‘บ้านโคกแย้ม’ ชุมชนสุขภาวะ ปลอดสารเคมี
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
‘บ้านโคกแย้ม’สวนกระแสการผลิตเปลี่ยนชีวิตสู่‘เกษตรอินทรีย์’ ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน สานฝัน‘ชุมชนสุขภาวะ’ปลอดภัยจากสารเคมี
วิถีเกษตรดั้งเดิมของไทยที่เคยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติสิ้นสุดลง เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตมุ่งแสวงผลกำไรในเชิงปริมาณเป็นหลักเกษตรกรยุคใหม่เคยชินกับการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงจำนวนมากเพื่อเพิ่มผลผลิต การลุกขึ้นมาทวนกระแสย้อนกลับไปสู่พื้นฐานการเพาะปลูกและเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมกลายเป็นเรื่องยาก และอาจจะต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากสังคมรอบข้างจนต้องยอมแพ้และปล่อยให้องค์ความรู้ดั้งเดิมนั้นเลือนหายไป
แต่ก็ยังมีเกษตรกรอีกหลายคนที่ไม่ยอมแพ้ต่อวิถีการผลิตสมัยใหม่ โดยหนึ่งในจำนวนชาวนาที่ทวนกระแสหันกลับไปทำนาแบบพึ่งตนเองโดยไม่ใช้สารเคมีก็ต้องนับ ไพเราะ เกตุชู ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่หาญกล้าพร้อมพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำนาแบบอินทรีย์นั้นเกษตรกรสามารถอยู่รอดได้ในยุคที่การโฆษณายาปราบศัตรูพืชและโฆษณาสารพัดปุ๋ยเคมีรุกล้ำเข้าไปบนผืนนาและพื้นที่ทำการเกษตรทุกตารางนิ้วของประเทศไทย
ที่นากว่า 900 ไร่ ของเกษตรกรหมู่ที่ 2 บ้านโคกแย้ม ต.นาท่อม อ.เมือง จ.พัทลุง กลายเป็นแปลงนาอินทรีย์อย่างสมบูรณ์แบบมากว่า 5 ปีแล้ว และจัดตั้งเป็น “ศูนย์เรียนรู้นาอินทรีย์ที่บ้านโคกแย้ม” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีผู้คนจากทั่วสารทิศมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่เป็นระยะๆ
ไพเราะ เกตุชู เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมแปลงนาของบ้านโคกแย้มทั้งหมดใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเป็นหลักทำให้ต้นทุนในการผลิตต่อไร่สูงถึง 2,500 บาทต่อไร่ และเกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งต่อชาวนาและอาจมีสารตกค้างเมื่อนำข้าวไปบริโภค ขณะเดียวกันดินที่เคยร่วนซุยก็เสียหายกลายเป็นดินแข็งเพาะปลูกยาก และน้ำที่อยู่บริเวณนั้นก็มีสารปนเปื้อนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำด้วย ชุมชนจึงพูดคุยหาทางออกและมีมติร่วมกันในการลด ละ เลิก การใช้สารเคมีทางการเกษตร หันมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์ โดยใช้สื่อผ่านบุคคลสามวัย ได้แก่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภูมิปัญญาในการทำเกษตรแบบดั้งเดิม กลุ่มวัยทำงานที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ และกลุ่มเยาวชนซึ่งลงสำรวจข้อมูลชุมชน นำภูมิปัญญาจากการทำนาและเรียนรู้การทำเกษตรแบบอินทรีย์ มาช่วยกันขับเคลื่อนเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชน
“แรกๆ ก็ไม่มีใครเชื่อ มีคนถามว่าทำแบบนั้นจะได้กินเหรอ ไม่เห็นผลหรอก แต่ที่เห็นชัดก็คือต้นทุนลดลงจากเดิม 2,500 บาทต่อไร่ ก็ลดลงเหลือ 700-800 บาทต่อไร่เพราะชาวนาหมักปุ๋ยเอง หน่วยงานราชการเข้ามาช่วย ทั้งพัฒนาที่ดิน ศูนย์วิจัยข้าวก็สนับสนุนเรื่องพันธุ์ข้าว มีคนมาดูงานแลกเปลี่ยนความรู้กันตอนแรกรวมกลุ่มกันได้ 60 คน ตอนนี้ก็กลุ่มใหญ่ขึ้นเป็น 100 กว่าคน”
ปัจจุบันผืนนาทั้งหมดของบ้านโคกแย้ม กลายเป็นนาอินทรีย์ทั้งหมด มีการรวมกลุ่มกัน อย่างเข้มแข็งสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง พันธุ์ข้าวที่ใช้เป็น “พันธุ์เล็บนก” ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ได้รับความนิยม ข้าวที่ผลิตได้จะนำไปสีและบรรจุถุงขายเอง ซึ่งทำให้สามารถขายข้าวได้ราคาดีกว่าขายให้แก่โรงสี
ล่าสุด ไพเราะ ยังหันไปทดลองปลูก “ข้าวไรซ์เบอร์รี่” ในนาอินทรีย์ สำหรับจำหน่ายให้แก่กลุ่มผู้รักสุขภาพ ซึ่งถึงแม้จะมีราคาที่สูงกว่าข้าวอินทรีย์อยู่บ้าง แต่ก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคอย่างน่าพอใจ
การปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากเกษตรเคมีที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มาสู่เกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติ นอกจากจะเกิดผลดีต่อสุขภาพของผู้ผลิตและสมาชิกในชุมชนแล้ว ผลผลิตที่ได้ยังได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากผู้บริโภคว่าสินค้าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งนอกจากจะทำให้ภูมิปัญญาในการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไม่สูญหาย วิถีเกษตรกรรมธรรมชาติของชุมชนแห่งนี้ยังจะช่วยสร้างเสริมให้เกิดสุขภาวะอย่างยั่งยืนขึ้นในทุกมิติอีกด้วย