ปฏิบัติการแก้จน…กลเม็ดเลิกเหล้าในลำปาง

ลดรายจ่าย พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน

 

 ปฏิบัติการแก้จน…กลเม็ดเลิกเหล้าในลำปาง

          แม้ว่าสถานการณ์ความยากจนของไทยจะดีขึ้นตามลำดับ แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า ในปี 2549 มีจำนวนผู้ยากไร้อยู่ที่ 6 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลง เมื่อเทียบกับปี 2547 ที่มีจำนวนผู้ยากไร้ถึง 7 ล้านคน แต่ยังคงปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้

 

          โดยในปี 2547 กลุ่มประชากร 20% แรกที่ร่ำรวยที่สุดมีสัดส่วนรายได้สูงกว่ากลุ่มประชากร 20% แรกที่จนสุดถึง 8 เท่า ขณะที่ปี 2549 สัดส่วนความเหลื่อมล้ำของรายได้ลดลงเพียง 7.9 เท่า โดยคนที่รวยที่สุด 20% แรก ยังคงเป็นหลักในการถือครองรายได้สูงสุดของประเทศ ถึง 48.5% ขณะที่คนจนที่สุดใน 20% แรก กลับถือครองรายได้เพียง 6.1% ถึงกระนั้น เส้นความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม อาจไม่มีผลต่อคนในชุมชนของจังหวัดลำปาง เพราะที่นี่ได้มีกลวิธีจัดการกับความยากจนอย่างน่าสนใจ

 

          จากการลงพื้นที่จังหวัดลำปาง ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสศึกษากระบวนการจัดการของคนในชุมชน ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเป็นน้ำมันหล่อลื่น ให้กระบวนการขับเคลื่อนของชุมชนสามารถเดินหน้าไปได้

 

          วิธีการจัดการของชุมชนที่น่าสนใจคือ “กลเม็ดแก้จน” ที่มีรูปแบบแตกต่างกันไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ “จุดเริ่มต้นด้วยการเลิกเหล้า” ซึ่งถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น พร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งสิ่งแวดล้อม และสภาพเศรษฐกิจควบคู่กัน”

 

          นายสามารถ ลอยฟ้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เล่าถึงกระบวนการจัดการของคนใน จ.ลำปาง ว่าปกครองท้องถิ่น เอ็นจีโอ และชาวบ้าน โดยสิ่งสำคัญคือ ต้องเกิดจากการรวมตัวที่เข้มแข็งของชาวบ้านเป็นตัวนำ แต่ปัญหาที่ผ่านมา คือ เมื่อเกิดการรวมตัวของชาวบ้านที่เข้มแข็ง มักเกิดแรงต้านจากอำนาจรัฐ

 

          ดังนั้นการทำงานในจังหวัดลำปาง คือ การขับเคลื่อนคู่ขนานระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชน และสาเหตุที่แต่ละชุมชนหันมาจับเรื่องการเลิกเหล้า นั่นเป็นเพราะคนในชุมชนเริ่มตระหนักว่าการเลิกเหล้าจะนำมาซึ่งการสร้างสุขภาพที่ดี ลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งในครัวเรือนและชุมชน โดยวิธีการเลิกเหล้า จะเริ่มทำในสิ่งที่ง่ายและเป็นไปได้ก่อน เริ่มจากการงดเหล้าในงานศพ จากนั้นจึงขยายผลในงานอื่นๆ

 

          ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม จึงถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการจัดการในชุมชนส่วนรูปแบบและวิธีการทำงาน ย่อมแตกต่างกันไป โดยมี “สีสัน” และ “กลเม็ด” ของการแก้จนตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น

 

          ตำบลใหม่พัฒนา อำเภอเกาะคา จากเดิมที่ประสบปัญาการว่างงาน เนื่องจากทำนาได้เพียงปีละ 1 ครั้ง และยังเกิดปัญหาหนี้สินสูงกว่ารายได้ โดยมีหนี้สูงถึง 100 กว่าล้านบาท/ตำบล/ปี ขณะที่มีรายได้อยู่เพียง 35 ล้านบาท/ตำบล/ปี โดยมีสาเหตุมาจากยอดการกินเหล้าสูงถึง 200,000 – 300,000 บาท/เดือน/ตำบล และการกู้เงินจากแหล่งทุนทั้งในและนอกระบบ ทำให้รายจ่ายสูงกว่ารายได้

 

          เมื่อกลุ่มแม่บ้านและอาสาสมัครหมู่บ้าน เริ่มรับรู้ถึงปัญหาหนี้สิน และพิษร้ายของสุรา จากการเก็บข้อมูลของหมออนามัยในพื้นที่ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มและร่วมกันทำ “ประชาคมหมู่บ้าน” เพื่อลดการดื่มในกลุ่มพ่อบ้าน โดยมีกำนันเป็นผู้ออกประชาคม พร้อมกับจัดทำเวทีให้คนเลิกเหล้ามาคุยกัน เพื่อให้เกิดพลังกดดันไปยังบ้านอื่นๆ ที่ยังไม่เลิกเหล้า รวมทั้งการประกาศงดเหล้าในงานศพ

 

          นอกจากนี้ยังได้จัดทำแผนชุมชน เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ เช่น การจัดอบรมทำน้ำยาล้างจาน เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เพื่อนำไปใช้ในครัวเรือน เมื่อเหลือจึงนำไปจำหน่ายการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ (โป่งน้ำร้อน) ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการนวดแผนไทย

 

          ขณะที่จุดเริ่มต้นของการเลิกเหล้าแก้จน ในตำบลบ้านเอื้อม มาจากพระครูในหมู่บ้าน และฝ่ายเกื้อหนุนจากหมออนามัย ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดทำบัญชีงานศพ โดยเห็นว่างานศพเป็นงานเศร้า แต่เจ้าภาพจัดงานต้องแบกภาระค่าใช้จ่าย จนบางรายต้องเกิด “หนี้” ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก “เหล้า” และคนมาร่วมงานยังสร้างภาระให้กับเจ้าภาพด้วยการดื่มเหล้าและทะเลาะวิวาท พระครูจึงได้หารือกับองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อร่วมกันตั้งกติกา ห้ามกินเหล้าในวัด จากนั้นได้ขยายความร่วมมือไปยังผู้นำหมู่บ้าน

 

          ทำให้จากเดิมค่าใช้จ่ายในงานศพ เฉลี่ยรายละ 40,000 – 100,000 บาท เมื่อวัดและผู้นำชุมชนร่วมกันออกกฎเหล็กห้ามดื่มเหล้าในวัด ทำให้เจ้าภาพสามารถลดค่าใช้จ่ายของเจ้าภาพได้ถึง 2 เท่าตัว

 

          แม้ว่ากฎเหล็กที่วัดและองค์กรปกครองท้องถิ่นวางขึ้นใหม่ๆ จะถูกแรงต้านจากคอเหล้า และเจ้าของงาน เพราะมองว่าเป็นธรรมเนียมที่ทุกงานศพจะต้องมีเหล้ามาเลี้ยงเพื่อตอบแทนคนที่มาช่วยงาน ขณะที่ผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น ก็ถูกคำขู่ว่าจะไม่เลือกในสมัยหน้า เช่นเดียวกับพระ ที่ถูกขู่ว่าจะลดการถวายปัจจัยลง

 

          แต่การยึดมั่นในจุดยืน รวมถึงมาตรการ “คว่ำบาตร” จากพระ ด้วยการไม่ไปสวดในงานที่มีเหล้าและเจ้าภาพเริ่มเล็งเห็นผลดี จนเป็นที่ยอมรับในชุมชน ทำให้สามารถขยายผลไปสู่งานบุญต่างๆ เช่น วันขึ้นบ้านใหม่ วันเสาร์ – อาทิตย์ งานประเพณี งานกฐินปลอดเหล้า และวันเข้าพรรษา

 

          เช่นเดียวกับ ตำบลพิชัย ที่ดึงพระสงฆ์ เป็นตัวแปรที่สำคัญ ที่ให้คนมาร่วมทำพันธสัญญาเลิกเหล้าโดยมีแรงผลักดันจากองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้าร่วมสนับสนุน

 

          โดยเริ่มจากการสร้างคนต้นแบบให้เลิกเหล้า ด้วยการดึงคนในกลุ่มวัยรุ่น วัยแรงงาน และวัยสูงอายุเข้าร่วมทำพันธสัญญาเลิกเหล้าต่อพระสงฆ์ แต่พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุ เข้าร่วมเป็นคนต้นแบบเลิกเหล้าอย่างได้ผลมากที่สุด เพราะตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ

 

          สังเกตได้ว่า ในชุมชนปลอดเหล้า และสามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้นั้น ต่างมีสีหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้มและแววตาที่เปล่งประกาย เมื่อเล่าถึงวิธีการจัดการของเขา เพราะนั่นคือ ความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง ที่คนในชุมชนสามารถจัดการกับปัญหาได้ด้วยตนเอง

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Update 20-05-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code