ปกป้องเยาวชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ศจย.เร่งพัฒนาขีดความสามารถควบคุมยาสูบ เฝ้าระวังป้องกันเยาวชนลดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เป็นองค์กรที่สนับสนุนการวิจัย พัฒนาและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับยาสูบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมยาสูบและมีการปฏิบัติการเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องชัดเจน ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับโลกด้วยการมีนโยบายและกฎหมายการควบคุมยาสูบที่ชัดเจนและดีที่สุดเพราะปัญหาเรื่องยาสูบหรือบุหรี่เป็นปัญหาที่สำคัญในการพัฒนาประเทศอยู่ในขณะนี้ ปัจจุบันมี นพ.หทัย ชิตานนท์ เป็นผู้อำนวยการ
ยาสูบหรือบุหรี่ เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ผลิตจากใบของต้นยาสูบ ยาสูบสามารถรับประทานได้ ใช้ในสารกำจัดศัตรูพืชชีวภาพ และเป็นส่วนประกอบของยาบางชนิดในรูปของนิโคตินตาร์เตรด แต่ส่วนใหญ่แล้วยาสูบจะถูก ใช้เป็นสารที่สร้างความสนุก สนาน และเป็นผลผลิตที่สร้างรายได้มากต่อประเทศ อย่างเช่น คิวบา จีน และสหรัฐ อเมริกา การได้รับยาสูบมัก พบในรูปของการสูบ การเคี้ยว การสูดกลิ่นหรือยาเส้น ยาสูบได้มีประวัติการใช้เป็นเอ็นโธรเจนมาอย่างยาวนานในทวีปอเมริกา อย่างไรก็ตาม การมาถึงของชาวยุโรปในทวีปอเมริกาเหนือ ได้ทำให้ยาสูบกลายมาเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและถูกใช้เป็นสารสร้างความสนุกสนานอย่างรวดเร็ว ความเป็นที่นิยมดังกล่าวทำให้ยาสูบเป็นสินค้าหลักในพัฒนาการทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาตอนใต้ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นฝ้ายในเวลาต่อมา หลังจากสงครามกลางเมืองอเมริกา ความเปลี่ยนแปลงในอุปทานและกำลังแรงงานทำให้ยาสูบสามารถผลิตเป็นบุหรี่ได้ ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ได้นำไปสู่การเติบโตของบริษัทบุหรี่หลายบริษัทอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งการค้นพบผลเสียของยาสูบที่เป็นข้อถกเถียงทางวิทยาศาสตร์ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1900
เนื่องจากยาสูบหรือบุหรี่มีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดการเสพติด ได้แก่ นิโคติน ทำให้เกิดความชินยาและโรคติดสารเสพติด ปริมาณนิโคตินที่ร่างกายได้รับ ตลอดจนความถี่และความเร็วของการบริโภคยาสูบ เชื่อกันว่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความต้านทานทางชีวภาพของการติดและความชินยา คาดการณ์ว่าประชากรราว 1,100 ล้านคนทั่วโลกมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาสูบ ซึ่งคิดเป็นกว่าหนึ่งในสามของประชากรผู้ใหญ่ของโลก องค์การอนามัยโลกรายงานว่า การใช้ยาสูบอาจนำไปสู่สาเหตุการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้ทั่วโลก และประมาณการว่ามีประชากรโลก 5.4 ล้านคนเสียชีวิตทุกปี อัตราการสูบพบว่ามีน้อยลงในประเทศพัฒนาแล้ว แต่กลับพบว่ายังมีสูงในประเทศกำลังพัฒนา
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย (สสท.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สำนัก งานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (Thailand Cyber University : TCU) ได้จัดการปัจฉิมนิเทศ รุ่น 3 และการปฐม นิเทศผู้เรียนทางไกล รุ่นที่ 4 ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถในการควบคุมยาสูบของประเทศไทย ในวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีฯ กรุงเทพมหานคร ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เครือข่ายสุขภาพ หน่วยงานด้านการศึกษา หน่วยราชการ องค์กรพัฒนาเอกชนสาธารณประโยชน์ องค์กรปกครองท้องถิ่น และผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน
นางสาวรติกร เพมบริดจ์ ผู้ประสานงานดูแลนักศึกษา ได้เปิดเผยว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมยาสูบจนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศด้วยการมีนโยบายที่ชัดเจน มีกฎหมายควบคุมยาสูบที่ดี มีการปฏิบัติการเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันทำงานควบคุมยาสูบอย่างเข้มแข็ง หากแต่ระบบและกระบวนการทำงานยังคงมีจุดอ่อนที่เป็นข้อจำกัดของการควบคุมยาสูบโดยเฉพาะด้านบุคลากรที่ยังขาดการพัฒนาและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
ทางด้าน ผศ.ดร.สุนิดา ปรีชาวงษ์ อาจารย์ที่ปรึกษาในการศึกษามาตรการทางสังคมในการควบคุมการขายบุหรี่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ได้กล่าวว่า ตามมาตรา 16 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO) นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและลดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบในเด็กและเยาวชน ประกอบด้วยแนวทาง 3 ด้าน คือ ห้ามขายบุหรี่โดยผู้เยาว์ ห้ามขายให้ผู้เยาว์และห้ามขายแบบแยกมวน หรือขายเป็นซองเล็ก ๆ หากเด็กและวัยรุ่นไม่เริ่มสูบบุหรี่ก่อนวัย 21 ปี ก็มีความเป็นไปได้อย่างมากที่พวกเขาเหล่านั้นจะยังคงเป็นผู้ไม่สูบบุหรี่ต่อไป
ในส่วน นางสาวเสาวนีย์ พูนเจริญผล นักจิตวิทยา โรงพยาบาลปักธงชัย นครราชสีมา เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ได้เปิดเผยว่า ในการเข้าเรียนหลักสูตรทางไกลของ ศจย. รุ่นที่ 3 ครั้งนี้ทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับยาสูบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายในมาตราต่าง ๆ เกี่ยวกับยาสูบ โทษพิษภัย โรคต่าง ๆ ที่เกิดจากยาสูบและอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งในฐานะที่เป็นนักจิตวิทยาที่ดูแลผู้ป่วยติดยาเสพติดหวังเป็นอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยจะมีนักสูบหน้าใหม่ลดลงอย่างเป็นรูปธรรมที่แท้จริง