ปฏิทินวัฒนธรรมไทใหญ่

ที่มา : แฟนเพจสุขภาวะชุมชน จาก หนังสือ "วิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก : ท่องเที่ยวชุมชน"


ภาพประกอบจากแฟนเพจสุขภาวะชุมชน จาก หนังสือ "วิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก : ท่องเที่ยวชุมชน"


ปฏิทินวัฒนธรรมไทใหญ่ thaihealth


ปฏิทินวัฒนธรรมไทใหญ่ อบต.เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน


เมืองปอนเป็นตำบลที่ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสิ้น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ และกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มชาติพันธุ์มีรูปแบบวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกัน


คนปกาเกอะญอ มีโครงสร้างทางสังคมที่เด่นชัด คือการให้ความเคารพและเชื่่อฟังผู้นำ ผู้นำทางความเชื่่อและศาสนาจะมีบทบาทอย่างมาก ทุกกิจกรรม ทุกการปฏิบัติจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำศาสนา แต่ในปัจจุบันรูปแบบการปกครองเปลี่ยนไปท้องถิ่นท้องที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น


ในส่วนของคนเมืองหรือไทยวน เป็นคนที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองปอนกลุ่มสุดท้าย ดังนั้นสังคมของคนกลุ่มนี้จะค่อนข้างอิงกับกลุ่มชาติพันธุ์เดิม แต่ยังคงให้ความสำคัญและนับถือผู้นำอย่างมาก ผู้นำของกลุ่มคนไทยวน ได้แก่ กลุ่มเครือญาติใหญ่ที่มีสมาชิกในเครือญาติมากจะได้รับการยอมรับจากผู้อื่น


สำหรับชาวไทใหญ่มีชุดวัฒนธรรมประเพณีที่อิงความเชื่อตามพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด เป็นระเบียบ มีบรรทัดฐาน โดยในรอบ 1 ปี จะมีกิจกรรมเด่นจำนวน 9 กิจกรรม ได้แก่ ประเพณีถวายข้าวมธุปายาส ประเพณีบวชลูกแก้ว ประเพณีสรงน้ำพระ ประเพณีก่อกองทราย หรือขนทรายเข้าวัด ประเพณีทำบุญหมู่บ้าน ประเพณีถวายเครื่องไทยทาน/น้ำปานะ ประเพณีออกพรรษา ประเพณีเดือนสิบเอ็ด และประเพณีถวายเขาวงกต ชุดกิจกรรมเหล่านี้เป็นชุดกิจกรรมที่แสดงความนอบน้อม เคารพศรัทธา ใส่ใจ แสดงความโอบอ้อมอารี ซึ่งเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่ช่วยให้สังคมมีความสงบสุข


ทั้งนี้ เพื่อให้กิจกรรมส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการท่องเที่ยว จึงมีการจัดทำปฏิทินวัฒนธรรมขึ้นมา ซึ่งปฏิทินนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มนักมานุษยวิทยา นักสังคมศาสตร์ระดับประเทศ ที่เริ่มเข้ามาศึกษาวิจัย เพื่อศึกษารูปแบบวัฒนธรรมความเชื่อต่างๆ ของคนไทใหญ่ จนทำให้กิจกรรมที่นี่ เป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ มีรายการโทรทัศน์เข้ามาถ่ายทำอย่างต่อเนื่อง และเพื่อต่อยอดเรื่องการท่องเที่ยว จึงเกิดบ้านพักโฮมสเตย์ตั้งแต่ปี 2545 มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน ที่สำคัญยังมีการนำความรู้เรื่องวัฒนธรรมเข้ามาแก้ไขปัญหาชุมชน เกิดกลุ่มเครือข่ายแหล่งเรียนรู้มากมาย เพื่อให้การขับเคลื่อนสังคมเป็นไปอย่างมีระบบและมีทิศทาง

Shares:
QR Code :
QR Code