บ้านสำโรง จ.สุรินทร์ ต้นแบบชุมชนร่วมแก้ปัญหา
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ชุมชนบ้านสำโรง แก้ปัญหาชุมชน ภายใต้กลไก ‘สภาผู้นำชุมชน’ จนกลายเป็นทั้งชุมชนน่าอยู่และชุมชนต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรม หรือด้านสุขภาวะดีที่ของคนในชุมชน
หลังจากร่วมแก้ไขปัญหาในพื้นที่ท้องถิ่นจนเห็นผล สมาชิกของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเดินทางไปเยี่ยมชม "การจัดการชุมชนน่าอยู่ บ้านสำโรง" ที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 5-7 ก.ค. 2559 และร่วมกันจัดเวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้ "การทำงานสร้างเสริมสุขภาพ จ.สุรินทร์" ทริปนี้นำทีมโดย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุน สสส. พร้อม ดร.ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. และคณะ เข้าเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องต่างๆ ด้วย
ชุมชนบ้านสำโรง..แต่เดิมมีหลายปัญหาภายในชุมชนจนเป็นชุมชนที่ไม่น่าอยู่ อาทิ ปัญหาชาวบ้านใช้สารเคมีในการทำการเกษตร จนทำให้ชาวบ้านทั้งที่ใช้สารเคมีเองและชาวบ้านที่มารับซื้อสินค้าทางการเกษตรล้มป่วย ปัญหาชาวบ้านติดสุราจนสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชุมชน ปัญหาการระบาดของโรคไข้เลือดออก ปัญหาขยะเกลื่อนชุมชน
นายพีรวัศ คิดกล้า ผู้ใหญ่บ้านสำโรง กล่าวว่า จากวิกฤตการใช้สารเคมีทางการเกษตรของหมู่บ้าน ทำให้มีคนเสียชีวิตจากการใช้สารเคมี และเคยถูกร้องเรียนไปในหลายหน่วยงานถึงการใช้สารเคมีรบกวนพื้นที่ใกล้เคียง ขณะที่การทำงานเพื่อแก้ปัญหาก็ต่างฝ่ายต่างทำ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเพียงลำพังได้สำเร็จ จนกระทั่งมีคุณหมอจาก รพ.สต. มาแนะนำโครงการของ สสส.ที่เปิดโอกาสให้มีการแก้ปัญหาในชุมชน โดยมีเงื่อนไขโครงการที่สำคัญคือการรวมตัวกันเป็นกลไกการทำงาน ที่เรียกว่า "สภาผู้นำชุมชน" ซึ่งนำต้นแบบการทำงานจากหมู่บ้านหนองกลางดง จึงเกิดความสนใจ เพราะในหมู่บ้านแม้มีกรรมการตามโครงสร้างแต่ไม่สามารถทำงานได้
หลังจากผู้ใหญ่บ้านสำโรงจัดตั้งสภาผู้นำชุมชนโดยมีพระสงฆ์ ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อบต. ตำรวจ นักพัฒนาชุมชน เกษตรตำบล นักวิชาการ มาเข้าร่วม ค่อยๆ จัดการปัญหาแต่ละเรื่องจนกระทั่งในขณะนี้บ้านสำโรงกลายเป็นชุมชนน่าอยู่ ชาวบ้านในชุมชนลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรลงมาได้จากเดิม จากที่เคยมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีสูงถึงปีละ 89,975 บาท ขณะนี้ลดการซื้อสารเคมีเหลือปีละ 15,485 บาท คิดเป็นร้อยละ 80
มีการกำหนดกติกาในเรื่องงานบุญประเพณีปลอดเหล้า ชาวบ้านที่ติดเหล้าก็ลดละเลิกเหล้าได้ ทั้งยังมีการจัดการขยะที่เป็นระบบ แต่ละบ้านช่วยกันแยกขยะและทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง และจัดการแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จากรายงานการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายพบค่า HI CI มีค่าน้อยกว่า 10 ส่งผลให้ตลอดทั้งปีมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเป็นศูนย์
ชาวบ้านในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากนี้สภาผู้นำชุมชนบ้านสำโรงยังมีโครงการ จะร่วมสร้างเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านอีกด้วย
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า เป้าหมายของการลงพื้นที่ใน จ.สุรินทร์ ก็เพื่อติดตามและรับฟังการดำเนินสร้างเสริมสุขภาพด้านต่างๆ ที่ชุมชนและภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ร่วมกับ สสส. ซึ่งพบว่ามีการดำเนินงานหลายส่วนที่เกิดผลเป็นรูปธรรม เป็นต้นแบบให้กับ พื้นที่อื่นๆ นำไปปรับใช้ และถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้ชาวบ้านตื่นตัว เช่น การเปลี่ยนค่านิยมจากงานบุญเปื้อนเหล้าให้เป็นงานบุญปลอดเหล้าในงานกาชาดสร้างสุข งานช้างปลอดภัย จ.สุรินทร์ ซึ่งการเปลี่ยนค่านิยมในงานประเพณีเป็นเรื่องที่ยากต้องอาศัยระยะเวลา และความต่อเนื่องในการทำงาน และปัจจุบันสามารถลดสถิติความรุนแรงและการกระทำผิดกฎหมายได้กว่าร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับปีก่อน
นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการบริหารจัดการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ในระดับอำเภอ ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ให้เป็นกลไกการทำงานที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ โดยมีต้นแบบการทำงานใน ศปถ.อำเภอจอมพระ ที่ไม่ได้ทำงานป้อง กันอุบัติเหตุเฉพาะในช่วงเทศกาล แต่เป็นเครือข่ายสำคัญในการทำงานตลอดทั้ง 365 วัน เพราะเป็นการทำงานที่ลงลึกในระดับตำบลและมีความร่วมมือกันระหว่างชุมชน
ข้อมูลปี 2554-2556 ในพื้นที่มีอุบัติเหตุ 411 ครั้ง เฉลี่ย 137 ครั้งต่อปี มีผู้เสียชีวิตรวม 14 ราย เฉลี่ย 4-5 รายต่อปี ภายหลังได้ทำงานร่วมกับ สสส. และ ศวปถ. ส่งผลให้การทำงานในพื้นที่ อ.ศรีณรงค์ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ได้แก่
1.มีการแก้ไขจุดเสี่ยง 12 จุดจากทั้งหมด 23 จุด อาทิ ปรับสภาพแวดล้อม ติดตั้งไฟส่องสว่าง/กระจก/ไฟกะพริบ ป้ายเตือน
2.สวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น โดยในกลุ่มผู้นำชุมชน/อสม. 100 เปอร์เซ็นต์ นักศึกษา/กศน. 88.9 เปอร์เซ็นต์ นักเรียนร้อยละ 73.8
3.ดื่มไม่ขับ งานเลี้ยงของส่วนงานราชการและงานศพ ปลอดเหล้าทุกงานทั้งอำเภอ
ด้าน ดร.ทพ.สุปรีดา กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การทำงานสร้างเสริมสุขภาพใน จ.สุรินทร์ ประกอบด้วยงานเชิงรุก เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุและการสร้างเสริมความปลอดภัย การลดการบริโภคแอลกอฮอล์ ยาสูบ สารเสพติดและพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ พร้อมกับส่งเสริมการออกกำลังกาย และงานเชิงรับหรือการเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ริเริ่มงานสร้างเสริมสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยการใช้ทุนและศักยภาพในชุมชน อันได้แก่ การจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดการขยะชุมชน และการสร้างชุมชนให้น่าอยู่ผ่านกลไกสภาผู้นำชุมชนเพื่อความยั่งยืนในการจัดการ
ในช่วง 3 ปี ระหว่างปี 2557-2559 มีโครงการ สร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ที่ยังคงขับเคลื่อน 274 โครงการ ส่งผลต่อการสร้างสุขภาวะในชุมชน 222 แห่ง สถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 79 แห่ง องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ 17 แห่ง สถานพยาบาล 8 แห่ง และสถานประกอบการ 2 แห่ง
ขณะนี้ที่ จ.สุรินทร์ เป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชน รวมถึงการจัดการด้านการจราจร ทำให้อุบัติเหตุลดลง พื้นที่อื่นๆ เองก็นำแนวทางนี้ไปใช้ได้ แม้การจัดการปัญหาต่างๆ อาจต้องใช้เวลาสักระยะ แต่เมื่อจัดการได้อย่างต่อเนื่องก็จะบรรลุเป้าหมาย ประชาชนมีสุขภาวะทางกายทางใจที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดั่งที่ควรจะมี