ปฏิรูปการดูแลผู้สูงอายุ เส้นทางสู่สังคมสุขภาวะ


ว่ากันตามวัฒนธรรมประเพณีแล้วเมื่อวานนี้ 13 เมษายนถือเป็นวันเริ่มต้นของวันสงกรานต์  ต่อมามีการกำหนดอย่างเป็นทางการให้วันที่ 14 เมษายนเป็นวันครอบครัว ส่วนวันที่ 15 เมษายนนั้น เป็นวันหยุดที่มีการกำหนดเพิ่มขึ้นในช่วงรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเห็นว่า เป็นประเพณีที่ลูกหลานควรจะมีเวลากลับไปเยี่ยมพ่อแก่แม่เฒ่ารดน้ำดำหัวขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในแต่ละปีมากกว่าวันที่ 13 เมษายนวันเดียวเท่านั้น 


ทว่า..หากว่ากันอย่างเป็นทางการแล้ว นอกจากวันที่ 13 เมษาของทุกปีจะเป็นวันเย็นฉ่ำทั่วหล้ามหาสงกรานต์แล้ว ถือเป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ที่เชื่อว่าน้อยคนนักจะสนใจจดจำ และเห็นความสำคัญ


ความไม่สนใจหรือไม่รู้เกี่ยวกับวันผู้สูงอายุนั้น อาจจะมี “วัย” เป็นปัจจัยหรือตัวแปรสำคัญ ด้วยประเพณีสงกรานต์ทุกวันนี้ค่อนข้างผิดเพี้ยนออกจากยุคคุณตาคุณยายเป็นสาว ซึ่งมักจะนุ่งผ้าแต่งตัวด้วยเสื้อชุดใหม่ไปทำบุญที่วัด ปล่อยนกปล่อยปลา ตกเย็นขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อกองทราย อันถือเป็นการชำระหนี้สงฆ์ จากการที่คนในยุคสมัยนั้นเห็นว่า ทุกครั้งที่เหยียบเข้าวัด เราจะนำทรายหรือดินที่วัดติดตัวหรือติดเท้ามาโดยไม่เจตนา ประเพณีการก่อกองทรายก็เพื่อคืนดินคืนทรายให้กับทางวัดนั่นเอง


ส่วนเรื่องการเล่นน้ำเล่นท่า หรือสาดน้ำประแป้งกันนั้นเป็นการเล่นสนุกของเด็กๆ แล้วก็ถูกปรับเปลี่ยนแปลงกันมาจนทุกวันนี้ถึงกับมีปืนฉีดน้ำขนาดยักษ์ราวกับถือปืนอาก้า หรือบาซูก้ามิปาน ประเภทขันน้ำลอยดอกมะลิ  ใส่น้ำอบนางลอยนั้น คงหาได้เฉพาะลูกๆเข้าไปกราบขอพรและรดน้ำคุณพ่อคุณแม่หรือปู่ย่าตายายเท่านั้น


สำหรับผม.. อาจจะเป็นเพราะวัยวุฒิเลยหลักสี่ไปแถวรังสิตคลองห้าแล้ว  วันนี้จึงชวนหาความรู้ติดอาวุธทางปัญญาด้วยเรื่องของ “ผู้สูงอายุ” ครับ องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้นิยามว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเกิน 10% หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป เกิน 7% ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป  เพิ่มเป็น 20%  และอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 14% 


ข้อมูลสถิติประชากรของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งประมวลผลจากฐานข้อมูล “ทะเบียนราษฎร์” ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง พบว่ามีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทย มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี  และมีความสอดคล้องกับข้อมูลการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย  กล่าวคือ ประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)  ตั้งแต่ พ.ศ.2547  หรือคิดเป็นร้อยละ 10.20  ทั้งนี้ ได้มีการคาดประมาณกันไว้ว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี พ.ศ.2570


ในประเทศไทยนั้นเริ่มมีการจุดประกายเกี่ยวกับ “ผู้สูงอายุ” ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการกำหนดนโยบายที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข และได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชรา บ้านบางแค เป็นแห่งแรกขึ้นในปี2496 แต่จะว่าไปแล้วคุณค่าความหมายของผู้สูงอายุก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า และปราศจากความน่าสนใจจนกระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 53 ระบุว่า  บุคคลใดซึ่งมีอายุเกิน หกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ  มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือจากรัฐ และมาตรา 84(4)  ระบุว่า ให้จัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง  เราจึงได้เห็นความเคลื่อนไหวเพื่อการสร้างสุขภาวะให้กับผู้สูงอายุอย่างเป็นกิจลักษณะการให้เบี้ยยังชีพเดือนละ 500 บาทกับผู้สูงวัย จากรัฐบาล อาจจะมองว่าเป็นผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันเพื่อคนวัย 60  แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ยังมีรายละเอียดอื่นๆอีกมากมายกว่าเงินครับที่จะบ่งบอกว่า สังคมไทยได้สู่ยุคของการปฏิรูปแล้วอย่างจริงจังต่อเนื่อง


ผมกล้ายืนยันเช่นนี้ ก็เพราะงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 ซึ่งมี นพ.ประเวศ วะสี เป็นพ่องานเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ก็มีประเด็นการพิจารณาเพื่อเสนอแนะให้มีการสร้างระบบหลักประกันในการดำรงชีพและระบบสังคมที่สร้างเสริมสุขภาวะแก่ผู้สูงอายุ  โดยที่ประชุมสมัชชาระบุว่า การมีปัจจัยยังชีพในระดับที่พอเพียงในยามสูงอายุเป็นสิทธิที่ทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ โดยการดำเนินการต้องบูรณาการการออมของบุคคล การช่วยเหลือเกื้อกูลภายในครอบครัว การสนับสนุนจากชุมชน และรัฐ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางสังคมที่จะให้ประชาชนสามารถดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรียามสูงอายุ


พร้อมกันนั้นที่ประชุมสมัชชายังเห็นว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ระบบบำนาญผู้สูงอายุที่มีอยู่ ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง ขาดความเสมอภาค ขาดการบูรณาการระบบ และมีแนวโน้มขาดความยั่งยืนทางการเงินในอนาคต


เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปประเทศไทย การสร้างระบบหลักประกันในการดำรงชีพและระบบสังคมที่สร้างเสริมสุขภาวะแก่ผู้สูงอายุ จึงเป็นประเด็นที่ต้องสนใจ เพราะเราต้องไม่ลืมว่า สังคมประเทศชาติที่รุ่งเรืองมาได้จนทุกวันนี้ บรรพบุรุษและผู้สูงวัยล้วนมีส่วนสร้างมากับมือและเสริมส่งให้สืบทอดมาจนเราเองก็ภาคภูมิใจว่า เราเป็นเอกราชที่ไม่น้อยหน้าไปกว่าใครในอารยประเทศทั่วโลก


ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสุขภาวะของผู้สูงวัยจึงมีการกำหนดว่า ขอให้รัฐบบาลกำหนดเป็นนโยบายและวิสัยทัศน์ระยะยาวว่า “สังคมไทย มีหลักประกันการดำรงชีพใน ระดับที่พอเพียง และมีระบบสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุ” ขอให้รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับหน่วยงานรัฐต่างๆ ทำงานร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูป คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป สภาผู้สูงอายุ องค์กรภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อดำเนินการ พัฒนารูปแบบและระบบการเงินการคลังเพื่อหลักประกันในยามสูงอายุที่หลากหลายสำหรับทุกคน ครอบคลุมทั้งระบบบำนาญพื้นฐานที่อ้างอิงเส้นความยากจน การออมในระดับชุมชน และการจัดระบบหลักประกันด้านการเงิน ในระยะยาวต่อเนื่อง  นอกจากนั้นยังขอให้พัฒนาระบบสวัสดิการสังคมที่สร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ โดยให้มีรูปแบบที่หลากหลายรวมทั้งพิจารณาแนวทางการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ว่าด้วยการเลิกจ้างงานด้วยเหตุมีอายุเกิน โดยไม่ได้คำนึงหรือประเมินความสามารถในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมและที่สำคัญ ขอให้หน่วยงานหลักในภาครัฐ ร่วมกันจัดหามาตรการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ โดย นายใฝ่ฝัน….ปฏิรูป

Shares:
QR Code :
QR Code