‘บ้านหนองเต่า’สร้างชุมชนเข้มแข็ง ลด ละ เลิกเหล้า
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์
ชาวบ้านหนองเต่า ต.หนองแซง อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น สร้างชุมชนเข้มแข็ง ลดละเลิกเหล้าในงานบุญ งานประเพณีปลอดแอลกอฮอล์ สู่ชุมชนอยู่ดีมีสุข
นายวิจิตร ท้าวนิล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หนองแซง อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น กล่าวว่า คนไทยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่ากับ 13.59 ลิตร ต่อคนต่อปี จัดเป็นอันดับ 5 ของโลกและมีการใช้เงินประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาดื่มกิน ซึ่งพฤติกรรมการดื่มดังกล่าวส่งผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งในด้านสุขภาพ อุบัติเหตุ อาชญากรรม และด้านเศรษฐกิจครอบครัวและชุมชน ผลการสำรวจของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า พบว่าคนไทยนิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลางานประเพณี หรือ เทศกาลต่างๆ เช่น งานกฐิน งานบวช งานศพ งานประจำปีต่างๆ มากถึงกว่าร้อยละ 40 อันส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรมจากอุบัติเหตุตามมาอยู่เสมอ นับเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของสังคมไทย ในการผลักดันการลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุแห่งปัญหา สร้างความทุกข์รุกรานความอยู่ดีมีสุขของผู้คนตลอดมา
ผอ.รพ.สต.หนองแซง กล่าวอีกว่า บ้านหนองเต่า หมู่ที่ 3 ต.หนองแซง อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น มีประชากรทั้งหมด 977 คน จำนวน 229 ครัวเรือน (245 ครอบครัว) มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ร้อยละ 19.3 และ 14.7 ตามลำดับ โดยมีผู้ติดแอลกอฮอล์ในชุมชน 4 คน ทั้งนี้ยังพบว่าส่วนใหญ่จะดื่มในช่วงเทศกาลงานบุญงานประเพณีต่างๆ ตามวิถีของชาวอีสาน (ฮีตสิบสองคองสิบสี่) โดยจะจัดมีขึ้นในทุกเดือน ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุรากฐานประการสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพและความเจ็บป่วยตลอดจนปัญหาเชิงสังคมของผู้คนในชุมชน
"ด้วยเหตุนี้ ชาวหมู่บ้านหนองเต่า หมู่ที่ 3 ต.หนองแซง อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาจากการดื่มสุรา จึงได้จัดทำโครงการการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในชุมชน และเพื่อเป้าหมายสูงสุดที่จะทำให้เป็นชุมชนปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุข และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคมสืบต่อไป" นายวิจิตร กล่าวและว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อให้ชุมชนเป็นเขตปลอดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญและงานประเพณี 2.เพื่อให้ชุมชนเกิดข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดประเภทงานบุญ งานประเพณีปลอดแอลกอฮอล์ โดยมีตัวชี้วัด ดังนี้ 1.เกิดคณะทำงาน/แกนนำของหมู่บ้าน คณะทำงานมีข้อมูลในการวางแผนการดำเนินงาน 2.มีแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับปัญหาของชุมชน
3.มีกติกาชุมชนกำหนดพื้นที่และงานประเพณีปลอดการดื่มแอลกอฮอล์ 4.ชุมชนรับรู้ปัญหาและตระหนักถึงความสำคัญในการรณรงค์ 5.ชุมชน/เจ้าภาพให้ความร่วมมือในการจัดงานบุญฯ ปลอดแอลกอฮอล์ 6.แกนนำรณรงค์และเฝ้าระวังมีการรายงานข้อมูลความก้าวหน้าต่อคณะทำงานอย่างต่อเนื่อง 7.แกนนำเป็นต้นแบบในการลดละเลิกแอลกอฮอล์ในงานบุญ 8.จำนวนงานบุญ งานประเพณีปลอดแอลกอฮอล์ตามเป้าหมายที่กำหนด 9.ค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญ งานประเพณีของชุมชนลดลง
“ซึ่งคาดหมายไว้ว่าจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในบ้านหนองเต่า ได้แก่ 1.เกิดคณะทำงานที่ดูแลเรื่องการลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ 2.มีกติกาชุมชนกำหนดพื้นที่และงานบุญประเพณีปลอดการดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งมีแกนนำเฝ้าระวัง และมีการติดตามแลประเมินผลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 3.เกิดการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และรณรงค์กติกาชุมชนในเรื่องลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง” นายวิจิตร กล่าว