformative Learning เพื่อเตรียมนิสิตนักศึกษา ให้กลายเป็นบุคลากรสุขภาพแบบ Transformative ตอบสนองต่อผู้ใช้ในปัจจุบันและอนาคต และการพัฒนาผู้ผลิตบุคลากรซึ่งก็คือ ครู อาจารย์ สายสุขภาพทั้ง 9 วิชาชีพ ให้กลายเป็นพิมพ์หลอมแบบ Transformative เช่นกัน เพราะที่ผ่านมาอาจารย์โดยส่วนมากยังคงเน้นการเรียนการสอนในลักษณะเดิมคือตามตำราและสนใจงานวิชาการของตนเองจนตามสถานการณ์โลกไม่ทัน
ศ.พญ.วณิชา กล่าวต่ออีกว่า ทาง คสช.ได้ดำเนินการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนด้านสุขภาพมาแล้ว 4 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ 5 ปี โดยร่วมกับสถาบันอุมศึกษาในประเทศ และเดินหน้าพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของอาจารย์สายสุขภาพของอาจารย์สายสุขภาพไปพร้อมกัน ซึ่งอาจารย์ที่เข้ารับการอบรมจะกลายเป็นเทรนเนอร์ให้กับอาจารย์ด้านสุขภาพในสถาบันของตนเองต่อไป
"ต่อจากนี้ คสช.จะลงพื้นที่ขยายไปภาคอื่นด้วยเพื่อให้งานที่ทำในเชิงรุกเกิดการเชื่อมโยง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน จนสามารถต่อยอดองค์ความรู้และสร้างเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้การพัฒนาอาจารย์เป็นไปได้เร็ว มีประสิทธิภาพ ส่งผลในระยะยาวตามเป้าหมายสูงสุดที่ ศสช.อยากให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพที่ดีและได้รับการบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม แต่การจะไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีบุคลากรสุขภาพที่มีสมรรถนะในการตอบสนองต่อระบบสาธารณสุขที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น การเตรียมการในเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ" เลขาธิการศสช. ระบุ
ด้าน นางวัชรี อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น กล่าวว่า เครือข่ายวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก สธ.มีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคณาจารย์ในเครือข่าย ดังนั้น การนำทักษะการเรียนรู้ตามแนวคิด Transformative Learning มาใช้พัฒนาบุคลากร นับว่าเป็นการเสริมสร้างแนวคิดการริเริ่มสร้างสรรค์ตลอดจนพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมการวัดผล ยังเพิ่มศักยภาพการสื่อสาร การแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ รวมถึงประสิทธิภาพในการใช้เทคโนโลยีประกอบวิชาชีพที่ดีมากขึ้น
"เราหวังอย่างยิ่งว่าผู้ที่เข้ารับการอบรมจะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาให้เกิดภาวะผู้นำที่ดี มีความรับผิดชอบ และดูแลผู้ป่วยหรือแม้แต่คนทั่วไปด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้มีความสำคัญยิ่งต่อครูและอาจารย์ผู้สอน ที่นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนด้านสุขภาพให้กลายเป็น Transformative Learning" ผอ.วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น กล่าว