ปชช.กว่า 70% เห็นด้วย ใช้จักรยานเดินทาง

/data/content/23951/cms/e_befijrtvy167.jpg

          ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ,ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา ร่วมแถลงผลโพลล์สำรวจการใช้จักรยาน

          เพื่อให้สอดคล้องกับการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานเพื่อการเดินทางกันมากขึ้นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ในหลายประเทศประสบความสำเร็จ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยประหยัดพลังงาน เช่น น้ำมัน และช่วยแก้ไขปัญหามลภาวะต่างๆ แล้ว ยังเป็นการทำให้ประชาชนได้ออกกำลังกายอีกด้วย หลายประเทศจึงอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้จักรยานโดยจัดช่องทางสำหรับรถจักรยานโดยเฉพาะให้ได้ใช้ขับขี่

          ในส่วนของประเทศไทยได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานในการเดินทางกันมากขึ้นด้วยเช่นกันโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีการจัดช่องทางสำหรับจักรยานและได้ขยายเส้นทางจักรยานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยลดการใช้พลังงานและลดมลพิษทางอากาศรวมไปถึงช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดซึ่งนับวันจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการขยายถนนและระบบขนส่งสาธารณะไม่ทันกับปริมาณรถที่เพิ่มมากขึ้น

          แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ที่หันมาใช้จักรยานในการเดินทางแทนการใช้รถยนต์ก็ยังคงมีจำนวนที่ไม่มากเนื่องจากปัญหาหลายอย่าง เช่น เส้นทางจักรยานมีไม่ครอบคลุม ปัญหาความปลอดภัยในการขับขี่ รวมไปถึงสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย แต่สังคมก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการใช้จักรยานและเริ่มหันมาสนใจพูดถึงการใช้จักรยานสำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น

          จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ของประชาชนจำนวน 1,102 คน อายุ 15 ปีขึ้นไป ในระหว่างวันที่ 17-23 เมษายน 2557

          ศ.ศรีศักดิ์ จามรมาน กล่าวว่า การสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,102 คน สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 51.27 เป็นเพศหญิง ขณะที่ร้อยละ 48.73 เป็นเพศชาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 25 ถึง 34 ปีคิดเป็นร้อยละ 31.94 ส่วนกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 24.95 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 35 ถึง 44 ปี กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.84 มีการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.76 และร้อยละ 23.68 เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชนและข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจตามลำดับ

          ในด้านพฤติกรรมการใช้จักรยานเพื่อการเดินทาง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 36.57 ระบุว่าในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ตนเองใช้จักรยานในการเดินทางโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ถึง 4 วันต่อสัปดาห์ รองลงมาร้อยละ 30.13 ใช้ประมาณ 1 วันต่อสัปดาห์หรือต่ำกว่า

          ส่วนสถานที่ที่กลุ่มตัวอย่างใช้จักรยานในการเดินทางไปบ่อยที่สุด 5 อันดับได้แก่ เดินทางรอบบริเวณที่พักอาศัย คิดเป็นร้อยละ 82.49 เดินทางไปร้านสะดวกซื้อ/ร้านขายของชำ/ร้านอาหาร คิดเป็นร้อยละ 80.58 เดินทางไปบ้านญาติพี่น้อง/เพื่อนฝูง คิดเป็นร้อยละ 77.77 เดินทางภายในบริเวณสถานที่เรียน/ทำงาน คิดเป็นร้อยละ 74.59 และเดินทางไปสวนสาธารณะ/สวนสนุก คิดเป็นร้อยละ 72.05

          นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.17 ไม่เคยใช้จักรยานในการเดินทางบนถนนสาธารณะสายหลัก (ถนนใหญ่) ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.83 เคยใช้จักรยานในการเดินทางบนถนนสาธารณะสายหลัก ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 61.43 ไม่เคยใช้จักรยานในการเดินทางภายในช่องทางสำหรับจักรยานโดยเฉพาะของถนนสาธารณะสายหลัก (ถนนใหญ่) ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.57 เคยใช้

          สำหรับประโยชน์สำคัญสูงสุด 5 อันดับจากการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง คิดเป็นร้อยละ 81.67 ลดมลภาวะในด้านต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 79.22 ประหยัดพลังงาน คิดเป็นร้อยละ 76.32 ลดปัญหาการจราจรติดขัด คิดเป็นร้อยละ 73.96 และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คิดเป็นร้อยละ 71.14

          ส่วนอุปสรรคสำคัญสูงสุด 5 ประการในการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ อันตรายจากยานพาหนะอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 82.58 มีสิ่งกีดขวางในเส้นทางมาก คิดเป็นร้อยละ 80.49 ช่องทางจักรยานไม่ครอบคลุมทั่วถึง คิดเป็นร้อยละ 77.95 ช่องทางจักรยานมีไม่ต่อเนื่องตลอดเส้นทาง คิดเป็นร้อยละ 74.95 และมลพิษ/สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย คิดเป็นร้อยละ 72.78

          ในด้านความคิดเห็นต่อการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน กลุ่มตัวอย่างถึงสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.14 เห็นด้วยกับการส่งเสริมให้ประชาชนใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันแทนการใช้รถส่วนตัวหรือระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.91 มีความคิดเห็นว่า ช่องทางจักรยานที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอในการใช้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.43 ระบุว่าหากมีการจัดช่องทางจักรยานให้ครอบคลุมบนถนนสายหลัก (ถนนใหญ่) มากขึ้น จะส่งผลให้ตนเองหันมาใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันมากขึ้นกว่าปัจจุบัน

 

 

          ที่มา: เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code