ปชช.เกินครึ่งไม่รู้รัฐดันลดอุบัติเหตุเป็นวาระชาติ

เร่งรัฐให้ความสำคัญ

 

 ปชช.เกินครึ่งไม่รู้รัฐดันลดอุบัติเหตุเป็นวาระชาติ

           ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ ศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 18 ถึง 75 ปี ในเขตกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ในโอกาสครบ 1 ปีวาระแห่งชาติว่าด้วยอุบัติเหตุทางถนน 1,204 ตัวอย่าง วันที่ 30 กันยายนถึง 7 ตุลาคม 2553 พบว่า ร้อยละ 68.1 ระบุไม่เคยรับรู้ว่ารัฐบาลกำหนดให้การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ มีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้นที่รู้จาก โทรทัศน์ หน่วยงานราชการ หนังสือพิมพ์

          นายเทวินทร์ อินทรจำนงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล บอกว่า เมื่อถามถึงรูปธรรมที่รัฐบาลดำเนินการเพื่อลดการตายบนท้องถนนในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 59.7 ระบุว่าไม่ทราบ นึกไม่ออก ร้อยละ 19.4 ทราบ โดยส่วนใหญ่จากการรณรงค์ เช่น โครงการเมาไม่ขับหรือการรณรงค์ในช่วงเทศกาลสำคัญ รองลงมาคือ การติดป้ายบอกเตือนเส้นทางติดป้ายให้ระวัง ร้อยละ 49.8 หรือเกือบครึ่ง ไม่เคยทราบว่าปัจจุบันอุบัติเหตุทางถนนทำให้มีคนตายเฉลี่ยวันละ 30 คน หรือปีละ 11,000 คน สูงกว่าอาชญากรรม 4 เท่า ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อประเด็นการยกระดับเป็นวาระแห่งชาติมากกว่านี้ ไม่ใช่เป็นแค่ผักชีโรยหน้าและแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

          เมื่อถามถึงความเชื่อว่าการเกิดอุบัติเหตุเป็นเรื่องของโชคชะตาหรือคราวเคราะห์ กว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 53.9 ระบุว่าไม่เชื่อ มีร้อยละ 26.3 ที่เชื่อ และร้อยละ 19.8 ไม่แน่ใจ ขณะที่  ร้อยละ 71.9 ของผู้ที่เคยมีประสบการณ์อุบัติเหตุ ระบุว่าเกิดจากความประมาทของตนหรือคู่กรณีร้อยละ 45.7 เพราะปัจจัยแวดล้อม เช่น สภาพถนน สิ่งแวดล้อม สภาพรถ นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 70.7 รู้ตัวว่าเสี่ยงได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เพราะต้องใช้รถใช้ถนนเป็นประจำประกอบกับคนส่วนมากประมาทไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร

          นายเทวินทร์ กล่าวว่า ในด้านปัญหาอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ ที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตาย ร้อยละ 93.8 ระบุสาเหตุจากตัวผู้ขับขี่เช่น ประมาท ขับเร็ว ขับปาด แซงคับขัน ขาดความชำนาญ เมาแล้วขับร้อยละ 44.2 เป็นเพราะตัวรถ อุปกรณ์สำหรับความปลอดภัยไม่ได้มาตรฐาน ร้อยละ 36.7 เป็นเพราะสภาพถนนและสิ่งแวดล้อมที่อันตรายยังมีอีก

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

 

 

update : 17-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ