ปฏิบัติการ `นักสร้างสุของค์กร`

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ปฏิบัติการ 'นักสร้างสุของค์กร' ในสภาสูง thaihealth


แฟ้มภาพ


มีข้อมูลยืนยันชัดว่า  องค์กรที่มีการดูแลสุขภาพชีวิตของพนักงาน จะสามารถลดรายจ่ายทางสุขภาพ และยังส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับองค์กร


"หากเจ้าหน้าที่ทุกคนมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ก็สามารถทำให้องค์กรพัฒนาต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ"  วรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา


การดูแล "สุขภาพ" ของพนักงาน ไม่ใช่แค่เพียงมิติทางการรักษา แต่รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เอื้อต่อการทำงาน การส่งเสริมกิจกรรมออกกำลังกายเพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงของโรค การส่งเสริมให้พนักงานมีครอบครัวอบอุ่น รวมถึงการส่งเสริมความมั่นคงทางการเงิน และความสมดุลของการใช้ชีวิต


ปฏิบัติการ 'นักสร้างสุข' จึงเกิดขึ้น โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำ โครงการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายและนักสร้างสุของค์กร (นสอ.) โดยจัดกิจกรรมเครือข่ายรวมพลังกินดีไม่มีพุง และเครือข่ายคนสภาอาสางดเหล้า เพื่อให้บุคลากรได้หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรที่ต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองเข้าร่วมเป็น "นักสร้างสุของค์กรตัวคูณ"


วรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา เล่าว่า ความสำคัญของการพัฒนาสุขภาพเจ้าหน้าที่ของแต่ละองค์กรเป็นสิ่งสำคัญมาก และเป็นหัวใจอย่างหนึ่งของการทำงาน หากเจ้าหน้าที่ทุกคนมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ก็จะสามารถทำให้องค์กรพัฒนาต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อสุขภาพกายดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ สมองก็ปรอดโปร่งแจ่มใส ขณะเดียวกันหากมีสุขภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง ก็จะสามารถสู้กับปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการทำงานได้เป็นอย่างดี ต้องขอบคุณ สสส. ที่ให้การสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพที่ดีกับข้าราชการสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา นับว่าเป็นการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ได้หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของการทำงานด้วย สำหรับองค์กรใดที่สามารถพัฒนาบุคลากรให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ การดำเนินงานก็จะบรรลุผลตามไปด้วยปฏิบัติการ 'นักสร้างสุของค์กร' ในสภาสูง thaihealth


สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพของเจ้าหน้าที่ในสภาสูง เลขาธิการวุฒิสภา เล่าว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภามีการตรวจสุขภาพให้บุคลากรอย่างสม่ำเสมอ และติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น เปิดคลินิกให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ การจัดสถานที่ให้บุคลากรสามารถพาลูกมาทำงานด้วยได้ซึ่งการมีโครงการดูแลสุขภาพทำให้ระบบการดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมเป็นการตรวจสุขภาพเบื้องต้น แต่ปัจจุบันสำนักงานได้พัฒนาให้มีการดูแลสุขภาพในทุกด้าน มีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด ทำให้พบว่ามีหลายคนที่ป่วยแบบไม่รู้ตัวจึงรักษาได้อย่างทันท่วงที


นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้สะท้อนแง่มุมของการดูแลสุขภาพของบุคลากรภายในองค์กรไว้ว่า การมีสุขภาพดีสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา สสส.จึงสนับสนุนชุดความรู้ที่เข้าใจได้ง่าย เช่น นิทรรศการลดพุงลดโรคที่ชี้ให้เห็นว่าหากเรากินอาหารที่ดี มีประโยชน์ ก็จะทำให้ไม่มีน้ำหนักเกิน ที่เป็นสาเหตุของโรคอ้วน หากเราออกกำลังกาย อวัยวะต่างๆ ก็จะทำงานได้อย่างปกติ หรือการงดบุหรี่ และสุราก็จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐาน แต่การมีกิจกรรมและองค์ความรู้มาช่วยกระตุ้น จะเป็นการสร้างนักสร้างสุของค์กรที่ดี ถ้าทุกองค์กรมีกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ก็จะกระจายความรู้ออกไปจะทำให้องค์กรมีมวลชนผู้สร้างความสุขเพิ่มมากขึ้น


ปฏิบัติการ 'นักสร้างสุของค์กร' ในสภาสูง thaihealth"หลายคนคิดว่า การงด ละ เลิกเหล้า เป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่หลังจากที่ได้ไปลงพื้นที่ จ. สุรินทร์ ร่วมกับทีมงานของ สสส. พบว่า ชาวบ้านสามารถเลิกเหล้าได้ด้วยตนเอง สิ่งสำคัญต้องมีคนคอยให้กำลังใจ กำลังหนุนจากครอบครัวและคนรอบข้าง รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมให้เป็นพื้นที่ปลอดเหล้าก็สามารถช่วยได้ และในช่วงเข้าพรรษานี้ หากใครตั้งใจที่จะงดเหล้าให้ครบพรรษาเป็นสิ่งที่ทำได้ หากเรามุ่งมั่น" นพ.คำนวณ กล่าว


เสียงสะท้อนจากนักสร้างสุขในองค์กร อย่าง จิรายุส จีนช้าง เจ้าพนักงานชวเลขชำนาญงานสำนักงานเลขาการวุฒิสภา บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในการเข้าร่วมกิจกรรมว่า ปกติตนเป็นคนชอบดื่มเหล้าและสูบบุหรี่เป็นประจำ จะสูบหนักเวลาดื่มเหล้า จึงอยากจะลดสิ่งเหล่านี้ลงเพราะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งจากการศึกษากิจกรรมในโครงการก็สนใจ ได้ลงมือปฏิบัติ ทั้งปั่นจักรยาน ออกกำลังกายหลังเลิกงาน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ ที่ดีในองค์กร และหวังว่าการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ตนเลิกเหล้าและบุหรี่ได้


เช่นเดียวกับ มันทนา เอกลัคนารัตน์ ผบ.กลุ่มงานบริหารทั่วไป สำนักนโยบายและแผน สำนักงานเลขาการวุฒิสภา เล่าว่า ตนเองมีปัญหาปวดหลัง และด้วยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทำให้รู้สึกอึดอัด หากลดพุงลงได้ก็จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น การจัดโครงการนี้เป็นการกระตุ้นให้มีวินัยกับการเลือกกินอาหารและการออกกำลังกายมากขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถนำความรู้ต่างๆ ไปพัฒนาต่อยอดและขยายผลสู่เพื่อนร่วมงานให้เกิดเป็นเครือข่ายคนรักสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ทุกคนก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรงไปด้วยกัน


การมีสุขภาพดี ทั้ง4 มิติ นั่นคือ กาย ใจ ปัญญา และสังคม จะช่วยให้การดำเนินชีวิตในแต่ละวันเป็นไปอย่างราบรื่น และส่งผลที่ดีต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพมาก.


 

Shares:
QR Code :
QR Code