บ้านสันต้นแหน-บ้านน้ำโจ้ ‘พอเพียงบนขาของตนเอง’

ที่มา : เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา


ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา


บ้านสันต้นแหน-บ้านน้ำโจ้ 'พอเพียงบนขาของตนเอง' thaihealth


ชุมชนน่าอยู่ “บ้านสันต้นแหน –น้ำโจ้” จ.เชียงใหม่ พอเพียงบนขาของตนเอง


“..มะนาวต้นเดียว ปีนี้ขายใบละ 5 บาท ที่ผมจดๆ ไว้ได้หมื่นกับอีกหนึ่งร้อยกว่าบาท นี่ยังไม่นับรวมที่แจกให้กับชาวบ้านอีกนะ” พ่อบุญมี ไชยเทพ  อายุ 63 ปี บ้านสันต้นแหน ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พาเราลัดเลาะสวนบริเวณรั้วบ้านพูดคุยพลาง ชี้มือไป  “โน้นไงต้นแม่ ผมปลูกจากเมล็ด ซึ่งแม้ว่าจะใช้เวลานาน 4-5 ปีกว่าจะออกลูก แต่หลังจากนี้มันจะมีลูกเก่ง ทนด้วย


ถ้าต้นมะนาวที่ตอนลูกออกมาได้ไม่เท่านี้ พ่อบุญมีอธิบาย "ผมยังเพาะกล้าแจกให้ชาวบ้านไปปลูกอีก ซึ่งหากขายจะได้กล้าละ 100 บาท ส่วนนี่ก็มะนาวพันธุ์ไร้เมล็ด”


พ่อบุญมี เดินตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2539 เกือบ 20 ปีที่เขาเริ่มจากปลูกผักกิน เลี้ยงปลา ทำปุ๋ยใช้เอง “ผมมีแค่แบ่งปันไม่ได้มีขาย ชาวบ้านที่ฐานะไม่ดี ผมก็เอาไปแจก อย่างส้มโอ ต้นนี้ มี 300 กว่าลูก ผมใส่แค่ปุ๋ยหมัก”


ก่อนหน้านี้ คนบ้านสันต้นแหน ดั่งเดิมตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาตาย มีอาชีพทำโครงร่ม หรือในท้องถิ่นเรียกว่า โครงจ้อง ถือเป็นหมู่บ้านหลักที่ทำโครงร่มส่งบ้านบ่อสร้าง แหล่งผลิตร่มที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งน้อยคนจะรู้ ปัจจุบันเขาบอกว่า เริ่มมีงานแกะสลักเข้ามาในหมู่บ้าน ซึ่งก็จะมีการแจกจ่ายงานให้ชาวบ้านไปทำที่บ้านอีกทอดหนึ่ง เช่น แกะสลักโลงศพ ฝาโลง แหย่งไม้สัก เป็นต้น


บ้านสันต้นแหน-บ้านน้ำโจ้ 'พอเพียงบนขาของตนเอง' thaihealth


เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงหลังมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง พ่อบุญมี บอกว่า "พ่อใหญ่" สุภชัย ไชยเทพ  ผู้ใหญ่บ้านสันต้นแหน หัวหน้าโครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่บ้านสันต้นแหน ถือเป็นนักพัฒนา จากแต่ก่อนชาวบ้านขาดความสามัคคี มีอบายมุข มีการเล่นการพนัน ตั้งแต่พ่อใหญ่เป็นผู้นำก็เข้ามาสอนชาวบ้านอยู่อย่างพอเพียง นำแนวพระราชดำริมาปรับใช้ 


“พ่อหลวง  เป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่อายุ 30 ต้นๆ ทำงานคลุกคลีกับชาวบ้าน ทั้งที่เคยจะไปเป็นปลัดที่ขอนแก่น แต่ก็ไม่ยอมไปเพราะผูกพันกับชาวบ้าน” พ่อบุญมี เล่าอย่างภาคภูมิใจในตัวลูกชายนักพัฒนาและรักบ้านเกิด


ปัจจุบันเกียรติบัตรหลากหลายใบแทบไม่มีที่ติด เมื่อเราเข้าไปเยี่ยมชมผลสำเร็จที่สำนักงานของโครงการชุมชนน่าอยู่บ้านสันต้นแหน ปี 2544 บ้านสันต้นแหน หมู่ 3 ได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา และยังเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอันดับที่ 4 ระดับจังหวัด ในการประกวดของกรมการพัฒนาชุมชน มีกองทุนออมทรัพย์ ตั้งมาตั้งแต่ปี 2545 ให้ออมอย่างต่ำคนละ 50 บาท ณ วันนี้ มีวงเงินแล้วกว่า 1.5  ล้านบาท


“สุภชัย” เล่าถึงกองทุนออมทรัพย์บ้านสันต้นแหน นอกจากเป็นเงินออมแล้ว ทำให้หลายคนจากไม่มีเงินออมเลย วันนี้มีเงินสะสมไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นบาท และเงินตรงนี้ยังมีส่วนช่วยเหลือคนในชุมชนอีกด้วย เช่น  การขจัดหนี้นอกระบบ 


บ้านสันต้นแหน-บ้านน้ำโจ้ 'พอเพียงบนขาของตนเอง' thaihealth


“การขจัดหนี้นอกระบบให้หมดไปจากหมู่บ้านแห่งนี้ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ปัญหาเงินกู้นอกระบบ ชาวบ้านเคยกู้เงินมาใช้จนดอกทบต้น เช่น จากหนี้แค่ 3 พันบาท พอทบต้นทบดอกไปมาก็ขยับสูงถึง 1 แสนบาท  ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีกลุ่มทวงหนี้เข้า-ออกหมู่บ้านประจำ ผมต้องทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยลดหนี้ บางครั้งลูกหนี้ไม่มีจ่ายต้องนำเงินจากกองทุนเงินออมทรัพย์ของหมู่บ้านมาช่วยอีกทาง เมื่อชาวบ้านใช้หนี้นอกระบบ ปลดภาระได้แล้ว เขาก็จะมาทยอยชำระหนี้คืนกองทุน ซึ่งคิดดอกเบี้ยร้อยละ 6 บาทต่อปี” 


ส่วนชาวบ้านรายใดต้องการกู้เงินซื้อรถจักรยานยนต์เพื่อใช้ในการเดินทางไปทำงาน กู้เงินประกอบอาชีพ หรือซื้ออุปกรณ์การเรียนให้ลูกหลาน ทางคณะกรรมการกองทุนฯ จะมี “ร้านค้าลอยฟ้า” จ่ายเงินสดให้ร้านค้า และชาวบ้านก็มาเป็นลูกหนี้กองทุนแทน ไม่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่สูงมาก


นอกจากนี้ บ้านสันต้นแหน ถือเป็นบ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกผักกินเองลดรายจ่าย และแบ่งปันกันในชุมชน โดยเน้นแต่ละครัวเรือนไม่จำเป็นต้องปลูกทุกอย่าง ปลูกแค่ 1-2 ชนิด แต่เมื่อรวมกันหมู่บ้านนี้มีพืชผักที่หลากหลาย อีกทั้งยังมีการทำสวนครัวกลางทุกคนสามารถเก็บกินได้ โดยผู้นำชุมชนแห่งนี้ขอใช้พื้นที่โรงเรียนร้าง 1 ไร่ครึ่ง ทำแหล่งเรียนรู้ชุมชน และตลาดสีเขียว ไว้แลกเปลี่ยนสินค้าอีกด้วย


เช่นเดียวกับ บ้านน้ำโจ้ ตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ อีกชุมชนเล็กๆ ที่ประกอบอาชีพหลากหลาย ทั้งรับจ้าง รับราชการ และทำสวนลำไย


บ้านสันต้นแหน-บ้านน้ำโจ้ 'พอเพียงบนขาของตนเอง' thaihealth


“ศุภวิชญ์ ทองยอด” ผู้ใหญ่บ้านน้ำโจ้  เล่าถึงการคัดกรองสารพิษตกค้างในเลือดของลูกบ้าน พบว่า จากตัวอย่าง 14 คน 12 คนมีสารพิษตกค้างในเลือดระดับสูง และเสี่ยงอีก 2 คน เราจึงมานั่งคุยกัน เสนอโครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่กับ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.  เพื่อแก้ปัญหาสารพิษตกค้างในร่างกาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชกินเองในครัวเรือน แม้มีที่ดินแค่แปลงเล็กๆ ก็ทำได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายไปในตัว


“ทุกวันพุธ ชาวบ้านจะนำพืชผักปลอดสารพิษ มาจำหน่ายที่ตลาดนัดชุมชน เป็นรายได้เสริม และยังมีแปลงผักอินทรีย์รวมของหมู่บ้าน มีผู้สูงอายุมาร่วมกันปลูกผักเพื่อแบ่งกันในชุมชน” ผู้ใหญ่บ้านน้ำโจ้ ระบุ ก่อนเสริมว่า เดิมแปลงผักรวมของหมู่บ้านน้ำโจ้ เป็นที่ทำการของเทศบาล เมื่อมีการย้ายไปตั้งสำนักงานอีกแห่ง ที่ตรงนี้จึงว่างลง เขาเลยขอใช้ที่ดินทำเป็นแปลงรวม ทำเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรปลอดสาร


“ศุภวิชญ์” เล่าว่า  แรกๆ ชาวบ้านก็ไม่ได้สนใจ มองไม่เห็นประโยชน์ที่เขาจะได้รับ "แต่ผมมองเห็นตัวเลขสารเคมีตกค้างในร่างกาย 12 คนจาก 14 คน แล้วที่ยังไม่ได้มาตรวจอีกล่ะ อีกจำนวนเท่าไหร่ ก่อนหน้านี้ชาวบ้านที่มีอาชีพหลักปลูกผักขายมีแค่ 2 ครัวเรือน ผมก็เอากลุ่มที่สนใจก่อน มาเป็นแกนนำรวมตัวกันทำ  พอเห็นผลก็สามารถขยาย กระจายการปลูกพืชได้เกือบทุกครัวเรือน  พืชหลักๆ ที่ปลูก เช่น ข่า ตะไคร้ ขมิ้น และพวกผักพื้นบ้าน 


ส่วน “พ่อพลอย” วุฒิพงษ์ ไชยวุฒิ อดีตเจ้าหน้าที่ชลประทาน หนึ่งในเจ้าของบ้านครัวเรือนต้นแบบด้านเกษตรปลอดสารเคมี บอกว่า หลังเกษียณกลับมาอยู่บ้านเฉยๆ ทำทุกวิถีทางจะประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง โดยไม่ต้องซื้อ ทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ เป็นการลดต้นทุน ลดการเผากิ่งไม้ใบไม้ ขณะเดียวกันเศษไม้ขนาดใหญ่ก็เผาเป็นถ่านไว้ใช้เอง ลดการใช้ก๊าซหุงต้มจากเดือนละ 1 ถัง เป็น 2 เดือน 1 ถัง ประหยัดไปได้อีกทางหนึ่ง 


การได้เดินสำรวจไปรอบๆ หมู่บ้านน้ำโจ้ เริ่มเห็นแล้วว่า ชาวสวนหลายคนเริ่มทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพไว้ใช้ในสวนลำไยของตัวเอง บางครอบครัวไม่มีที่ดินปลูกผัก ก็หันมาปลูกในตระกร้า กะลังมัง วางหรือแขวนมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน เพราะทุกคน ตระหนักดีว่า สังคมยุคบริโภคนิยม การเดินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้นที่จะช่วยให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปอย่างปกติสุข


และสอดคล้องกับพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2539 ที่ว่า “…การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตนเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง ความพอเพียงนี้ ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่า ในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก…”

Shares:
QR Code :
QR Code