ปฏิรูปการเรียนรู้ ช่วยยกระดับเด็กไทย
สสค. ร่วมกับสถาบันราชานุกูล และสถาบันรามจิตติ จัดประชุมผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบการจัดการเชิงพื้นที่ เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ของเด็กไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องแกรนด์ C ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสถาบันราชานุกูล และสถาบันรามจิตติจัดสัมมนาผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบการจัดการเชิงพื้นที่ในการส่งต่อข้อมูลสุขภาพและการให้บริการส่งเสริมพัฒนาการและเชาวน์ปัญญาเด็กไทยในระดับพื้นที่ โดยประกอบด้วย 4 จังหวัดนำร่องได้แก่ จังหวัดเชียงราย ภูเก็ต สุรินทร์ และพระนครศรีอยุธยา
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. กล่าวในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า สปช.และศธ.เห็นสอดคล้องกันว่า การช่วยยกระดับ IQ เด็กตั้งแต่ปฐมวัยให้ดีขึ้น ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของคนทุกภาคส่วน ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลและพื้นที่ในการส่งต่อข้อมูล โดยเฉพาะในช่วงวัย 0-6 ปี ซึ่งถือเป็นวัยทองในการลงทุน คิดเป็นความคุ้มค่าต่อการลงทุนถึง 7 เท่า ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงทิศทางของประเทศจากร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน ประเทศไทยคงหลีกหนีไม่พ้นจากแนวทางการกระจายอำนาจสู่ฐานพื้นที่ จึงเสนอให้สสค.-สถาบันราชานุกูล และสถาบันรามจิตติทำข้อเสนอยื่นต่อสปช.เพื่อให้เกิดทิศทางการรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลอย่างเป็นระบบ ออกมาเป็นกฏกระทรวง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นทางการ โดยใช้ผลการวิจัยนำร่องจากโครงการฯนี้เป็นตัวอย่างพื้นที่ที่สามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง อาทิ การมีระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาประชากร การมีกองทุนเงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยสำหรับครอบครัวที่อยู่ในภาวะยากลำบาก หรือแม้กระทั่งการแก้ไขกฎ และระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาเด็ก เยาวชน และประชากรของประเทศ
พญ.นพวรรณ ศรีวงค์พานิช รองผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ในปี 2557 ทางสถาบันราชานุกูลได้นำร่องการสำรวจ IQ ปี 2557 พบว่า ระดับ IQ ของกลุ่มตัวอย่างระดับประถมศึกษาปีที่ 1 มีแนวโน้มลดลงจาก 94.5 ในปี 2554 เป็น 93.1 ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กไม่เอื้อต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก บทเรียนจากโครงการฯจึงถือเป็นอีกเครื่องพิสูจน์หนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าบุคคลแวดล้อมรอบตัวเด็กต่างมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็กซึ่งจะมีผลต่อ IQ การปลดล็อคข้อจำกัดในระบบราชการบางอย่าง เช่น การพัฒนาแนวทางการส่งต่อข้อมูลและใช้ข้อมูล การถ่ายทอดความรู้ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้ข้ามผ่านจากหน่วยงานทางสาธารณสุขให้ไปสู่พ่อแม่ผู้เลี้ยงดู ครูและผู้ดูแลเด็ก ทำให้เด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเด็กพิเศษได้รับการค้นพบอย่าง และสามารถได้รับการส่งเสริมพัฒนาการและรักษาได้อย่างทันท่วงที
ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการมีต้นทุนทำงานทั้งงบประมาณและวิชาการ จึงทำให้มีเครือข่ายข้อมูลในการวิเคราะห์ปัญหารอบด้าน จุดเด่นคือ มีการใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือปรับเปลี่ยนการทำงาน จึงทำให้มีการพัฒนาต่อเนื่อง คนไทยเดิมมีวัฒนธรรมการทำงานเชิงเดี่ยว แต่ปัจจุบันเริ่มมีการทำงานเชิงเครือข่ายมากขึ้น ทำให้สังคมเกิดการปรับเจตคติมากขึ้นในการทำงานเชื่อมโยงหลายหน่วยงาน ส่วนฐานข้อมูลและเครื่องมือที่ค่อนข้างหลากหลายสามารถให้มีการปรับให้เข้ากันได้ สิ่งสำคัญอยากให้มีเครื่องมือที่ช่วยในการส่งต่อเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)