ปฎิรูปประเทศไทยหวังสำเร็จใน 3 ปี

รัฐบาลพร้อมทำร่วมกับภาคประชาชน 

ปฎิรูปประเทศไทยหวังสำเร็จใน 3 ปี 

            เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 มิถุนายน ที่อาคารคอนแวนชั่นเซ็นเตอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมารับฟังการระดมความเห็นเพื่อหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทย โดยมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นเลขานุการ โดยมีเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ และคณะรัฐมนตรี รวมกว่า 500 คนเข้าร่วมประชุม

 

โดย ทพ.กฤษดา กล่าวรายงานสรุปข้อเสนอเชิงกลไก กระบวนการการปฏิรูปประเทศไทย ดังนี้  1.แนวทางการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย ควรยึดหลัก 5 ส. ได้แก่ สันติภาพ สามัคคี สัตยาบัน สื่อสาร และส่วนร่วม 2.เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทยทุกระดับ ทั้งระดับตำบล เมือง จังหวัด ให้มีทั้งเวทีหารือแนวทางปฏิรูป และปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาชุมชนท้องถิ่นควบคู่กันไป 3.จัดกลไกที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลทำหน้าที่สนับสนุน ไม่เข้าไปทำเอง แต่ทำในส่วนที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง และ 4.เสนอแนะให้นายกรัฐมนตรีเชิญผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาช่วยคิด ช่วยดูแลการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย ได้แก่ นายอานันท์ ปันยารชุน ศ.นพ.ประเวศ วะสี นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นต้น

 

            จากนั้นนายอภิสิทธิ์  กล่าวว่า ข้อเสนอทั้งหมดตนพร้อมนำไปดำเนินการต่อทันที โดยในส่วนของรายชื่อบุคคลที่เสนอมาให้ช่วงงานขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทยนั้น ตนพร้อมไปทาบทามเชิญมาร่วมงาน โดยจะดำเนินการให้ฆชัดเจนภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนเรื่องของเวลาในการปฏิรูป บางท่านบอกใช้เวลา 5 – 10 ปี แต่ในความเห็นของตน คิดว่าน่าจะใช้กรอบเวลาที่เหมาะสมคือประมาณ 3 ปี เป็นกรอบเวลาที่เป็นจริงได้ ไม่สั้นเกินไป และยาวเพียงพอ

 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนกลไกที่จะตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ ตั้งแต่แผนการออกไปรับความคิดเห็น การทำแบบสำรวจ สะท้อนความรู้สึก กระบวนการรับฟัง และการสนับสนุนงบจากรัฐจะเป็นอย่างไร แผนเหล่านี้น่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องรอแผนเสร็จก่อนแล้วค่อยดำเนินการปัญหา โดยภาคส่วนใดในสังคม เช่น ภาคเอกชน ภาคส่วนอื่นๆ สามารถมีส่วนร่วมแก้ไข ก็สามารถทำไปโดยอิสระได้เลย โดยไม่ต้องรอรัฐบาล

 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญอีกประการคือ คำถามเรื่องการวางตัวของภาครัฐ จะวางตัวอย่างไร ซึ่งมีความเห็นเป็นสองขั้ว ขั้วหนึ่งต้องการให้รัฐบาลอย่ามายุ่ง อย่ามาชี้นำ เพราะการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แค่คอยฟังคอยรับคำสั่ง หรือดำเนินการจัดหางบประมาณมาก็พอ แต่อีกขั้วเห็นว่า เป็นรัฐบาลไม่ทำอะไรเลยได้อย่างไร ไม่มีความคิดของตัวเอง ดังนั้นความเป็นจริงคือเราต้องทำสิ่งเหล่านี้ไปด้วยกันเป็นคู่ขนาน

 

“ขณะนี้หลายปัญหารัฐบาลก็ทำอยู่ บางเรื่องเป็นเรื่องใหม่ เช่น ประกันรายได้เกษตรกร ประกันภัยที่ทำกิน หนี้สินนอกระบบ หนี้สินเกษตรกร รัฐบาลเดินหน้าทำไป บางเรื่องที่ทราบแต่ต้นว่ากำลังเป็นคำถามใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมภาคใต้ ก็มีหลักการแล้วว่าประชาชนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมชัดเจน ตรงนี้รัฐบาลต้องเดินหน้าทำงานไป แต่จะต้องรับฟังความเห็น ข้อท้วงติงต่างๆ จากทางคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยตลอดเวลา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

 

 

Update : 17-06-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : คมสัน ไชยองค์การ

Shares:
QR Code :
QR Code